วันที่ 21 เมษายน 2564 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงฯ และคณะ เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยมี นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์ยุทธศาสตร์ จันทร์ทิพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยแม่โจ้ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดี พร้อมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ ณ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ (โซนบี) มหาวิทยาลัยแม่โจ้
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง จังหวัดเชียงใหม่ได้มีการตรวจพบจำนวนผู้สัมผัสเชื้อเพิ่มขึ้นในเกณฑ์ค่อนข้างสูง ทำให้โรงพยาบาลหลัก และโรงพยาบาลสนาม ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้สัมผัสเชื้อที่จะต้องเข้ารับการรักษา การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามภายในมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงเป็นการสนับสนุนการแก้ไขวิกฤติโรคระบาดตามการร้องขอการสนับสนุนของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และสนองนโยบายกระทรวง อว. ที่ให้มหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยทางโรงพยาบาลสันทราย อำเภอสันทราย และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ จะดูแลมาตรฐานความปลอดภัย กำกับมาตรการทางสาธารณสุข และการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการป้องกันโรคและปกป้องบุคลากร นักศึกษาของมหาวิทยาลัยอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ได้มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในสังกัดกระทรวง อว. โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.กระทรวง อว. ได้ให้นโยบายภาพรวมที่ทางกระทรวง อว.เร่งดำเนินการให้สอดคล้องกับแนวทางของรัฐในการแก้ไขปัญหาตามสถานการณ์อย่างเร่งด่วน พร้อมทั้ง ทางกระทรวงจะให้การสนับสนุนด้านการวิจัยและเทคโนโลยีทาง อว.ดำเนินการ พร้อมทั้งแนวทางเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ได้ร่วมแถลงสถานการณ์โรงพยาบาลสนามในสังกัด อว.ทั่วประเทศ รวมถึงเครือข่ายความร่วมมือ
ส่วนนายเจริญฤทธิ์ สงวันสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้แถลงเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุดในจังหวัดเชียงใหม่ และแนวทางการดำเนินการเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาเพื่อลดอัตราการแพร่ระบาด รวมถึงมาตรการควบคุมและความร่วมมือในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ร่วมแถลงถึงการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมทั้งการถอดบทเรียน แม่โจ้โมเดล และมาตรการรองรับในระยะยาว
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัย แม่โจ้ จัดตั้งในศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ สามารถบรรจุเตียงได้ 420 เตียง ซึ่งหลังจากได้ตอบรับการประสานของจังหวัดเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564 ทางคณะผู้บริหารได้ประชุมเตรียมการ ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการในอำเภอสันทราย สาธารณสุขอำเภอ ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก/ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการสร้างความเข้าใจ และเตรียมความพร้อม โดยได้ระดมกำลังจากทุกส่วน ทั้งผู้บริหาร คณาจารย์ ศิษย์เก่า นักศึกษา รวมถึง ผู้นำชุมชน ประชาชน จิตอาสาในท้องถิ่น ทำความสะอาด ขนย้ายเบาะรองนอน ติดตั้งเตียง จนแล้วเสร็จในเวลา 48 ชั่วโมง เพื่อรองรับผู้สัมผัสเชื้อ ในวันที่ 15 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นผู้ที่ผ่านกระบวนการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลสนาม ศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มาแล้ว ทั้งนี้ โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ยังได้รับการสนับสนุนการบริจาคเงิน และสิ่งของจำเป็นที่ต้องใช้ประจำวันจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ศิษย์เก่า ประชาชน อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงทุกภาคส่วนได้ร่วมมือร่วมใจกันอย่างเต็มกำลัง ในการช่วยกันสู้ภัยโควิด-19 ให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้
อีกทั้ง ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้วางแผนมาตรการรองรับในระยะยาว เตรียมจัดทำ HOSPITEL เปลี่ยนโรงแรมเป็นสถานที่รองรับผู้สัมผัสเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้วต้องการมาพักกักตัว Quarantine เป็นครอบครัว(family )ในมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดปรับปรุงศูนย์ที่พักนานาชาติวิทยาลัยนานาชาติ ให้เป็นหอผู้ป่วยนอกพิเศษโรงพยาบาลสันทราย ในรูปแบบ Hospitel สำหรับพักและกักตัวผู้สัมผัสเชื้อ 14 วัน ให้กับนักศึกษาและบุคลากร โดยการดูแลทางการแพทย์ร่วมกับ โรงพยาบาลสันทราย คณะพยาบาลศาสตร์ และวิทยาลัยนานาชาติมหาวิทยาลัยแม่โจ้”
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการ กล่าวเพิ่มเติมว่า “มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นโรงพยาบาลสนามในสังกัด กระทรวง อว. ถึงแม้แม่โจ้ไม่ได้มีคณะแพทยศาสตร์ แต่สามารถทำงานร่วมมือประสานกับแพทย์สาธารณาสุข โรงพยาบาลสันทราย ที่ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี พี่น้องชาวเชียงใหม่ควรจะดีใจ ที่มีมหาวิทยาลัยแม่โจ้อยู่ในพื้นที่ เพราะไม่เพียงทำหน้าที่แค่การสอน หรืองานวิจัย หากในยามคับขัน บ้านเมืองมีปัญหา ก็สามารถ ช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้ เพราะตอนที่เชียงใหม่เกิดวิกฤตหนัก ในวันที่ต้องการ รพ.สนามเพิ่ม ซึ่งหาได้ไม่ง่าย ในยามนั้นเหมือนกองทัพกำลังจะแพ้ แต่มหาวิทยาลัยแม่โจ้เหมือนเป็นกองหนุนที่เหนือความความคาดหมาย ยินดีเปิด รพ.สนามได้ในเวลา 48 ชม. ช่วยแก้ไขสถานการณ์วิกฤตเชียงใหม่ให้ดีขึ้น” .