“ศูนย์พยากรณ์ศก. ม.หอการค้า” คาดโควิดรอบใหม่กด GDP ปีนี้โตเพียง1.6% จากที่คาด 2.8% นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ประเมินว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 รอบที่ 3 นี้ มีผลทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการของทั้งประเทศ หายไปราว 1 แสนล้านบาท/เดือน แยกเป็น โซนสีแดง-พื้นที่ควบคุมสูงสุด (18 จังหวัด) หายไปราว 8.4 หมื่นล้านบาท/เดือน และโซนสีส้ม-พื้นที่ควบคุม (59 จังหวัด) หายไปราว 1.57 หมื่นล้านบาท/เดือน และมีผลให้ความต้องการใช้แรงงานในทุกภาคทั่วประเทศ ลดลงราว 1.48 แสนคน/เดือน อย่างไรก็ดี ม.หอการค้าไทย จะยังไม่ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยจากเดิมที่คาดไว้ 2.8% ในปีนี้ เพราะเชื่อว่ารัฐบาลจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อชดเชยผลกระทบจากโควิดราว 2-3 แสนล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือกระตุ้นกำลังซื้อประชาชน ซึ่งเศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานที่จะโตได้ 2.5-3% อยู่แล้ว แต่หากรัฐบาลไม่ดำเนินการอะไร เศรษฐกิจไทยก็มีโอกาสจะย่อลงเหลือ 1.6% สำหรับแนวทางที่รัฐบาลจะเพิ่มการเติบโตของการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปีนี้ให้อยู่ที่ระดับ 2.8% สามารถทำได้จากการเพิ่มมูลค่าการอุปโภคบริโภคของภาครัฐ โดยจัดทำโครงการที่มุ่งเน้นการจ้างงานชั่วคราวโดยหน่วยงานภาครัฐ และโครงการที่เน้นการฟื้นการจ้างงานประจำในธุรกิจเอกชน, การเพิ่มมูลค่าการลงทุนของภาครัฐ โดยจัดทำโครงการลงทุนขนาดเล็กในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบภัยแล้ง, การเพิ่มการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน ด้วยการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ผ่านโครงการช็อปช่วยชาติพลัส โครงการบ้านหลังแรกปี 64 โครงการรถยนต์ไฟฟ้าคันแรก หรือโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ตลอดจนการกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศ เป็นต้น “ศูนย์พยากรณ์ฯประเมิน GDP ของไทยปี 64 จะโตได้ 1.6% จากเดิมที่เคยคาดไว้ 2.8% เนื่องจากจากผลกระทบการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ ซึ่งทำให้มียอดผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และรัฐบาลได้ยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเหลือเพียง 2.8 ล้านคนเท่านั้น จากเดิมคาด 4 ล้านคน” ส่วนการเพิ่มมูลค่าการลงทุนของภาคเอกชน เช่น เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อจูงใจนักลงทุนที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ไปแล้ว ให้เร่งให้เกิดการลงทุนจริงเร็วขึ้น, การเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ โดยเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อเร่งส่งออกสินค้าเกษตรในรูปแบบ G to G ให้มากขึ้น ปรับแผนเจาะตลาดส่งออกเป็นเชิงรุก เน้นตลาดที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากโควิด และสุดท้ายคือการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งต้องเร่งกระบวนการกระจายวัคซีนในประเทศให้เร็วกว่าแผนเดิม เพื่อสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นถึงความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้าประเทศไทย เป็นต้น นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า ในขณะที่ภาคบริการ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่ยังไม่สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศได้ในช่วงนี้ จึงอยากเสนอให้ภาครัฐดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับ 31 บาท/ดอลลาร์ เพื่อเป็นแรงหนุนให้กับภาคการส่งออกของไทยได้ช่วยชดเชยเศรษฐกิจของประเทศ ที่รายได้หดหายไปจากการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบโควิดระบาด ขณะเดียวกัน สนับสนุนการใช้มาตรการ "ภูเก็ต Sandbox" ซึ่งจะเป็นสัญญาณในการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งจากภูมิประเทศของภูเก็ตที่เป็นเกาะ ทำให้มีความสามารถในการควบคุมการระบาดได้ง่ายกว่า ประกอบกับแผนการฉีดวัคซีนต้านโควิดให้แก่ประชาชนในพื้นที่ภูเก็ตให้ได้อย่างน้อย 50% ในเดือนมิ.ย.นี้ ก็จะยิ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาไทย โดยเฉพาะในภูเก็ตได้เป็นอย่างดี ดังเช่นสถานการณ์การท่องเที่ยวของเกาะมัลดีฟ ที่ขณะนี้การท่องเที่ยวกลับมาสู่ภาวะปกติแล้ว ด้านนายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังกล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นของสมาชิกหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ถึงผลกระทบทางธุรกิจและเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรอบที่ 3 โดยพบว่า ส่วนใหญ่เกือบ 60% มองว่าธุรกิจในจังหวัดได้รับผลกระทบมากจากโควิดรอบสาม และหากเทียบการเกิดโควิดในรอบ 1, 2 และ 3 แล้ว ส่วนใหญ่ตอบว่าโควิดรอบ 3 สร้างผลกระทบมากที่สุด เพราะแม้รอบที่ 3 นี้จะไม่ได้มีการล็อกดาวน์ประเทศ หรือมีคำสั่งเคอร์ฟิวเหมือนรอบแรกก็ตาม แต่ผลกระทบของธุรกิจที่ได้รับถูกซ้ำเติมต่อเนื่องกันมาตั้งแต่รอบแรก รอบที่สอง และยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ ทั้งนี้ สมาชิกหอการค้าจังหวัดส่วนใหญ่ คาดว่า รัฐบาลจะสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิดรอบ 3 นี้ได้ในช่วง 2 เดือน หรือหมายถึงสถานการณ์จะคลี่คลายได้ในเดือนมิ.ย.64 โดยมองว่ากว่าที่ธุรกิจจะกลับมาสู่ภาวะปกติได้ น่าจะต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปีนับจากนี้ ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดจะกลับมาสู่ภาวะปกติได้ในอีก 15 เดือน ไม่ว่าจะเป็นแง่ของการบริโภค การใช้จ่าย และการลงทุน สำหรับสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการให้รัฐบาลรีบดำเนินการหรือช่วยเหลือผู้ประกอบการมากที่สุด คือ อันดับแรก สนับสนุนมาตรการทางการเงิน เช่น สภาพคล่อง การเข้าถึงแหล่งทุน การพักชำระหนี้ อันดับสอง ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจัดหาวัคซีนร่วมกับภาคเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพ และอันดับสาม หามาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดภายใต้ความเหมาะสม