นับเป็นการระบาดระลอกใหม่อย่างน่ากลัวของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งค่อนข้างจะแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและมีทีท่าจะติดกันในครอบครัวหรือออฟฟิศสำนักงานต่างๆกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น จนทำให้เวลานี้โรงพยาบาลแทบจะเต็ม จนต้องแจ้งเกิดโรงพยาบาลสนามหรือโรงแรมที่ปรับโฉมเป็นรพ.สนามหรือที่เรียกว่า Hospitel ขึ้นมากระจัดกระจายให้บริการแก้ขัดกันทั่วประเทศ เพื่อรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่ขยายวงกว้างและจำนวนหลักพันขึ้นแทบทุกวัน และยังไม่มีทีท่าจะลดลงมาต่ำกว่าหลักพันลงมาเลยจนถึงณ ขณะนี้
กระทั่งล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)ภายใต้ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ คุมบังเหียนเลขาธิการได้ไหวตัว ชิงดับไฟที่ต้นลมเสียก่อน ก่อนจะมีการตีความวุ่นวายสำหรับกรณีรพ.สนามและ Hospitel หรืออยู่นอกกรอบกติกาการจ่ายของบริษัทประกัน เนื่องจากรพ.สนามโมเดลนี้ไม่มีเคยปรากฏในสารบบของการจ่ายเคลมประกันมาก่อน หากจะจ่ายได้ต้องเป็นคนไข้ในหรือ IPD นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเท่านั้น จึงเป็นที่มาให้มีการออกประกาศคำสั่งปลดล็อคทันควันเพื่อให้รพ.สนามและHospitel อยู่ในข่ายที่ลูกค้าประกันสุขภาพหรือประกันโควิดสามารถเข้าไปรักษาและเบิกในฐานะคนไข้ได้เสมือนคนไข้ในรพ. ซึ่งกรณีคปภ.ไฟเขียวครั้งนี้ นอกจากจะช่วยตอบโจทย์เข้าทางรัฐบาลในการดูแลพี่น้องประชาชนผู้ติดเชื้อแล้ว ยังเท่ากับช่วยกระตุ้นและส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพและประกันโควิดได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชนหาซื้อคุ้มครองติดตัวกันมากขึ้นเป้นเงาตามตัว
ทั้งที่ๆหากดูสถิติตัวเลขการตื่นตัวการซื้อประกันโควิดในช่วงไตรมาสแรกก่อนหน้าจะระบาดหนักในต้นเดือนเม.ย.2564 กระแสของการตื่นตัวของพี่น้องประชาชนก็ถูกจุดพลุมาทีแล้ว จากกรณีการเกิดระบาดของโควิด19 ที่จังหวัดสมุทรสาคร รวมถึงคลัสเตอร์ใหญ่จากบ่อนการพนันที่แพร่เชื้อ ทำให้ผู้คนตื่นตัวและปลุกยอดขายประกันโควิดที่ซาลงไปช่วงปลายปีที่แล้วให้กลับมามีสีสันคึกคักขึ้นช่วงต้นปีอีกครั้ง
โดยนายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการคปภ.ฯที่ดูแลรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ประกันโควิด-19 ได้วิเคราะห์ให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า จำนวนผู้เอาประกันโควิด-19 ตั้งแต่เดือนม.ค.-มี.ค.ปีนี้จะเห็นว่ามีปริมาณสูงขึ้นมาก โดยตกเฉลี่ยเดือนละ 4 แสนกว่าฉบับ เมื่อรวมทั้ง 3 เดือนจะมียอดทำประกันรวมแล้ว 1.3 ล้านฉบับด้วยกัน ซึ่งถือว่าประชาชนต่างตื่นกลัวจนเกิดกระแสตื่นตัวเป็นอย่างมาก จนทำให้ตัวเลขผู้ทำประกันโควิดสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งที่ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค.2563 ยอดแผ่วลงอย่างมาก เนื่องจากผู้คนเริ่มไม่ตระหนกเพราะเห็นว่าการแพร่เชื้อโควิดซาลงแล้ว โดยมียอดผู้ทำประกันเฉลี่ยต่อเดือนเพียง1แสนฉบับเท่านั้น ประกอบกับเริ่มมีข่าววัคซีนที่จะออกมาฉีดให้คนไทยด้วย แต่ต่อมาได้เกิดการระบาดคลัสเตอร์ใหญ่จ.สมุทรสาครและบ่อนพนัน จนมีผู้ติดเชื้อโควิดขยายวงกว้างและมีจำนวนมากขึ้นในหลายจังหวัดตามมา จึงเป็นที่มาให้คนแห่กันมาซื้อประกันโควิดพุ่งจากเฉลี่ยต่อเดือนหลักแสนรายเศษมาเป็น 4 แสนรายต่อเดือน
ขณะที่ยอดขายเพิ่ม ในทางกลับกัน ตัวเลขค่าสินไหมหรือเคลมผู้ป่วยโควิด 3 เดือนแรกของปีนี้ก็ดีดตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก โดยค่าสินไหมรวม 3 เดือนสูงขยับมาอยู่ที่ 93 ล้านบาท ขณะที่เมื่อเทียบกับยอดเคลมโควิดทั้งปี(12 เดือน)ของปี 2563 อยู่ที่ประมาณเกือบ 80 ล้านบาท ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการระบาดโควิดของคลัสเตอร์ใหญ่จ.สมุทรสาครและบ่อนพนัน จึงทำให้ตัวเลขเคลมโควิดสูงขึ้น ทั้งนี้คปภ.กำลังจับตาและติดตามตัวเลขอย่างใกล้ชิดสำหรับตัวเลขในไตรมาส 2 โดยเฉพาะช่วงเดือนเม.ย.64ที่เกิดการระบาดโควิดจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงทองหล่อว่า จะมีผลทำให้ตัวเลขยอดขายและค่าสินไหมในไตรมาสสองนับตั้งแต่เดือนเม.ย.นี้เป็นต้นไปว่า จะดีดตัวสูงเพิ่มขึ้นมากกว่าไตรมาสแรกขนาดไหน
อย่างไรก็ตาม สำหรับยอดตัวเลขของผู้ทำประกันโควิดทั้งปีของปีนี้ ตนเองยังเชื่อว่า คงจะไม่สูงเท่ากับปีที่แล้วที่มีจำนวนทั้งปี 9.3 ล้านฉบับอย่างแน่นอน เพราะต้องยอมรับว่า ปีที่แล้วจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ที่มีจำนวนยอดขายเกิดขึ้นเยอะมากก็คือช่วงเดือน ก.พ., มี.ค.และเม.ย. จนมาถึงสิ้นเดือนเม.ย.ยอดขายทะลุไปเกือบ 8 ล้านฉบับ พอหลังจากนั้นยอดขายได้ชะลอตัวลง จนมาถึงสิ้นปีมีจำนวน 9.3 ล้านฉบับ สาเหตุที่เชื่อว่ายอดขายคงไม่สูงเท่าปีที่แล้ว เพราะปัจจัย บริษัทประกันให้ความระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทรับประกันภัยต่อต่างประเทศไม่รับประกันภัยต่อผู้ติดเชื้อโควิด ซึ่งไม่เหมือนกับปีที่แล้วยังรับอยู่ จึงทำให้บริษัทประกันต่างๆต้องพากันปรับลูกเล่น หรือเงื่อนไขเปลี่ยนไปจากปีก่อนเยอะทีเดียว
ยกตัวอย่างเช่นของเดิมปีที่แล้วเคยขายดีอย่างเงื่อนไข”เจอ จ่าย จบ”ซึ่งเป็นยอดขายเกือบ80-90%ของประกันภัยโควิดปีที่แล้ว มาปีนี้ได้ปรับลดเงื่อนไขทุนเอาประกันลดลงจาก 1 แสนบาทโดยเฉลี่ย เหลือ 5 หมื่นบาท และหันไปเน้นขายในเรื่องของการจ่ายค่าชดเชยรายได้บ้าง หรือไม่ก็จะมีการเพิ่มเติมเรื่องของค่ารักษาที่มีความคุ้มครองใหม่ในเรื่องของค่าทำความสะอาดที่พักอาศัยกรณีที่ติดเชื้อ หรือกรณีจ่ายเป็นค่าตรวจสำหรับคนที่อยู่ร่วมกันกับผู้เอาประกันที่ติดเชื้อแทน อย่างนี้เป็นต้น
ทั้งนี้จากการสำรวจตลาดของผู้สื่อข่่าว ปรากฎว่าก็เป็นไปตามที่ท่านผู้ช่วยเลขาฯคปภ.กล่าวจริงๆ เมื่อล่าสุดบมจ.ทิพยประกันภัยผู้บุกเบิกตลาดประกันโควิด19ได้ขยายเพิ่มความคุ้มครองครอบคลุมไปถึงบุคคลในครอบครัวและผู้ที่อยู่อาศัยร่วมกัน โดยหากลูกค้าที่ทำประกันกับบริษัทฯตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถให้บุคคลในครอบครัวและผู้ที่อยู่อาศัยร่วมกัน ไปตรวจหาเชื้อได้ ฟรี เพื่อเป็นการคลายความวิตกกังวลและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายจากค่าตรวจ และยังเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งก็มีหลายค่ายหรือแม้แต่บมจ.เมืองไทยประกันภัยก็เพิ่งจะใส่ลูกเล่นในประกันโควิดที่แตกต่างกันออกไปและเป็นจุดขายออกมาดึงดูดลูกค้ากันไม่ขาดสายทีเดียว
ทั้งนี้เท่าที่ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบแบบประกันตระกูล”เจอจ่ายจบ”ซึ่งเป็นที่นิยมตลาดนั้นคึกคักเป็นอย่างมาก มีการเปิดขายในร้านสะดวก7-elevenหรือกระทั่งตลาดประกันออนไลน์อย่างแพร่หลาย รวมถึงบริษัทโบรกเกอร์หรือนายหน้าประกันภัยขายอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
อัพเดทล่าสุดถึงเดือนเม.ย.ก่อนหน้าการระบาดระลอกใหม่ช่วงต้นเม.ย.จนนับถึงเวลานี้ ก็มี 4บริษัทประกันเด่นๆที่ประกาศตัวเสนอขายอาทิเช่น บริษัทสินทรัพย์ประกันภัย เสนอขาย 4 ความคุ้มครองด้วยกัน ได้แก่ แบบแรกเบี้ยฯ 99 บาท ติดเชื้อรับเงินก้อน 15,000 บาท ,เบี้ยฯ199 บาท ติดเชื้อฯรับ 30,000 บาท ,เบี้ย 299 บาท ติดเชื้อรับ 50,000 บาท และเบี้ย 499 บาท ติดเชื้อรับ 100,000 บาท โดยค่ายสินทรัพย์ฯค่ายนี้มีแถมความคุ้มครองการแพ้การฉีดวัคซีนให้ด้วยทุกแผน
ส่วนอาคเนย์ประกันภัย มีขาย 4แผนด้วยกันคือ เบี้ย 260 บาท ติดเชื้อรับทันที 50,000 บาท แผน 2 เบี้ย 519 บาท ติดเชื้อรับ 100,000 บาท แผน 3 เบี้ย 778 บาท ติดเชื้อรับ 150,000 บาท แผน 4 เบี้ย 1,037 บาท ติดเชื้อรับ 200,000 บาท
ขณะที่บมจ.สินมั่นคงประกันภัยมี 3 แบบ แบบแรกเป็นแผนราคาเบาๆ เบี้ย 99 บาท ติดเชื้อรับ 20,000 บาท แผน 1(เกินคุ้ม)เบี้ย 199 บาท คุ้มครอง 50,000 บาท และแผน 2 (สุดคุ้ม) เบี้ย 399 บาท คุ้มครอง 100,000 บาท
ส่วนบมจ.วิริยะประกันภัย มี 2 แผนได้แก่ ซุปเปอร์ชีลด์ แผน 1 เบี้ย 399 บาท คุ้มครอง 50,000 บาท และซุปเปอร์ชีลด์แผน 2 เบี้ย 599 บาท คุ้มครอง 100,000 บาท โดยค่ายวิริยะฯใจป้ำมีเงินชดเชยรายได้ทั้งสองแผนให้ตกวันละ 500 บาทต่อวัน เป็นเวลา 14 วัน รวมถึงแถมความคุ้มครองการแพ้การฉีดวัคซีนให้ด้วย
จากออฟชั่นและเวอร์ชั่น”เจอจ่ายจบ”ของประกันโควิดที่ 4 ค่ายประกันนำเสนอขายดังกล่าว เรียกได้ว่า ปลุกกระแสฟีเวอร์ให้กับประกันโควิดคึกคักขึ้นมาไม่น้อยทีเดียว และเชื่อว่า ผู้คนคงหลั่งไหลซื้อกันไว้เป็นยันต์กันผีหลายฉบับทีเดียว ซึ่งบางรายน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 2 ฉบับ บางรายซื้อสูงสุดไปถึง 9 กรมธรรม์ก็มี จนเวลานี้บางบริษัททำท่าจะปิดการขายแล้วเช่น บมจ.สินมั่นคงฯเพิ่งจะปิดขายไปวันที่22เม.ย.ที่ผ่านมา ส่วนค่ายที่เหลือก็กำลังรอดูสถานการณ์ถึงสิ้นเดือนเม.ย.64ว่าจะกัดฟันสู้หรือเอายังไงต่อ โดยแต่ละค่ายประกันคงจะมีการประเมินสถานการณ์รายว่าจะไปต่อหรือหยุดแค่นี้เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันสูงขึ้นมากเป็นลำดับ จากหลักร้อยสู่หลักพันและกำลังมีทีท่าจะทะลุ2-3พันอย่างฉุดไม่อยู่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า และหากแตะหลักหมื่นคงเป็นเรื่องใหญ่และน่ากลัวกับความเสี่ยงสูงต่อการจ่ายค่าสินไหมประกันโควิดและขาดทุนอย่างมากทีเดียว
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็คงต้องติดตามกันดูอย่างตาอย่ากระพริบว่า สุดท้ายแล้วหากปิดยอดตัวเลขณ เดือนเม.ย.พร้อมๆไปกับการระบาดระลอกใหม่ในหลายๆคลัสเตอร์ของสถานบันเทิงและแหล่งอโคจรทั่วประเทศแล้ว ยอดขายประกันโควิดจะแตะกี่ล้านกรมธรรม์กันแน่ เพราะเท่าที่รู้ขนาดยังไม่หมดเดือนเม.ย.ยอดขายก็ปาเข้าไป4ล้านกว่ากรมธรรม์แล้ว โดยตระกูลเจอจ่ายจบเป็นสินค้ายอดฮิตคนนิยมซื้อกันมากอันดับหนึ่ง เช่นเดียวกับตัวเลขเคลมจะพุ่งปรี้ดขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นกรมธรรม์ที่พี่น้องประชาชนซื้อไว้ก่อนหน้าการระบาดระลอกใหม่ รวมถึงหลังเพิ่งแห่ซื้อกันถล่มทะลายนัับแต่ต้นเม.ย.เป็นต้นมา
ในขณะเดียวกัน พูดถึงในด้านบวกแล้ว ก็อดไม่ได้จะพูดถึงในด้านลบ เพราะสิ่งที่น่าเป็นกังวลตามมาก็คือ สำหรับกรณีคนแห่ซื้อกรมธรรม์ไว้จำนวนมากๆหลายฉบับ พอถึงเวลาเกิดเคลมขึ้นมาแล้วนั้นจะมีปัญหาร้องเรียนว่าไม่ได้รับการชดใช้สินไหมกันเกิดขึ้นตามมากันหรือไม่ เพราะหลายรายสักว่าซื้อทบๆกันหลายกธ.เพื่อจะได้ทุนเอาประกันคุ้มครองสูงเข้าว่าไว้
แต่พอเกิดติดเชื้อ ก็ไปเรียกร้องสินไหมโดยที่เป็นการผิดเงื่อนไขไม่คุ้มครองของบ.ประกันขึ้นมา คงจะวุ่นน่าดู เนื่องจากคนที่ซื้อขาดความรู้ความเข้าใจหรือขาดการอ่านดูเนื้อหาสาระรายละเอียดของกรมธรรม์ให้ถี่ถ้วนนั่นเอง แล้วหลงไปซื้อไว้ติดตัวจำนวนเยอะๆเข้า คงจะรู้สึกเจ็บปวดไม่น้อย ถ้าบ.ประกันปฏิเสธการจ่าย
ต่อเรื่องนี้นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ของเชื้อโควิด-19 ว่า ภาคธุรกิจขณะนี้ยังรับได้อยู่กับจำนวนยอดสะสมของผู้ติดเชื้อ แต่ถ้าต่อไปอีกสักหนึ่งเดือนก็คงไม่แน่ หากยังมีผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้สมาคมฯได้มอบหมายให้ทางนักคณิตศาสตร์ประกันภัยเกาะติดสถานการณ์ตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า มีผู้ทำประกันติดเชื้อเท่าไหร่ และคนป่วยใกล้ชิดจำนวนมากน้อยขนาดไหน ซึ่งคงต้องดูตัวเลขของแต่ละบริษัทประกอบกันไปด้วย ถ้าสะสมเกินหลักแสนรายถึง 2 แสนราย
โดยในภาพรวมธุรกิจประกันภัยก็อาจจะต้องเริ่มกลับมาดู และทบทวนกันแล้วในเรื่องของอัตราเบี้ยประกันภัยโควิด-19 ที่ขายในปัจจุบันว่า พอเพียงหรือเหมาะสมหรือไม่ เพราะขณะนี้เท่าที่ติดตามดูจากยอดสะสมของผู้ติดเชื้อโควิดตามที่ปรากฎเป็นข่าวมีจำนวนอยู่ที่ 4.6 หมื่นราย ซึ่งคงจะต้องติดตามดูกันต่อไปว่า ยอดสะสมจะทะลุหลักแสนรายหรือไม่
นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ยังกล่าวอีกว่า กรมธรรม์แพ้วัคซีนโควิด-19 ส่วนใหญ่ขณะนี้หลายบริษัทก็มีการแถมควบคู่ไปกับกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 โดยไม่ได้แยกออกมาจำหน่ายเฉพาะแล้ว เนื่องจากจำนวนของผู้ที่ได้รับวัคซีนยังมีจำนวนน้อยหรือไม่มาก บริษัทประกันส่วนใหญ่ก็เลยแถมพ่วงไปกับกรมธรรม์ประกันโควิด ซึ่งต้องยอมรับกระแสของการซื้อประกันโควิดในช่วงที่มีการระบาดระลอกใหม่นี้ถล่มทะลายทีเดียว มียอดขายวันหนึ่งเข้ามาตกวันละแสนราย จากก่อนหน้านี้ยอดขายแผ่วมาก เนื่องจากคนเริ่มคลายวิตกกังวล โดยมีการชะลอของตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดลดลงไปอย่างมาก
นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ระบุอีกว่า ขณะนี้ทุกคนก็ต่างรอความหวังว่าในเดือนมิ.ย.นี้จะมีวัคซีนเข้ามาล็อตใหญ่ ซึ่งจะช่วยได้เยอะทีเดียว เพราะมิฉะนั้นแล้วประเทศไทยต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายด้านค่ารักษาพยาบาลสูงทีเดียว โดยเฉพาะค่ารักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิดตกเฉลี่ยต่อหัวประมาณ 2 แสนบาท ซึ่งจุดนี้ี้ดีที่มีบ.ประกันมารองรับความเสี่ยง จึงทำให้พี่น้องประชาชนต่างตื่นตัวเข้ามาซื้อประกันโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสมาคมฯก็อยากจะเตือนให้พี่น้องประชาชนที่ตัดสินใจซื้อประกันโควิด-19 ควรจะต้องพิจารณาดูความคุ้มครองให้เหมาะสมกับตัวเองอย่างถี่ถ้วน
โดยกลุ่มคนที่เป็นพนักงานบริษัท ข้าราชการ ซึ่งมีสวัสดิการรักษาพยาบาสอยู่แล้ว ถ้าจะซื้อ ก็แนะนำให้เน้นซื้อความคุ้มครองแบบ” เจอจ่าย จบ” หรือคุ้มครองเสียชีวิต หรือชดเชยรายได้จะดีกว่า แต่ถ้าหากเป็นกลุ่มคนที่มีอาชีพอิสระอย่างกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า คนขับแท็กซี่หรืออาชีพอิสระอื่นๆ ก็ควรจะเน้นซื้อแบบที่คุ้มครองค่ารักษากับชดเชยรายได้ไป แต่ถ้าใครหรือรายใดมีภาระต้องอุปการะ บิดามารดา หรือบุตร ก็ควรหาซื้อความคุ้มครองในรูปแบบประกันการเสียชีวิต เผื่อเสียชีวิตไปก็ยังมีเงินไว้เป็นหลักประกันให้ลูกหลานหรือคนที่รััก โดยสิ่งสำคัญอยากให้พี่น้องประชาชนได้โปรดอ่านเงื่อนไขก่อนตัดสินใจซื้อ เช่น อายุอยู่ในเกณฑ์ทำประกันได้ไหม หรือแม้กระทั่งอาชีพ เช่น บางกรมธรรม์ไม่คุ้มครองบุคลากรทางแพทย์ ลูกเรือเดินสุมทร เป็นต้น อีกทั้งบางกรมธรรม์ประกันโควิด-19 ก็ไม่ขายหรือมีข้อยกเว้นความคุ้มครองสำหรับผู้ทำประกันที่มีโรคเรื้อรังอย่างเช่น เบาหวาน ความดัน หรืออื่นๆ เป็นต้น ซึ่งหากไม่ดูเงื่อนไขกรมธรรม์ให้ดีแล้ว ก็อาจมีความเสี่ยงจากการไม่ได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกันก็เป็นได้
บทสรุปท้ายนี้ ก็คงติดตามกันดูต่อไปว่า การระบาดจากคลัสเตอร์ใหญ่นับตั้งแต่ต้นปีมา ไม่ว่าจะเป็นคลัสเตอร์จังหวัดสมุทรสาครและบ่อนการพนันจนกระทั่งมาปะทุเป็นการระบาดระลอกใหม่ของสถานบันเทิงย่านทองหล่อซึ่งเป็นโควิดสายพันธุ์อังกฤษ ที่ผู้คนติดเชื้อได้ง่ายขึ้น และมีความเสี่ยงเสียชิวิตได้ในเวลาอันรวดเร็วขึ้น รวมถึงเทรนด์ใหม่จะเห็นภาพของการติดเชื้อกันยกครอบครัวมากขึ้น
มาตรการต่างๆที่รัฐบาลงัดออกมาใช้ควบคุมสถานการณ์การระบาดหนักล่าสุด จะสามารถแก้ไขปัญหาการขยายวงกว้างของจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันขณะนี้ได้ยุติและสำเร็จหรือไม่ จนหยุดตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้อยู่หมัดหรือเปล่า
และที่สำคัญกระแสของการตื่นตัวทำประกันโควิดกันอย่างแพร่หลายเวลานี้จะยืนหยัดกันไปอีกยาวนานหรือเปล่า ในท่ามกลางรพ.อยู่ในสภาพเตียงเต็ม รพ.สนามก็ยังไม่พอรองรับกับผู้ป่วยที่ผุดเพิ่มเป็นดอกเห็ดรายวัน ผู้ป่วยรอคิวรถมารับตัวเข้ารักษาจำนวนมาก หลายรายรอคอยไม่ไหวเสียชีวิตไปก่อนก็ไม่น้อยเลยเวลานี้ เพราะฉะนั้นต่อให้ซื้อประกันโควิดกันก็ใช่ว่าจะมีเตียงหรือรพ.สนามหรือhospitelรองรับอย่างที่คิด สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัญหาอุปสรรคท้าทายบ.ประกัน เพราะหากปล่อยสถานการณ์ยืดเยื้อต่อไป คนติดเชื้ออาการเกิดทรุุดหนักขึ้น และมีจำนวนเยอะมากๆขึ้น
ความเสี่ยงต่อบ.ประกันที่จะขาดทุนจำนวนมากกับการจ่ายสินไหมในบางแบบประกันที่คุ้มครองระยะโคม่าหรือกรณีเสียชีวิตก็ย่อมมีโอกาสสูงตามมาด้วย โดยเฉพาะบางแบบที่ลูกค้าซื้อความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตสูงถึง1ล้านบาทหรือ2ล้านบาท ถ้าโคม่าเสียชีวิตมากๆเข้า บ.ประกันก็คงจ่ายกันไม่หวั่นไม่ไหวทีเดียว
แทนที่เดิมจากภาวะรักษาตามขั้นตอนปกติและสมมติฐานรพ.รองรับได้กับการมีเตียงพอรองรับ รักษากักตัวไม่กี่วันก็หาย เฉลี่ยแล้วหัวหนึ่งค่ารักษา6หมื่นกว่าบาทถึง2แสนบาทซึ่งยังอยูู่่ในเกณฑ์บ.ประกันรับได้อย่างสบายๆ ขึ้นอยู่กับมีอาการแทรกซ้อน
ดังนั้นบ.ประกันคงจะไปคาดหวังเพียงการกลับมาของกระแสฟีเวอร์กธ.ประกันโควิดและคาดหวังว่าจะช่วยปลุกตลาดประกันภัยบ้านเราที่ซึมลึกจากพิษโควิดระบาดให้กลับมาคึกคัก เหมือนดังปีที่แล้วที่เคยได้รับอานิสงส์ เป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยชีวิตครั้งหนึ่งคงไม่ได้แล้ว เพราะไวรัสโควิดระบาดปีนี้ิรุนแรงหนักและคงต่างจากปีที่แล้วอย่างสิ้นเชิง