20 เม.ย. 64 ที่สถาบันคึกฤทธิ์ มีการจัดพิธีรำลึกถึงคุณูปการ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เนื่องในวันคล้ายวันเกิด 20 เมษายน 2564 ครบ 110 ปี ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในขณะนี้ มูลนิธิคึกฤทธิ์80 ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้จัดพิธีรำลึกถึงคุณูปการศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช แบบเรียบง่าย โดยมีกรรมการมูลนิธิเข้าร่วมพิธี คุณอัจฉรา คำเมือง ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล คุณรัชนี ก้านทองกูล มีการรำเพลงช้าเพลงเร็วโดยนักศึกษาฝึกงานจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และตัวแทนของนักเรียนศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์ ด้าน ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล กรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์80 ในพระราชูปถัมภ์ฯ ได้ลงบทความ 20 เมษายน “วันคึกฤทธิ์” ทางเฟซบุ๊ก เพจสถาบันคึกฤทธิ์ 20 เมษายน “วันคึกฤทธิ์” “เมื่อโลกนี้ไม่มีคนชื่อคึกฤทธิ์ มันจะผิดแปลกไปที่ไหนนั่น ทิวาวารยังแจ้งแสงตะวัน ยามราตรีมีพระจันทร์กระจ่างตา” กลอนข้างต้นนี้ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แต่งไว้ล่วงหน้าสัก 10 ปี ก่อนที่ท่านจะถึงแก่อสัญกรรม ในวันที่ 9 ตุลาคม 2538 ขณะที่มีอายุ 84 ปี เนื่องจากวันเกิดของท่านคือวันที่ 20 เมษายน 2454 แต่ถ้านับถึง พ.ศ. 2564 นี้ ท่านก็จะมีอายุได้ 110 ปีพอดี ซึ่งเป็นเวลาที่ยาวนานจนหลายคนอาจจะจำเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไม่ได้แล้ว ในช่วงที่ท่านจบการศึกษาจากประเทศอังกฤษใน พ.ศ. 2476 ท่านก็คือคนรุ่นใหม่ในยุคนั้น เช่นเดียวกันกับคนรุ่นใหม่ในทุกยุคสมัยที่ตั้งความหวังไว้มากมาย เกี่ยวกับสังคมของเขา ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็มีความฝันมากมายเกี่ยวกับประเทศไทย ท่านฝันเห็นประชาธิปไตย ฝันเห็นความสุขในชีวิตแบบไทยๆ และฝันเห็นความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เคียงคู่อยู่กับคนไทย และท่านก็ได้ต่อสู้มาในแนวทางนั้น ท่านได้ชื่อว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตย จนได้ฉายาว่า “เสาหลักประชาธิปไตย” ท่านส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย จนได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ ท่านได้ชื่อว่าเป็นผู้เทิดทูนพระมหากษัตริย์ อย่างที่เรียกว่า “เลือดสีน้ำเงิน” ผลงานของท่านเป็นที่รับรู้ไปถึงในระดับนานาชาติ จนกระทั่งได้รับการยกย่องจาก องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน สถาบันคึกฤทธิ์ ภายใต้การบริหารงานของมูลนิธิคึกฤทธิ์80 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รำลึกถึงคุณูปการดังกล่าว จึงได้จัดงานเพื่อรำลึกถึงท่าน ในวันที่ 20 เมษายน ของทุกปี เรียกว่า “วันคึกฤทธิ์” ซึ่งในปีนี้ภาวะโรคระบาดโควิด 19 ยังคงรุนแรงอยู่ จึงได้เพียงแต่จัดพิธีสักการะหน้ารูปปั้นของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ในบริเวณอาคารของสถาบันฯ โดยหวังให้ดวงวิญญาณของท่านได้รับรู้ว่าคนรุ่นหลังยังระลึกถึงคุณงามความดีของท่านนั้น อยู่เสมอ สังคมไทยเป็นสังคมที่พร้อมด้วยกตัญญุตาธรรม การได้รำลึกถึงผู้ประกอบคุณงามความดีทั้งหลาย จึงถือเป็นการรักษาวัฒนธรรมอันดีงามนั้น ให้คงอยู่คู่สังคมไทยตลอดไป รวมถึงความคงอยู่ของบุคคลอันเป็นที่เคารพรักทั้งหลาย ดังท่อนท้ายของบทกลอนอันเป็นบทนำของข้อเขียนนี้ที่ว่า “คนที่รักคึกฤทธิ์อย่าคิดระอา เพียงนึกถึงก็จะมาอยู่ข้างกาย คอยเฝ้าปลอบประโลมใจในยามทุกข์ เมื่อมีสุขก็จะร่วมอารมณ์หมาย เมื่อรักแล้วไหนจะขาดสวาสดิ์วาย ถึงตัวตายใจยังชิดมวลมิตรเอย”