วันนี้ (22 เม.ย.2564) ที่อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (แซทเทิลไลท์: SAT 1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายงานวิศวกรรม และการก่อสร้าง บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือทอท.พร้อมด้วยนายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ บมจ. อินเตอร์ลิงค์คอมมิวนิเคชั่น หรือ ILINK นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชม และทดสอบการเดินรถไฟฟ้าไร้คนขับ (Automated People Mover : APM) รุ่น Airval เชื่อม 2 อาคารของทสภ.ระหว่างอาคารผู้โดยสารหลักหลังปัจจุบัน และอาคาร SAT 1ระยะทางประมาณ 1กิโลเมตร ต่อเที่ยว ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ขับเคลื่อนตัวรถโดยใช้ความเร็วในการขับเคลื่อนประมาณ 40 กม.ต่อชั่วโมง นายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ ILINK เผยว่า เป็นการเดินรถครั้งแรกของประเทศไทย ที่หลังจากนี้จะมีรถไฟฟ้าไร้คนขับให้บริการภายในสนามบินทัดเทียมกับนานาประเทศ เดิมมีแผนจะจัดงานให้ยิ่งใหญ่ แต่เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้ต้องจัดงานกะทัดรัด มีผู้เข้าร่วมงานไม่เกิน 50 คน ตามข้อกำหนดของรัฐบาล อย่างไรก็ตามภาพรวมของงานรถไฟฟ้าไร้คนขับมีความคืบหน้ากว่า 80%หลังจากนี้จะทดสอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเสถียร ปลอดภัยแม่นยำ และตรงต่อเวลา ก่อนจะส่งมอบให้แก่ ทอท.เพื่อนำไปใช้ในการให้บริการผู้โดยสารต่อไป นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายงานวิศวกรรม และการก่อสร้าง ทอท. กล่าวว่า การเดินรถยังเป็นการทดสอบทางกลศาสตร์(Dynamic Test)ที่ต้องใช้พนักงานเป็นผู้ควบคุม แต่รถจะขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าหลังจากนี้จะติดตั้งระบบควบคุมการเดินรถอัตโนมัติ และทำการทดสอบเดินรถเสมือนจริงก่อนเปิดให้บริการในวันที่ 1 ต.ค.65 ทั้งนี้ APMสามารถใช้ความเร็วสูงสุด 80 กม./ชม. แต่ในการให้บริการจะใช้ความเร็วประมาณ 40กม./ชม.เพื่อความปลอดภัยสำหรับ APM ให้บริการ 2 สถานีคือสถานี SAT1 ให้บริการอยู่ที่ชั้น B2 ซึ่งเป็นชั้นใต้ดินบริเวณเกต S114 -S115 และสถานีอาคารผู้โดยสารหลักอยู่ชั้น B2 คอนคอร์ดD นายกีรติ กล่าวต่อว่า การทดสอบเดินรถครั้งนี้เป็นที่น่าพอใจ ไม่พบปัญหาใด ๆ โดยได้ทดลองเดินรถทั้งความเร็ว 10 กม./ชม.และ 40 กม./ชม.การเดินรถค่อนข้างนิ่งใช้เวลาจากอาคาร SAT1 ไปอาคารหลักประมาณ 2 นาที อย่างไรก็ตามเมื่อเปิดให้บริการจริงผู้โดยสารจะได้รับความสะดวกสบาย และมีความปลอดภัยซึ่งไม่ต้องกังวลแม้รถจะให้บริการอยู่ภายในอุโมงค์หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินได้เตรียมแผนรับมือไว้ทั้งหมดแล้ว โดยได้ทำทางเดินฉุกเฉินให้ผู้โดยสารสามารถเดินตามอุโมงค์มายังภายนอกได้รวมทั้งภายในอุโมงค์มีระบบพัดลมระบายอากาศด้วย ทั้งนี้รถไฟฟ้าไร้คนขับ จะมีทั้งหมด 6 ขบวน ขบวนละ 2 ตู้บรรจุผู้โดยสารได้ 210 คนต่อขบวนขนส่งผู้โดยสารได้ 6 พันคน/ชม.