ร่วมสมัย/ชะมวง พฤกษาถิ่น : ระหว่างรอ 2 ทับหลังปราสาทหนองหงส์และเขาโล้น สหรัฐอเมริกานำส่งคืนประเทศไทยเดือนพฤษภาคมนี้ ชวนไปชมประติมากรรมพระโพธิสัตว์สำริดศิลปกรรมเขมร พลางๆ กันไปก่อน
สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร จัดนิทรรศการพิเศษเรื่อง “อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี – ศรีรามเทพนคร” นำเสนอความรู้ที่เน้นอิทธิพลของศิลปะลพบุรี (เขมรในประเทศไทย) ที่ส่งผลต่อบ้านเมืองไทยในสมัยต่อมาโดยเฉพาะศิลปะอยุธยาและยังคงตกทอดมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
นิทรรศการได้เลือกนำโบราณวัตถุชิ้นสำคัญมาจัดแสดง คือ ชิ้นส่วนประติมากรรมพระโพธิสัตว์สำริดจากบ้านโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา เป็นประติมากรรมที่จัดอยู่ในกลุ่มประโคนชัย (ศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลเขมรพบมากบริเวณที่ราบสูงโคราช) โดยการประกอบชิ้นส่วนประติมากรรมที่พบมาติดตั้งบนหุ่นจำลองขนาดเท่าจริงตามรูปแบบการสันนิษฐาน และการบูรณาการทางด้านวิชาการระหว่างนักวิชาการหลายแขนง ทั้งภัณฑารักษ์ นักวิทยาศาสตร์ นายช่างศิลปกรรม นักวิชาการช่างศิลป์ เป็นการนำเสนอความรู้เกี่ยวกับรูปแบบของศิลปกรรมในพื้นที่ราบสูงโคราช ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผลการศึกษาในการจัดทำข้อมูลเพื่อการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ที่ได้เริ่มอย่างเป็นทางการปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา หนึ่งในภารกิจนั้นคือการติดตามทวงคืนประติมากรรมในกลุ่มประโคนชัย จำนวน 18 รายการ จากพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกา The Mettropolitan Museum of Art, Asian Art Museum, Norton Simon Museum, Kimbell Art Museum, The Asia Society Gallies, The Denver of Art Museum และ Philadelphia Museum of Art
ประกอบกับในอาคารมหาสุรสิงหนาทอยู่ระหว่างปรับปรุงการจัดแสดง ทำให้โบราณวัตถุศิลปะลพบุรีถูกจัดเก็บไม่สามารถให้คนเข้าชมได้ แต่มักมีนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ และผู้สนใจแสดงความประสงค์ที่จะเข้าชมโบราณวัตถุเหล่านั้นอยู่เสมอ ทางสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจึงนำโบราณวัตถุดังกล่าวมาจัดนิทรรศการหมุนเวียนให้ได้ชม ศึกษาหาความรู้ได้อย่างกว้างขวางและครอบคลุมยิ่งขึ้น
นิทรรศการพิเศษ “อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี – ศรีรามเทพนคร” เปิดให้เข้าชมถึง 30 มิถุนายน 2564 (ปิดจันทร์ - อังคาร) เวลา 09.00 – 16.00 น. ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร