รายงาน: สัปดาห์นี้ไปรู้จักครูช่างหัตถศิลป์ “จักรกริศษ์ สุขสวัสดิ์” ครูภูมิปัญญาไทยด้านศิลปกรรม หนึ่งในผู้สืบสานงานลงรักประดับมุก และประดิษฐ์ออกแบบช่อไม้จันทน์ใช้ในพิธีประชุมเพลิง กล่าวการลงรักประดับมุก เป็นงานประณีตศิลป์หนึ่งในงานเครื่องรักของไทยที่แสดงออกถึงความ ประณีตอ่อนช้อยในงานศิลปหัตถกรรม โดยตามประเพณีนิยมงานประดับมุก มักใช้กับงานที่เกี่ยวเนื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ และศาสนาเป็นส่วนใหญ่ ปรากฏอยู่บนเครื่องราชูปโภค เครื่องใช้ไม้สอย ตลอดจนภาชนะที่ใช้ในพระราชพิธี ภาชนะบรรจุอาหารถวายพระสงฆ์ในพระอารามหลวง สมัยโบราณถือเป็นของสูงศักดิ์ นับเป็นงานหัตถศิลป์ทรงคุณค่าที่ใกล้สูญหาย มีช่างผู้เชี่ยวชาญและหาผู้มีใจรักสืบทอดความรู้ช่างสาขานี้ได้น้อยในปัจจุบัน ด้วยที่งานลงรักประดับมุกมีความประณีต ช่างฝีมือไทยตั้งแต่สมัยโบราณที่บ่มเพาะภูมิปัญญา ทั้งการผูกลาย การถมลาย และการฉลุลาย จึงต้องใช้ความพิถีพิถันละเอียดลออในทุกขั้นตอน “จักรกริศษ์ สุขสวัสดิ์” ครูภูมิปัญญาไทยด้านศิลปกรรม รุ่นที่ 4 ได้รับการเชิดชูเกียรติจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ปี พ.ศ. 2548 ผู้มีทักษะและภูมิปัญญาด้านงานประดับมุก และปี 2558 ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นครูช่างศิลปหัตถกรรมด้านการลงรักประดับมุก จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การ มหาชน) หรือ SACICT เช่นกัน ครูช่างจักรกริศษ์ บอกเล่าความสนใจงานเครื่องมุก “ผมสนใจศึกษางานด้านเครื่องมุกเป็นพิเศษ และได้ใช้พื้นฐานทางด้านศิลปะจากสถานศึกษาที่เคยศึกษามาฝึกฝน พัฒนาจนเกิดทักษะมีความรู้ ความเข้าใจ ผนวกกับใจรักและชื่นชอบงานด้านหัตถศิลป์ไทยโบราณเป็นพิเศษ มีโอกาสเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดหลวง พระอารามหลวง ผลงานโบราณอันวิจิตรเหล่านี้ทำให้ผมเกิดความประทับใจ โดยเฉพาะงานประเภทเครื่องประดับมุก มองครั้งใดก็ทำให้รู้สึกว่าเป็นงานอันทรงคุณค่า ที่สำคัญผมมองว่างานลงรักประดับมุก เป็นงานที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของชาติไทยที่มีมาแต่โบราณ จัดเป็นงานประณีตศิลป์ชั้นสูงที่หาประเทศใดในโลกเทียบไม่ได้ โดยเฉพาะกระบวนการทำที่มีขั้นตอนซับซ้อน ผู้รับการถ่ายทอดจึงต้องมีใจรัก ต้องมีความมานะอดทนอย่างสูงจึงจะทำประเภทนี้ได้สำเร็จ” นอกจากผลงานลงรักประดับมุกแล้วยังมีผลงาน เจียด ลุ้ง พาน โต๊ะหมู่บูชา ล่าสุดได้ประดิษฐ์และออกแบบ “ช่อไม้จันทน์” เพื่อใช้ในงานประชุมเพลิงภริยาของ พล.ท.จูมมะลี ไซยะสอน อดีตประธานสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่เกิดโศกนาฏกรรมเรือนำเที่ยวคณะครอบครัวเจอพายุล่มกลางอ่างน้ำงึม เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยอธิบายประดิษฐ์ช่อไม้จันทน์นี้ว่า ได้แรงบันดาลใจมาจากดอกสุมนทา ดอกไม้ตามคติธรรมล้านช้าง หมายถึงดอกไม้ในแดนนิพพาน ที่ปรากฏอยู่ในภาพจิตรกรรมอุโบสถ วิหาร สปป.ลาว เทคนิคที่ใช้คือนำแบบลายเส้นที่ได้มาเป็นแบบในการฉลุ โดยใช้ไม้จันทน์หอมที่ส่งตรงมาจากหลวงพระบาง มีความหนา 3 มิลลิเมตร และ 4 มิลลิเมตร มาฉลุลาย (ด้วยโครงเลื่อยฉลุ) ซ้อนลาย หรือที่เรียกว่าลายซ้อนไม้ ผสมการขัดตกแต่งด้วยกระดาษทราย โดยขัดตกแต่งลายกลีบ ก้าน ช่อดอก ใบ จากนั้นจึงนำมาประกอบเป็นช่อลาย “การออกแบบช่อดอกไม้จันทน์ที่ผ่านมา เพื่อใช้ในงานพิธีถวายเพลิงพระอริยสงฆ์ของไทย ซึ่งจะถูกเผาไปพร้อมสรีระสังขารหมดแล้ว ในส่วนงานที่สปป.ลาว ในครั้งนี้ทำไป 2 ช่อ ตั้งใจทำจากหัวใจ ไม่ได้คิดค่าประดิษฐ์ใดๆ เป็นการปิดทองหลังพระจากแรงศรัทธา เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีไทย – ลาว ผ่านงานหัตถศิลป์โดยช่างชาวไทย” ครูช่างจักรกริศษ์ กล่าวภาคภูมิใจ