ร่วมสมัย/ชะมวง พฤกษาถิ่น: นำผลงานการออกแบบธนบัตร โดย วิระศักดิ์ มนต์แก้ว หนึ่งในศิลปินจัดแสดงในนิทรรศการโครงการศิลปินร่วมสมัย สู้ภัยโควิด ด้วยจิตสำนึก สาขาทัศนศิลป์ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ในช่วงที่ผ่านมา
เรื่องราวของศิลปินท่านนี้ได้ถ่ายทอดไว้เฟซบุ๊กเพจ #ร่วมสมัยวันละคำ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ในที่นี้ขอนำบางตอนมาเผยแพร่สาธารณชนอีกต่อหนึ่ง
คุณวิระศักดิ์ มนต์แก้ว กล่าวว่า ปัจจุบันทำงานประจำอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย โรงพิมพ์ธนบัตร ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ออกแบบและแกะแม่พิมพ์ชำนาญงาน หน้าที่รับผิดชอบในด้านงานออกแบบสิ่งพิมพ์มีค่า จากงานประจำของผมซึ่งเกี่ยวกับการออกแบบธนบัตร เป็นการทำงานภายใต้กรอบเงื่อนไข ข้อกำหนด ในกระบวนต่างๆ โดยคำนึงถึงรูปแบบที่นำเสนอ เรื่องราว เนื้อหา เทคนิค กระบวนการผลิต ในขั้นงานต่างๆ ต้องคิดให้ครอบคลุมถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น และต้องตัดปัญหาให้ได้ก่อนที่จะผลิตจริง ไปจนถึงมือลูกค้า รวมไปถึงความพึงพอใจและง่ายต่อการใช้งาน และกระบวนสุดท้ายคือการทำลาย ทั้งหมดนี้ได้มีความเกี่ยวข้องกับคนหลายคน หลายหน้าที่ เพราะฉะนั้นความงามที่เราอยากนำเสนอทั้งหมดผ่านชิ้นงานออกแบบ จึงมีการตัดเติม ตามความเหมาะสมตามกระบวนการที่ได้กล่าวไว้แล้ว ซึ่งมีความแตกต่างจากงานจิตรกรรม ที่สามารถนำเสนอด้วยความอิสระได้ด้วยตัวตนและความคิดของศิลปินเอง
ด้วยเหตุผลนี้ ผมจึงได้มีความต้องการอีกด้านหนึ่งที่อยากจะสร้างงานศิลปะ และจากการที่ได้ไปดูงานตามพิพิธภัณฑ์จากต่างประเทศ ได้ไปเห็นงานแกะสลักหินอ่อนที่ศิลปินยังแกะไม่เสร็จสมบูรณ์ และยังทิ้งร่องรอยของเครื่องมือในส่วนที่ยังแกะไม่เสร็จ เป็นร่องรอยที่หน้าประทับใจ มันจะแสดงถึงช่วงขณะของการทำงานอยู่ และส่วนที่เหลือก็ทำให้คนดูเกิดจินตนาการต่อไปได้ตามความคิดฝันของผู้ชมงาน
ความชอบนี้เองผมได้นำมาสร้างสรรค์พัฒนารูปแบบเทคนิคให้ดูคล้ายงานแกะสลักต่างๆ และลงมือเขียนภาพมาเรื่อยๆ กว่าสิบปี จึงมีเทคนิคและแนวคิดที่ชัดเจนขึ้น จนมาเป็นงานชุด “สลักจิต สลักใจ” ในช่วงปี 2550 ถึงปี 2561 ชุดสลักจิตสลักใจนี้ ผมได้นำรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่คุ้นเคยจากการทำงานประจำ ที่ใช้ภาพในหลวง ร 9 ในการออกแบบธนบัตรเป็นส่วนใหญ่ มาเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนภาพงานจิตรกรรมสีน้ำมัน โดยใช้เทคนิคคล้ายงานแกะสลักไม้ จนเป็นรูปแบบเฉพาะ เพื่อเป็นการบันทึกภาพความทรงจำที่ประทับใจ และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ เพื่อต้องการให้ภาพเหล่านี้ยังคงอยู่ จึงเป็นที่มาของการวาดภาพในหลวง และสร้างสรรค์งานตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี เขียนรูปในหลวงกว่า 50 ภาพ และได้ใช้รูปแบบคล้ายงานสลักไปนำเสนอกับรูปอื่นที่ผมประทับใจต่อไป เช่น ภาพบุคคลทั่วไป ภาพสัตว์ ภาพครุฑ และเรื่องราวต่างๆ
นี่คือบางตอนผลงานของคุณวิระศักดิ์ มนต์แก้ว ผู้สนใจสามารถติดตามได้ทาง Fecebook : Vi’erSak Monkaew หรือทางเฟซบุ๊กเพจ #ร่วมสมัยวันละคำ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (ภาพประกอบจากเพจดังกล่าว) มีผลงานของศิลปินทัศนศิลป์ท่านอื่นๆ ถ่ายทอดให้ได้อ่านและชื่นชมกัน
แรงบันดาลใจจากงานการออกแบบธนบัตร สู่งานจิตรกรรมสีน้ำมันในรูปแบบแกะสลักไม้