ศบค. แถลงยอดผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ยังพุ่ง 1,470 ราย ติดเชื้อภายในประเทศทั้งหมด น่าเศร้าเสียชีวิตเพิ่ม 7 ราย เชื่อมโยงจากสถานบันเทิงส่วนใหญ่ เตือนระวังนำเชื้อจากข้างนอกไปติดคนในบ้าน เมื่อวันที่ 22 เม.ย. เวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,470 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศทั้งหมด ไม่มีผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ โดยเป็นผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 100 ราย และเป็นผู้ป่วยในระบบบริการและสอบสวนโรค 1,370 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 48,113 ราย หายป่วยแล้ว 29,848 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 7 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 117 ราย สำหรับรายละเอียดของผู้เสียชีวิดังนี้ รายที่ 111 หญิงไทย อายุ 24 ปี อาชีพค้าขาย อยู่ที่จังหวัดพัทลุง มีโรคประจำตัว โรคอ้วน มีประวัติไปสถานบันเทิง เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ซึ่งสถานบันเทิงแห่งนั้นมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากนั้นวันที่ 16 เม.ย. ไปตรวจหาเชื้อ เริ่มมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ วันที่ 17 เม.ย. ผลตรวจพบเชื้อและมีปอดอักเสบ หายใจเหนื่อย วันที่ 19 เม.ย.ออกซิเจนในเลือดต่ำลง มีภาวะปอดอักเสบรุนแรง และเสียชีวิตในวันที่ 20 เม.ย. รายที่ 112 หญิงไทย อายุ 68 ปี อาชีพดูแลเด็ก อยู่ที่จังหวัดสระบุรี มีโรคประจำตัวภูมิแพ้ มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า เมื่อวันที่ 5 เม.ย. วันที่ 12 เม.ย.64 เริ่มมีอาการไข้ ไอ วันที่ 19 เม.ย. เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล มีอาการหายใจลำบาก มีเสมหะ ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และระบบหายใจล้มเหลว ผลตรวจพบเชื้อและเสียชีวิตในวันที่ 20 เม.ย. รายที่ 113 ชายไทย อายุ 83 ปี อยู่ กทม. มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง วันที่ 17 มี.ค. มีไข้สูง ไอแห้ง มีน้ำมูก อ่อนเพลีย วันที่ 22 มี.ค. ไปรักษาที่คลินิกเอกชน วันที่ 23 มี.ค ไปรับการตรวจคัดกรองเชิงรุกจากหน่วยรถพระราชทาน ทราบผลตรวจวันรุ่งขึ้นว่าติดเชื้อ วันที่ 25 เม.ย. เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล วันที่ 31 มี.ค. เหนื่อยมากขึ้น ใส่ท่อช่วยหายใจ ต่อมาอาการทรุดลงและเสียชีวิตวันที่ 20 เม.ย. รายที่ 114 หญิงไทย อายุ 80 ปี เป็นผู้ป่วยติดเตียง อยู่จังหวัดนครปฐม มีโรคประจำตัวเบาหวาน เมื่อวันที่ 13-15 เม.ย. ญาติเดินทางจาก กทม.มาเยี่ยม วันที่ 16 เม.ย. อาเจียนเป็นเลือด ญาตินำส่งโรงพยาบาล ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ต่อมาอาการไม่ดีขึ้น และเสียชีวิตในวันที่ 17 เม.ย. รายที่ 115 ชายไทย อายุ 45 ปี อาชีพพนักงานขับรถ อยู่ กทม. มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า วันที่ 9 เม.ย. มีไข้ ไอ เหนื่อย วันที่ 17 เม.ย. ไข้สูง 40 องศา ไอ มีเสมหะ หนาวสั่น กินได้น้อยลง จึงไปตรวจที่โรงพยาบาลและรับยากลับบ้าน วันที่ 19 เม.ย. เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการหายใจเหนื่อย ตรวจหาเชื้อพบว่าติดเชื้อ มีปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตในวันที่ 20 เม.ย. รายที่ 116 ชายไทย อายุ 59 ปี อาชีพพนักงานรัฐวิสาหกิจ อยู่ กทม. มีโรคประจำตัวเบาหวาน มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า วันที่ 14 เม.ย. มีอาการไอ วันที่ 20 เม.ย.64 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ด้วยอาการไอ หายใจลำบาก ใส่ท่อช่วยหายใจ ผลตรวจพบเชื้อและเสียชีวิตในวันเดียวกัน รายที่ 117 ชายไทย อายุ 86 ปี อาชีพรับจ้าง อยู่ กทม. มีโรคประจำตัวเป็นโรคหัวใจ มีประวัติสัมผัสผุ้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า เมื่อวันที่ 5 เม.ย. วันที่ 16 เม.ย. ผลตรวจพบเชื้อ ไอแห้ง อ่อนเพลีย วันที่ 18 เม.ย. เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล วันที่ 20 เม.ย. มีอาการเหนื่อยหอบ ไข้สูง ค่าออกซิเจนในเลือดต่ำ อาการแย่ลง และเสียชีวิตในวันที่ 21 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก มีการวิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากการระบาดทั้ง 3 ระลอก พบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ มีประวัติติดเชื้อเชื่อมโยงจากสถานบันเทิง รองลงมาคือ แหล่งชุมชน ตลาด และการติดเชื้อในครอบครัว กลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ยังเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุด แม้ว่าการระบาดรอบหลังๆ จะมีผู้ป่วยที่อายุน้อยเสียชีวิตเพิ่มเติม และที่สำคัญคือ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ จะมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต จึงเป็นบทเรียนให้เพิ่มความระมัดระวัง โดยเฉพาะการนำเชื้อจากข้างนอกไปติดคนในบ้าน