นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พบขบวนการหลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศ อาศัยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 โฆษณาการจัดหางาน ทางสื่อสังคมออนไลน์ ว่าคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน และสามารถพาไปทำงานต่างประเทศได้แม้เป็นช่วงแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 โดยเรียกเก็บเงินค่าดำเนินการรายละ 10,000 – 50,000 บาท แบ่งเป็นค่าดำเนินการ ค่าออกวีซ่า ค่าประกันภัย ฯลฯ ภายหลังรับเงินจะตัดขาดการติดต่อ จนผู้เสียหายรู้ตัวว่าถูกหลอกลวง และเข้าแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งประเทศที่พบคนหางานถูกหลอกลวงไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ แคนาดา สวีเดน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) และนิวซีแลนด์ ตามลำดับ คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 13,523,004 บาท
ทั้งนี้รัฐบาลให้ความสำคัญและเน้นย้ำให้กระทรวงแรงงานดูแลแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศให้เดินทางไปทำงานอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เนื่องจากแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศถือเป็นกลุ่มแรงงานที่นำรายได้เข้าประเทศไทย เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กระทรวงแรงงาน
ดังนั้นกรมการจัดหางานได้มีการสอดส่องดูแล และตรวจสอบผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศ และบริษัทจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีผู้คิดฉวยโอกาสจากสถานการณ์ดังกล่าวหลอกลวงคนหางาน ซึ่งหากตรวจสอบพบว่าผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ โดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ขอให้คนหางานที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศตรวจสอบข้อมูลตำแหน่งงาน ลักษณะงาน ตลอดจนประเทศที่จะไปจากเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางาน ก่อนตัดสินใจจ่ายเงินหรือโอนเงินให้กับผู้ใด และสามารถตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/ipd โดยปัจจุบันมีบริษัทฯ ที่ได้รับอนุญาต จำนวน 129 บริษัท ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงมหานคร 90 บริษัท และกระจายอยู่ในจังหวัดอื่นๆทั่วประเทศ 39 บริษัท ที่ผ่านมาตั้งแต่ เดือนตุลาคม 2563 – เมษายน 2564 ด่านตรวจคนหางานได้ตรวจสอบเอกสารคนหางานที่เดินทางผ่านด่านตรวจคนหางานทั้งสิ้น 17,922 ราย ตรวจสอบผู้ที่มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานในต่างประเทศ จำนวน 785 ราย และระงับการเดินทาง จำนวน 254 ราย