รมว.เกษตรฯ จับมือภาคี คุมเข้มทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาดได้เป็นผลสำเร็จ เตรียมถอดเป็นโมเดลป้องกันทุเรียนอ่อนในภาคใต้ต่อไป
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่มักจะเกิดปัญหาการเร่งตัดทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ตลาดมากในช่วงต้นฤดูกาล เพื่อจำหน่ายทำกำไร ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาทุเรียนทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อทุเรียนไทยในสายตาผู้บริโภค รวมทั้งเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนเมื่อถูกกดราคาจากผู้รับซื้อ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความห่วงใยในเรื่องคุณภาพ และปัญหาด้านการตลาดของทุเรียนดังกล่าว จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อน โดยเฉพาะในภาคตะวันออกซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ และได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับหน่วยงานภาคี ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงมหาดไทย สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก สมาคมทุเรียนไทย ผู้ประกอบการส่งออก ภายใต้การกำกับของผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมกันวางมาตรการเพื่อควบคุมและป้องกันปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) พร้อมจัดตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อช่วยกันสกัดกั้นทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน)ในจังหวัดแหล่งผลิตที่สำคัญของภาคตะวันออก คือ จังหวัดจันทบุรี ระยอง และจังหวัดตราด และได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ให้บริการตรวจสอบความสุกแก่ของทุเรียนให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด
โดยยึดเกณฑ์ดังนี้ พันธุ์หมอนทอง เปอร์เซ็นต์แป้งต้องได้ 32% ของน้ำหนักแห้งขึ้นไป พันธุ์ชะนี เปอร์เซ็นต์แป้งต้องได้ 30 % ของน้ำหนักแห้งขึ้นไป พันธุ์กระดุม เปอร์เซ็นต์แป้งต้องได้ 27 % ของน้ำหนักแห้งขึ้นไป และพันธุ์พวงมณี เปอร์เซ็นต์แป้งต้องได้ 30% ของน้ำหนักแห้งขึ้นไป เมื่อทุเรียนที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว สำนักงานเกษตรอำเภอจะออกใบรับรองเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งของเนื้อทุเรียนเฉพาะตัวอย่างแนบไปกับรถขนส่งทุเรียนเข้าโรงคัดบรรจุพร้อมสำเนาใบรับรองแหล่งผลิต GAP พืช เพื่อคุมเข้มสกัดกั้นไม่ให้ทุเรียนอ่อนออกนอกพื้นที่ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้รับซื้อ รวมทั้งกำหนดประกาศดีเดย์ให้วันที่ 10 เมษายน 2564 ที่ผ่านมาเป็น “วันทุเรียนแก่” เพื่อเป็นสัญลักษณ์วันเริ่มต้นที่ทุเรียนคุณภาพจะออกสู่ตลาด
ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับผลการวางมาตรการเพื่อควบคุมและป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ภาคตะวันออกนี้ พบว่า มาตรการดังกล่าวส่งผลดีต่อทั้งเกษตรกรในการเตรียมความพร้อมการเก็บเกี่ยวผลผลิต ปี 2564 ผู้ประกอบการ ล้ง มือตัดทุเรียนสามารถกำหนดระยะเวลาการตัด และปริมาณผลผลิตที่พอดีกับความต้องการของตลาดได้ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าจะได้รับประทานทุเรียนที่มีคุณภาพ รวมทั้งเกิดความร่วมมือจากผู้รวบรวมเพื่อการส่งออก (ล้ง) ผู้ซื้อ-ขายในตลาดกลาง ผู้จำหน่ายทุเรียนริมทาง ตลาดนัด ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในการปฏิบัติตามตามประกาศจังหวัด
รวมทั้งเจ้าหน้าที่ได้นำองค์ความรู้ไปปฏิบัติจริงร่วมกับชุดปฏิบัติการตรวจสอบทุเรียนด้อยคุณภาพ มีบ้างที่เกษตรกรบางรายยังไม่ยอมรับในผลการตรวจ เนื่องจากใช้ความรู้สึกเกี่ยวกับสีของเนื้อทุเรียนมาเปรียบเทียบ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เนื่องจากเห็นว่าเป็นแนวทางการเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้ทุเรียนมีคุณภาพมากขึ้นและมีตลาดที่ดีในอนาคต ดังนั้นในภาพรวมถือได้ว่า มาตรการดังกล่าวประสบความสำเร็จด้วยดีสามารถควบคุมทุเรียนอ่อนได้ในระดับที่น่าพอใจมาก และจากผลสำเร็จที่เกิดขึ้นกับมาตรการป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ภาคตะวันออก กรมส่งเสริมการเกษตรจะนำมาถอดเป็นโมเดล เพื่อเตรียมการขยายผลไปสู่ทุเรียนภาคใต้ ที่จะมีผลผลิตออกในช่วงเดือนกรกฎาคมที่จะมาถึงอีกด้วย