แม้ว่าจะอยู่ในช่วงสถานการณ์ที่เลวร้ายกับการแพร่เชื้อของโควิด-19 แต่ทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ก็ยังเดินหน้าทำงาน ก่อนจะประกาศลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นพื้นที่พิเศษในช่วงสิ้นปี 2564 นี้ ด้วยการยกทีมลงพื้นที่เปิดเวทีแจงร่างแผนการดำเนินโครงการฯ พร้อมรับฟังความเห็นจากทั้ง 3 จังหวัด สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช โดยมีภาคีสนับสนุนการดำเนินงานกับวิถีและทรัพยากรที่เป็นอัตลักษณ์ พัฒนาคนและพื้นที่ สู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนา ทั้งนี้ นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการศึกษาศักยภาพและจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยมีพลเอก ภาณุวัชร นาควงษม์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว ว่า เป็นการจัดประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจในบทบาทและอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ และบทบาทและภารกิจของ อพท. เพราะการจะประกาศพื้นที่พิเศษในที่ใดก็ตาม อพท. ต้องอาศัยการผนึกกำลัง และความร่วมมือจากภาคีทุกภาคส่วนที่จะขับเคลื่อนการทำงานให้บรรลุผลสำเร็จ และยังเป็นเวทีที่จะได้รับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งมาจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาทั้ง 3 จังหวัด ประกอบด้วย สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช ซึ่งในการประชุมดังกล่าว ทางอพท. ได้นำเสนอ ร่างแผนการดำเนินโครงการศึกษาศักยภาพและจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ประกอบด้วยวัตถุประสงค์ ขอบเขตพื้นที่และขอบเขตการดำเนินการของโครงการ รวมทั้งการศึกษาทรัพยากรทางการท่องเที่ยวของพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และ ร่างแนวทางการสร้างการรับรู้ของโครงการฯ ผ่านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ทั้งในพื้นที่และในวงกว้าง ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น ผ่าน Facebook และ Line Group เป็นต้น บูรณาการไปในทิศทางเดียวกัน โดย นาวาอากาศเอก อธิคุณ กล่าวว่า จากผลจากการประชุมนั้น ทางภาคีที่ร่วมรับฟังส่วนใหญ่พร้อมที่จะสนับสนุนการดำเนินงานและข้อมูลที่มีการรวบรวมและศึกษาวิจัยไว้แล้วให้แก่ อพท. และยังเสนอให้การศึกษาควรทำให้รูปแบบบูรณาการแผนงานและโครงการต่างๆ ทั้งในระดับจังหวัด ระดับกลุ่มจังหวัด และระดับภาค เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปในทิศทางเดียวกันและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่มากที่สุด พร้อมกับเสนอว่าพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลาย อพท. จึงควรมีรูปแบบการนำเสนอและสร้างการรับรู้ในวงกว้าง รวมถึงพัฒนาให้เกิดเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ และให้มีการรวบรวมสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เป็นข้อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อยกระดับอีกทั้งยังเป็นการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม ซึ่ง อพท. ได้รับไว้เพื่อไปพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยจะมีการสร้างการรับรู้ทั้งในการประชุมกลุ่มใหญ่ และกลุ่มย่อยทั้ง 3 จังหวัด เพื่อนำเสนอแผนการดำเนินงานและร่วมกันจัดทำแผนขับเคลื่อนดังกล่าวร่วมกันต่อไป สำหรับลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีจุดเด่นที่สำคัญคือ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของผู้คนในแถบนี้ที่ยังคงปฏิบัติสืบต่อกันมา ประกอบกับความสมบูรณ์ของทรัพยากรการท่องเที่ยว ทั้งคุณค่าทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และด้านวัฒนธรรม ซึ่ง อพท. จะนำศักยภาพเหล่านี้มาพัฒนาร้อยเรียงเป็นเส้นทางท่องเที่ยว (Routing) ที่นำเสนออัตลักษณ์ของพื้นที่ให้กับนักท่องเที่ยวที่สนใจ โดย อพท. จะเข้าไปหนุนเสริมการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น การพัฒนาบุคลากรทางการท่องเที่ยว การสร้างคุณค่าและมูลค่าผ่านเรื่องเล่า (Story Telling) ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น และสร้างการรรับรู้ให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างและกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวให้เกิดกับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรการท่องเที่ยวที่แท้จริง อันจะนำไปสู่การบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยทาง อพท. ตั้งเป้าหมายว่าจะประกาศลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาแห่งนี้ให้เป็นพื้นที่พิเศษได้ภายในสิ้นปี 2564