เมื่อวันที่ 21 เม.ย. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมหารือการเตรียมความพร้อมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน ที่จะเปิดภาคเรียนในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ จะต้องจัดการเรียนการสอนอย่างไร ซึ่ง สพฐ.จัดรูปแบบการเรียนการสอน 5 รูปแบบ คือ 1. On Site 2. On Air 3. Online 4. On Demand และ 5. On Hand โดยรูปแบบการเรียนการสอนจะให้โรงเรียนปรับไปตามความต้องการของตน เช่น ให้เรียน On Site ในโรงเรียนขนาดเล็ก หรือโรงเรียนที่ไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นต้น ทั้งนี้ ตนมอบหมายให้ สพท.สำรวจความพร้อมของนักเรียน และโรงเรียนทุกแห่ง ให้เสร็จภายในวันที่ 5 พฤษภาคม โดยต้องสำรวจความพร้อมของอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน ดูความพร้อมของโรงเรียนว่าจะสามารถกระจายความรู้ให้นักเรียนทุกคนได้ คาดว่า สพฐ.จะได้ทราบข้อมูลว่าใน 5 รูปแบบที่วางไว้ แต่ละรูปแบบจะมีจำนวนนักเรียนทั่วประเทศเข้ามาเรียนกี่คน
“ต่อไปการเรียนการสอนจะต้องนึกถึงนักเรียนเป็นสำคัญ ที่ผ่านมา สพฐ.ได้ถอดบทเรียนมาแล้ว และเน้นย้ำกับทุกโรงเรียนว่า แม้จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อยู่ แต่การเรียนการสอนจะหยุดไม่ได้ ทุกโรงเรียนจะต้องหารูปแบบการสอนที่เหมาะสมกับนักเรียนทุกคน และไม่ควรนำการสอนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมาจัดการสอนแบบเหมารวมทั้งโรงเรียน นอกจากนี้ โรงเรียนจะต้องร่วมมือกับผู้ปกครอง และภาคประชาสังคมมากขึ้นด้วย เช่น อาจจะร่วมมือกับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มาดูแลสุขภาพอนามัย และดูแลการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) กำหนด ทั้งนี้ที่ประชุมก็คำนึงถึงความวิตกกังวลของผู้ปกครองด้วย เช่น โรงเรียนจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ On Site แต่ถ้าผู้ปกครองรู้สึกไม่มั่นใจ เพราะกังวลว่าบุตรหลานจะติดโควิด-19 ให้โรงเรียนปรับรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ตามความต้องการของนักเรียน เป็นต้น“ นายอัมพร กล่าว
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้มอบหมายให้สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) ไปปรับปฏิทินสอบบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ สังกัด สพฐ. ปฏิทินการสอบบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ทั่วไป สังกัด สพฐ. ปฏิทินสอบบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. และปฏิทินสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) โดยจะต้องปรับให้กระบวนการต่างๆแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2564 เพื่อให้มีครูทันสอนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564
“นอกจากนี้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบหมายให้ สพฐ.ขับเคลื่อนหลักสูตรอิงสมรรถนะ ให้เสร็จทันใช้ปีการศึกษา 2565 ขณะนี้ สพฐ.อยู่ระหว่างผลักดันหลักสูตรนี้ ซึ่งเบื้องต้นจะนำหลักสูตรไปนำร่องทดลองใช้พื้นที่นวัตกรรมก่อน สพฐ.จะเร่งดำเนินการให้หลักสูตรฐานสมรรถนะเสร็จทันใช้ภายในปีการศึกษา 2565 แน่นอน” นายอัมพร กล่าว