มจพ. จับมือกลุ่มการศึกษาและอุตสาหกรรมชูประเด็น Smart Mobility Symposium: Bridgint the Grids (การเชื่อมโยงโครงข่ายจราจรด้วยระบบอัจฉริยะ)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มณพิไลย นรสิงห์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวว่าในยุคปัจจุบันระบบขนส่งมวลชนอัจฉริยะ มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเดินทางไปยังสถานที่ทำงาน การเดินทางไปยังสถานศึกษา และการเดินทางเพื่อจับจ่ายใช้สอย เป็นต้น ในภาพรวมระบบขนส่งมวลชนอัจฉริยะ (Smart Mobility) คือ ระบบขนส่งมวลชนที่สามารถเชื่อมโยงการเดินทางหลากหลายรูปแบบเข้าด้วยกันได้สามารถลดระยะเวลาในการเดินทางมีความปลอดภัย และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ในการทำงานของประชาชนที่อาศัยในเมืองนั้นๆ ได้ สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทยในการก้าวสู่ยุคประเทศไทย 4.0 ซึ่งมีคุณลักษณะอันสำคัญของการใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนากลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง
สืบเนื่องจาก กลุ่มพันธมิตรทางด้านการศึกษา ได้แก่ RWTH Aachen University สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี Hongik University สาธารณรัฐเกาหลี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ประเทศไทย พร้อมทั้งกลุ่มพันธมิตรในด้านอุตสาหกรรม ซึ่งประกอบไปด้วย บริษัท บีเอ็มดับเบิลยูแมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ซีเมนส์ ประเทศไทย จำกัด บริษัท แชฟฟ์เลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท จอย ไบซิเคิ้ล จำกัด รวมไปถึงกลุ่มพันธมิตรในภาคราชการ ซึ่งประกอบไปด้วย สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด และ สมาคมวิศวกรรมระบบรางแห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือกันเพื่อจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ Smart Mobility Symposium ภายใต้หัวข้อ Bridging the Grids หรือการเชื่อมโยงโครงข่ายจราจรด้วยระบบอัจฉริยะ ในวันศุกร์ ที่ 6 ตุลาคม 2560 ณ สถานีรถไฟฟ้ามักกะสัน
การประชุมวิชาการในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ H.E. Mr. Peter Prügel เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดงานประชุม และจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและวิจัยในอุตสาหกรรมการคมนาคมขนส่งของทั้ง 3 ประเทศ มาบรรยายเรื่อง เทคโนโลยีการคมนาคมขนส่ง ประสบการณ์ และแนวทางปฏิบัติสำหรับการจัดการคมนาคม ในเมือง ประเด็นหลักในการประชุมวิชาการในครั้งนี้คือ ปัญหาในการคมนาคมขนส่งไปยังจุดหมายปลายทาง การลดช่องว่างระหว่างระบบการคมนาคมขนส่งสาธารณะ โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดงาน คือ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีการวิจัยและพัฒนา และรูปแบบการบริหารจัดการอันเหมาะสม เพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณะที่รวมทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อการขยายโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวกับการขนส่ง ได้แก่ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า และรถยนต์ส่วนบุคคล ระบบทางรถไฟและระบบขนส่งสาธารณะ การผลิตยานพาหนะ (จักรยาน รถจักรยานยนต์ รถบัส) การบริการด้านการขนส่ง (รถไฟฟ้า รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ รถอื่นๆ) การบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในการขนส่ง พลังงานในการขนส่ง (น้ำมัน ไฟฟ้า) การให้คำปรึกษาการจัดการระบบจราจรในเมือง การศึกษาทางด้านสังคม การเรียนรู้และการวิจัย นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการและการสาธิตเทคโนโลยี สำหรับระบบขนส่งมวลชนในอนาคต จากบริษัทชั้นนำต่าง ๆ พร้อมทั้งเป็นการกระตุ้นสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน ในด้านเทคโนโลยีการขนส่งมวลชนอัจฉริยะ
สอบถามรายละเอียดได้ที่ บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โทร. 0-2555-2000 ต่อ 2910 หรือ 2907 หรือผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยยศ พิรักษ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายความร่วมมืออุตสาหกรรม บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) 085-842-0590