นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ฟื้นฟูการเงินภาคครัวเรือนไทย ภารกิจร่วมใจสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงิน” ภายในงานพิธีเปิดโครงการ “Happy Money สุขเงิน สร้างได้ พลังความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงินสำหรับคนไทย” ที่จัดขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า สถานการณ์ด้านการเงินของคนไทยมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญอย่างใกล้ชิด 4 ประเด็นคือ 1.หนี้ครัวเรือนไทย ในไตรมาสที่ 3/2562 มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 78.9 ของจีดีพีซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ แต่เมื่อได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนขยับไปอยู่ที่ร้อยละ 86.6 ในไตรมาสที่ 3/2563 สะท้อนถึงความเปราะบางของสถานะทางการเงินของคนไทย เมื่อต้องเผชิญกับภาวะวิกฤต 2.ไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะสูงวัยอย่างสมบูรณ์ คาดภายในปี 2566 จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่สัดส่วนผู้สูงอายุของไทย ณ สิ้นปี 2563 พบว่ามีจำนวน 11.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.6 ของประชากรทั้งประเทศ การดูแลสังคมผู้สูงอายุอย่างเหมาะสมจึงต้องเตรียมพร้อมให้คนไทยมีการออมเงินตั้งแต่วัยทำงานเพื่อมีใช้จ่ายในวัยเกษียณ ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจในปี 2560 ผู้สูงอายุร้อยละ 34.7 ยังต้องพึ่งพารายได้หลักจากบุตรหลาน และร้อยละ 31 ยังต้องทำงานเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตนเอง มีเพียงร้อยละ 2.3 เท่านั้นที่พึ่งพาตนเองได้จากรายได้รายได้ของเงินออม สะท้อนว่าคนไทยอาจมีภาวะความเสี่ยงเกษียณทุกข์ได้ในอนาคต 3.ผลการสำรวจการออมภาคครัวเรือนไทย ในไตรมาส 3/2561 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ครัวเรือนที่ไม่มีเงินออมมีถึง 5.8 ล้านครัวเรือนไทย หรือคิดเป็นร้อยละ 27.1 ของจำนวนครัวเรือนทั้งประเทศ และครัวเรือนที่มีการออม มี 15.7 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 72.9 ของจำนวนครัวเรือนทั้งประเทศ โดยพฤติกรรมการออมของคนไทยส่วนใหญ่ “ใช้ก่อนออม” ถึงร้อยละ 38.9 รองลงมาคือ “ออมไม่แน่นอน” ร้อยละ 38.5 และ “ออมก่อนใช้” เพียงร้อยละ 28.6 4.ทักษะการออมของคนไทยอยู่ในระดับต่ำ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งเป็นการสำรวจตามแนวทางของความร่วมมือขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี พบว่า คะแนนความรู้ด้านเงินของคนไทยต่ำมากกว่าอื่น และตำกว่าประเทศอื่นที่ทำการสำรวจ ซึ่งเป็นการสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในเชิงโครงสร้างและปัจเจกบุคคล ซึ่งการแก้ไขปัญหาต้องทำอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ.2560-2564 ได้วางแนวทางยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศด้วยการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยการเสริมสร้างศักยภาพชุมชน การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและการสร้างความเข้มทางการเงินฐานราก เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ขณะที่กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ได้ระบุถึงสังคมแห่งการสร้างโอกาสและความเสมอภาคไว้เป็น 1 ในภารกิจของการพัฒนาที่ต้องให้ความสำคัญ เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเป้าลดความเหลื่อมล้ำและกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจ ลดความยากจนข้ามรุ่น เพื่อให้ประชาชนสามารถขยับฐานะ และได้รับการคุ้มครองทางสังคมอย่างเหมาะสม สำหรับแนวทางในการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนในอนาคต จะต้องให้ความสำคัญใน 5 เรื่องคือ 1.การสร้างโครงสร้างและกลไกเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 หรือ Ecosytem ตลาดเงินตลาดทุน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินฟินเทค การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างปลอดภัย และการกำกับดูแลให้ระบบการเงินและตลาดทุนมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ 2.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้มีทักษะที่จำเป็นต่างๆ ให้เป็นพื้นฐานต่อยอดความรู้และโอกาส เพื่อให้สามารถดูแลรับผิดชอบตนเองได้ เช่น การเพิ่มพูนความรู้ทางการเงิน การออม เพื่อให้เกิดความเข้าใจและมีทักษะที่เพียงพอในการจัดการการจัดเงินส่วนบุคคล 3.การเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเร่งให้เกิดการปรับตัวของประชาชนในเกือบทุกด้านเช่น ปรับตัวในด้านการใช้ชีวิต การทำงาน และเศรษฐกิจ และต้องตระหนักรู้ถึงการเตรียมความสำคัญในการบริหารจัดการความเสี่ยงในชีวิต จากเหตุการณ์ไม่คาดคิด โดยพื้นฐานการเตรียมการเรื่องการลดความเสี่ยงคือ การวางแผนที่ดีและข้อมูลความรู้ที่เพียงพอ เพื่อบริหารจัดการเงินให้มีความพร้อมที่จะรับกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้ 4.การเร่งฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน ต้องให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในเชิงบวกต่อเรื่องการเงินและการออม เพื่อให้เกิดผลจริง สามารถตอบโจทย์ในการเสริมสร้างศักยภาพของคนไทยให้สามารถดูแลตนเองได้อย่างยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจ 5.ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายระดับทั้งภาครัฐและเอกชน ในด้านการให้ความรู้ด้านการเงิน ซึ่ง ตลท. ร่วมกับพันธมิตร ได้พัฒนาเนื้อหาและทักษะด้านการเงินการลงทุนอย่างอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นประโยชน์ได้ในวงกว้าง จะช่วยยกระดับความรู้ การจัดการการเงินคนไทยได้อย่างเหมาะสม