มกอช. เปิดอบรมออนไลน์ เตรียมความพร้อมผู้ตรวจประเมินสำหรับอาจารย์ผู้สอน (Train Of The Trainer) ขับคลื่อนนโยบายถ่ายโอนภารกิจด้านการตรวจสอบรับรองของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เมื่อวันที่ 23 เม.ย. นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การเตรียมความพร้อมผู้ตรวจประเมินสำหรับอาจารย์ผู้สอน (Train Of The Trainer) ครั้งที่ 1 ในรูปแบบออนไลน์ (Online) เพื่อสร้างองค์ความรู้และเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านการตรวจประเมินและรับรองตามมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agriculture Practices : GAP) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organics) สำหรับอาจารย์ผู้สอน (Train Of the Trainer) ให้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้เป็นแนวทางในการถ่ายทอดและสื่อสารให้กับนักศึกษาได้ต่อไป โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จำนวน 70 ราย เข้าร่วมอบรม ณ ห้องประชุม 511 อาคาร 5 มกอช.
นายพิศาล กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 มกอช. ได้จัดให้มีพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการพัฒนาหลักสูตรผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือนี้จะเป็นการร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการอบรม เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการตรวจประเมินและรับรองตามมาตรฐานสินค้าเกษตรให้กับอาจารย์ผู้สอน
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาหลักสูตรผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ในระดับมหาวิทยาลัย นับเป็นอีกก้าวสำคัญของการขับคลื่อนนโยบายการถ่ายโอนภารกิจด้านการตรวจสอบรับรองของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยในหลักสูตรจะมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ หลักเกณฑ์การปฏิบัติตามมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agriculture Practices : GAP) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organics) รวมถึงทักษะการตรวจประเมินตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้อบรมมีศักยภาพพร้อมก้าวไปสู่อาชีพผู้ตรวจประเมินได้ อย่างไรก็ตาม การก้าวสู่การเป็นผู้ตรวจประเมินนั้น ต้องใช้เวลาในการเตรียมตัว ทั้งทักษะ ความรู้เฉพาะด้าน รวมถึงการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการตรวจเพิ่มเติมให้ครบถ้วน เป็นไปตามคุณสมบัติที่หน่วยงานรับรองมาตรฐานต้องการด้วย
“มกอช. คาดหวังว่าอาจารย์จากมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จะนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ ถ่ายทอด และเป็นกำลังสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายที่สำคัญของประเทศ รวมถึงผลักดันให้มาตรฐานสินค้าเกษตรของประเทศไทยก้าวไปอย่างมั่นคง” เลขาธิการ มกอช. กล่าว