นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังประธานมอบนโยบายให้กับทีม Salesman จังหวัดในรูปแบบ ออนไลน์ผ่านระบบ Webinar ภายใต้โครงการฝึกอบรมเชิง ปฏิบัติการ Salesman จังหวัด Go-interว่าประเด็นที่หนึ่ง ในเรื่องของการส่งออกของประเทศไทยซึ่งถือเป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนจีดีพีหรือภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยในหลาย 10 ปีที่ผ่านมา การส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ และมีความเห็นตรงกันว่าการส่งออกของไทยน่าจะพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว และกำลังทะยานขึ้น ตัวเลขการส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ
โดยหลังจากที่ประเผชิญกับวิกฤติโควิด สงครามการค้า และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ตัวเลขการส่งออกที่ต่ำสุดช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 ติดลบ 22% เดือนมิถุนายนติดลบ 23% แต่หลังจากนั้นติดลบน้อยลงเป็นลำดับ ถึงเดือนกรกฎาคมติดลบ 11% และเดือนธันวาคม 63 บวกถึง 4.7% และปีนี้ตัวเลขเดือนมกราคมเป็นบวก กุมภาพันธ์แม้ภาพรวมติดลบ แต่ถ้าเอาทองคำ ยุทธปัจจัย และน้ำมันออก เหลือแต่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงถือว่าตัวเลขยังเป็นบวกอยู่เดือนมีนาคมคาดการณ์ว่าตัวเลขจะเป็นบวกไม่น้อยกว่า 8% การส่งออกของเรายังมีสัญญาณที่ดี ทะยานขึ้นเป็นลำดับ
สำหรับสินค้าสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนการส่งออกประกอบด้วย สินค้าเกษตร สินค้าอาหาร เครื่องใช้ในบ้าน และภาคอุตสาหกรรม อื่นๆ ผลิตผลทางการเกษตรที่ยังมีอนาคตโดยอาหารนั้นประกอบด้วยผลไม้สด ผลไม้แปรรูป และอาหารกระป๋อง มีการขยายตัวที่ดีตลาดสำคัญที่มีศักยภาพ รองรับสินค้าของไทย เช่น สหรัฐอเมริกา จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นอาเซียน CLMV และตลาดในทวีปออสเตรเลีย ขยายตัวได้ดี แม้การท่องเที่ยวจะติดปัญหาอุปสรรค การส่งออกยังเดินหน้าต่อไปได้ จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญต่อไปภายใต้ความร่วมมือทำงานหนักระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนทั้งทีมเซลล์แมนจังหวัดและทีมเซลล์แมนประเทศ
ส่วนประเด็นที่สอง เรื่องไทม์ไลน์การจับคู่ธุรกิจด้วยระบบออนไลน์ เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการมีผลช่วยให้ยอดตัวเลขส่งออกเพิ่มขึ้น หลังวิกฤตโควิดได้มีการปรับรูปแบบเจรจาเพื่อการส่งออกเป็นระบบออนไลน์มากขึ้น และเกือบเต็มรูปแบบ โดยกระทรวงพาณิชย์สามารถผลิตนวัตกรรมทางการตลาดรูปแบบใหม่ให้เกิดขึ้นหลายรูปแบบเช่น ไฮบริด ส่งสินค้าจริงไปยังประเทศปลายทางและเจรจาซื้อขายกันด้วยระบบออนไลน์ หรือ Mirror Mirror และรูปแบบจับคู่ธุรกิจออนไลน์ Online Business Matching (OBM) โดยทีมเซลล์แมนประเทศเจรจาและจัดพื้นที่ให้มีการเจรจาผ่านระบบออนไลน์ ผู้ส่งออกของไทยสามารถเจรจาทำสัญญาซื้อขายเจรจาจับคู่ ปี 2563 สามารถทำยอดขายเฉพาะระบบ OBM 15,000 ล้านบาท และปี 2564 ตั้งเป้าหมายว่าจะให้ได้ไม่ต่ำกว่า 16,000 ล้านบาท เดือนม.ค.-มี.ค.64 ไตรมาสแรกดำเนินการจับคู่เจรจาธุรกิจ 33 ครั้งได้ 992 คู่ สามารถขายสินค้าให้กับผู้ส่งออกของไทย 325 ราย มีผู้นำเข้าจากต่างประเทศมาซื้อสินค้า 345 ราย ยอดซื้อขายไตรมาสแรกของปีนี้ 5,280 ล้านบาท
ขณะที่ไตรมาสที่เหลือกำหนดแผนงานไว้ชัดเจนแล้ว กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าแม้ในภาวะวิกฤตโควิดเพื่อนำรายได้เข้าประเทศในทุกช่องทาง กำหนดเป้าหมายจัดให้มีการจับคู่ 85 ครั้ง เฉลี่ยสัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้ง ตั้งเป้าจับคู่ไม่ต่ำกว่า 2,500 คู่ จะทำมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10,600 ล้านบาท โดยตัวอย่างเดือนพ.ค.64 ทำกับห้าง Walmart ของสหรัฐอเมริกา และประเทศแอฟริกาใต้ จับคู่เพื่อขายสินค้าฮาลาลห้าในเดือนก.ค.64 ขายอาหารสุขภาพในเดือนก.ค.64 เป็นต้น
ทั้งนี้เพื่อให้ทีมเซลล์แมนจังหวัดเซลล์แมนประเทศรับทราบว่ากระทรวงพาณิชย์มีความตั้งใจและทำงานไม่หยุดหย่อน กิจกรรมในวันนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยทำยอดการเจรจาจับคู่ซื้อขายระหว่างผู้ส่งออกไทยกับผู้นำเข้าจากต่างประเทศ เปิดพื้นที่ให้กับ SMEs และ Micro SMEs มาเจรจาจับคู่ในระบบ OBM ของกระทรวงพาณิชย์ได้ด้วย ในกิจกรรมเซลล์แมนจังหวัด Go-inter โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) จะเชิญผู้มีประสบการณ์มาให้ความรู้เจรจาปิดการขาย ให้องค์ความรู้ การทำสัญญาโดยให้ความรู้เบื้องต้นกับทีมเซลล์แมนจังหวัดที่ประกอบด้วยพาณิชย์จังหวัด หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สภาเกษตรกร Biz Club และกลุ่มอื่นๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อเป็นแม่ไก่นำความรู้ไปถ่ายทอดกับผู้ประกอบการต่อไป
“NEA จะเป็นผู้ติดตามว่ามีผู้ประกอบการใดที่มีศักยภาพ เชิญกลุ่มเหล่านี้มาพบกับเซลล์แมนประเทศ และผู้นำเข้าจากต่างประเทศต่อไป เพื่อเพิ่มยอดการส่งออกนำรายได้เข้าประเทศภายใต้การจัดการของกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับเซลล์แมนจังหวัด และเซลล์แมนประเทศต่อไป”