เมื่อวันที่ 20 เม.ย. นายชนะ มณีอ่อน ประธานแปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชนแปรรูปกาแฟสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า เมื่อปี 2447 ชาวตำบลบ้านโหนด อำเภอสะบ้าย้อย ได้นำเมล็ดกาแฟพันธุ์โรบัสต้าจากประเทศมาเลเซีย มาปลูกในพื้นที่อำเภอสะบ้าย้อยเป็นต้นแรกของไทย และมีการปลูกกันแพร่หลาย ต่อมาพื้นที่ปลูกเริ่มลดน้อยลง จนเกือบจะหายไป เนื่องจากมียางพาราเข้ามาเป็นพืชเศรษฐกิจแทน ในปี 2560 นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ซึ่งมีพื้นเพเป็นชาวสะบ้าย้อย ได้มีแนวคิดอนุรักษ์กาแฟสะบ้าย้อยไว้ จึงให้สำนักงานเกษตรจังหวัดจัดทำโครงการ เพื่อขยายพื้นที่ปลูก โดยสนับสนุนต้นพันธุ์ และการแปรรูปผลผลิตกาแฟ เกษตรกรจึงได้รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนแปรรูปกาแฟสะบ้าย้อยขึ้น แรกเริ่มใช้ชื่อแบรนด์ว่า “โกปี๊” ต่อมาเปลี่ยนมาใช้คำว่า“กาแฟโรบัสต้า สะบ้าย้อย” เพื่อเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศ และอากาศเฉพาะเหมาะแก่การปลูกกาแฟโรบัสต้า จากนั้นมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และได้จัดตั้งเป็นแปลงใหญ่ ในปี 2563 มีการพัฒนาที่ชัดเจนใน 5 ด้าน คือ การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต การพัฒนาคุณภาพ การบริหารจัดการ และการตลาด เดิมมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง และผลผลิตด้อยคุณภาพ กระบวนการแปลงใหญ่ช่วยสนับสนุนในการผลิตกาแฟคุณภาพดี การลดต้นทุนโดยเพิ่มองค์ความรู้การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เน้นการผสมปุ๋ยใช้เอง และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี ซึ่งการใช้ปุ๋ยอินทรีย์อย่างเดียวอาจไม่เหมาะกับการกระตุ้นการเจริญเติบโตของกาแฟ จึงจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีร่วมด้วย และมีธาตุอาหารเสริม ส่งผลให้กลุ่มลดต้นทุนการผลิตลงได้ จากเดิมเฉลี่ย 4,000 บาทต่อไร่ ปัจจุบันเหลือเพียง 2,000 บาทต่อไร่ และการผลิตพืชปลอดภัยได้มาตรฐาน กลุ่มมีเป้าหมายให้สมาชิกได้รับการรับรอง GAP ทุกแปลง ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกประมาณ 300 ไร่ ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ให้ได้ 600 ไร่ เนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นที่ต้องการสูงมาก การทำผลิตภัณฑ์ในอดีตมีเพียงคั่วเมล็ดกาแฟแบบ คั่วอ่อน คั่วกลาง คั่วเข้ม เท่านั้น ปัจจุบันได้พัฒนาผลิตภัณฑ์หลากหลายมากขึ้น มีการพัฒนาเพิ่มเป็นกาแฟคั่วบด มีทั้งคั่วอ่อน คั่วกลาง คั่วเข้ม และยังมีชาจากดอกกาแฟอีกด้วย ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม อาทิ กาแฟดริป ขนาด 250 กรัม ราคากล่อง 200 บาท คั่วเมล็ดขนาด 250 กรัม ราคา 200 บาท คั่วบดขนาด 250 กรัมราคา 180 บาท ซึ่งตอนนี้เป็นที่นิยมสำหรับคอกาแฟ เนื่องจากมีกลิ่นเฉพาะคล้ายน้ำตาลโตนด และกลิ่นกุหลาบผสมกัน นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่า แปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชนแปรรูปกาแฟสะบ้าย้อย มีการพัฒนาตามแนวทางแปลงใหญ่ ดังนี้ 1.การลดต้นทุนและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ได้แก่ การคัดเลือกพันธุ์ดี การตัดฟื้นต้นกาแฟ การเปลี่ยนพันธุ์ดีในต้นกาแฟเดิมด้วยวิธีเสียบยอด การวิเคราะห์ดินและการปรับปรุงดินตามค่าวิเคราะห์ดิน การเลือกและใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม การทำปุ๋ยหมักจากเปลือกกาแฟ 2.การผลิตที่มีคุณภาพ เช่น การดูแลบำรุงรักษาและจัดการสวนกาแฟ การป้องกันและกำจัด ศัตรูพืช 3.การพัฒนาคุณภาพ เช่น การเก็บเกี่ยวผลผลิตที่เหมาะสม การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว เช่นการบ่ม การตาก การคัดแยก การผลิตสารกาแฟ การคั่ว การบรรจุ การกำหนด มาตรฐานกาแฟตามสายพันธุ์การลดการสูญเสียจากกระบวนการผลิตและแปรรูป ตลอดจนการปรับปรุง กระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4.ด้านการตลาดและเชื่อมโยงการตลาด มีการจัดทำแผนธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือสินเชื่อต่างๆ ได้ การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านระบบสารสนเทศ และประเด็นสุดท้ายคือ การส่งเสริมการจัดทำแปลงเรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยบูรณาการกับหน่วยงานวิชาการในพื้นที่ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งเสริมการผลิตกาแฟคุณภาพ ภายใต้ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันดำเนินการแล้วรวม 54 แปลง โดยในภาคใต้มีจำนวน 15 แปลง ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา ตรัง กระบี่ นครศรีธรรมราช จังหวัดละ 1 แปลง จังหวัดชุมพร 3 แปลง และจังหวัดระนอง 8 แปลง โดยการพัฒนาแปลง มุ่งเน้นการถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกร โดยสนับสนุนให้มีการบริหารจัดการร่วมกัน โดยรวมกันผลิต และรวมกันจำหน่าย มีตลาดรองรับที่แน่นอน โดยใช้แนวทางการพัฒนา Smart Group นายชนะ มณีอ่อน กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอขอบคุณกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ช่วยผลักดันให้กลุ่มได้เข้าร่วมโครงการยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณวงเงิน 3 ล้านบาท โดยจะนำไปต่อยอดในการแปรรูป พัฒนาผลิตภัณฑ์ เชื่อมโยงตลาด และจัดหาเครื่องจักรกลไว้ใช้ในกลุ่ม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้เป็นสินค้า GI เพื่อการส่งออก นอกจากนี้แปลงใหญ่เรายังได้เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในชุมชน เพื่อให้ความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้นต่อไป