จากภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนศิลปหัตถกรรมไทยในทุกมิติ เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT จึงเดินหน้ายกระดับภูมิปัญญาและพัฒนาวงการหัตถกรรมไทยในภูมิภาคต่างๆ โดยเมื่อเร็วๆนี้ นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่สัมผัสงานศิลปหัตถกรรมที่มีความโดดเด่นประเภทงานทอและงานจักสาน ภายใต้กิจกรรม "หัตถศิลป์ถิ่นใต้ จากใจย่ายาย สู่เครือข่ายคนรุ่นใหม่" ที่ จ.ตรัง * มุ่งหน้าสู่ "สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย" นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT เป็นองค์การมหาชน จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมงานด้านศิลปาชีพและผลักดันส่งออกต่างประเทศ ซึ่งภายหลังจากที่ได้เข้ามาเป็นผู้อำนวยการได้มองดูแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้ใช้ความคล่องตัวขององค์การมหาชนทำงานอย่างให้สัมฤทธิ์ผล ทั้งนี้ "องค์การมหาชน" กับ "หน่วยราชการ" ต่างกัน โดยหน่วยราชการมีขอบเขตความรับผิดชอบ มีกฎระเบียบ แต่องค์การมหาชนสามารถทำงานได้คล่องตัวกว่า เช่น ภารกิจที่ต้องดูแลงานศิลปหัตถกรรมสามารถจัดการได้ทั้งระบบ ซึ่งเราจะนำจุดแข็งนี้มาส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมให้เดินหน้า และจากแนวทางดังกล่าวนี้จะได้นำไปสู่การปฏิรูปองค์กรในเวลาอันใกล้โดยหลักการได้ผ่านมติครม. แล้ว โดยจะเปลี่ยนชื่อเป็น "สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย" นายพรพลกล่าวอีกว่า จากสถานการณ์โควิด19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลก ศศป. มองตรงนี้เป็นโอกาสในการปรับองค์กร ด้วยการเริ่มจัดระบบ วางมาตรฐาน โดยใช้มาตรฐานต่างประเทศมากำหนดงานหัตถกรรม เพื่อให้เข้าสู่มาตรฐานในระดับสากลและพร้อมที่จะส่งออกต่างประเทศได้ นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมเรื่องการตลาด เพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ๆผ่านสื่อออนไลน์ รวมทั้งเชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมพัฒนาในแต่ละแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อที่จะผลักดันให้งานศิลปหัตกรรมไทยไปสู่ในจุดที่คนสนใจ รวมถึงโลกสนใจให้ได้
งานหัตถกรรมไทยส่วนใหญ่เป็นงานที่ส่งเสริมแต่ไม่ได้สร้างความยั่งยืน ดังนั้นแนวคิดในการทำงานต่อไปศศป.จะลงพื้นที่ชุมชน ศึกษาปัญหาต่างๆตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
วิเคราะห์จุดเด่นจุดด้อย รวมถึงจุดที่ต้องเข้ามาช่วย โดยศศป.จะทำหน้าที่ประสานเชิญผู้ที่มีความรู้ความสามารถจากทุกๆหน่วยงาน เข้ามาทำงานร่วมกันโดยวางเป้าหมายที่ชัดเจนต่อไป" นายพรพล กล่าว * หัตถศิลป์ถิ่นใต้ จากใจย่ายาย สู่เครือข่ายคนรุ่นใหม่ หนึ่งในงานงานศิลปหัตถกรรมในพื้นที่ภาคใต้ ที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ โดยสั่งสมทักษะเชิงช่างและภูมิปัญญามายาวนานสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นอยู่คู่ชาวตรังมากว่า 200 ปี คือ "ผ้าทอนาหมื่นศรี" โดยชาวบ้านในชุมชนได้รวมกลุ่มกันจัดตั้ง "ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี" เพื่อคงไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมนี้ไว้ โดยมี นางลัดดา ชูบัว ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี 2562 ของ SACICT ผู้ซึ่งสานต่อเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์ผ้าทอนาหมื่นศรีของ ครูกุศล นิลลออ ครูศิลป์ของแผ่นดินปี 2554 ของ SACICT (เสียชีวิตแล้ว) โดยเอกลักษณ์ของผ้าทอนาหมื่นศรีใช้เทคนิคการทอที่ขึ้นชื่อว่ายากมาก โดยเฉพาะลายแก้วชิงดวง นอกจากนี้ยังเน้นการใช้ สีแดง-เหลือง ซึ่งเป็นคู่สีที่ตัดกันและสร้างความสดใสและเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว ปัจจุบันผ้านาหมื่นศรีมีลวดลายมากถึง 32 ลาย เป็นลายเกี่ยวกับสัตว์และลายจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว ที่น่าสนใจยังมีการสืบสานส่งต่องานผ้าทอนาหมื่นศรีไปยังเยาวชนในสถาบันการศึกษาในท้องถิ่น ผ่านการเรียนการสอนการทอผ้าเชื่อมโยงชุมชน รวมทั้งยังมีมัคคุเทศก์น้อยให้บริการแก่ผู้มาเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ฯอีกด้วย ลัดดา ชูบัว ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี 2562 นางลัดดา ชูบัว ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี 2562 กล่าวว่า ส่วนตัวเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว ซึ่งแต่ละรุ่นมีการพัฒนาลายที่แตกต่างกันออกไป ปัจจุบันศศป.ได้มาช่วยพัฒนาต่อยอดลายเก่ามาเป็นลายใหม่ ไม่ซับซ้อนมากแต่ตอบรับกับตลาด โดยสินค้าที่ขายดีเป็นผ้ายกดอก ผ้าขาวม้า พรพล เอกอรรถพร - ครูอ๊ะ หลงกลาง ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2556 ของ SACICT  อีกหนึ่งงานหัตถศิลป์ที่สร้างชื่อให้ จ.ตรัง คือ "จักสานเตยปาหนัน" โดย ครูอ๊ะ หลงกลาง ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2556 ของ SACICT รวมกลุ่มในชุมชนบ้านนาชุมเห็ด โดยใช้เตยทุ่งซึ่งเป็นพืชธรรมชาติพื้นถิ่น มีความยืดหยุ่นและทนทานนำมาสร้างสรรค์เสื่อวงกลมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสานหมวกขึ้นรูปเป็นชิ้นเดียวโดยไม่มีรอยต่อ และที่โดดเด่นเป็นจุดขายสำคัญคือการสานเป็นตัวอักษร ซึ่งสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องใช้ เช่น กระเป๋าในรูปแบบ Word-Bags ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันได้ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มจักสานของตรังที่สามารถพัฒนาตนเองจนเป็นที่ยอมรับของตลาดอย่าง นางจันทร์เพ็ญ ปูเงิน สมาชิก SACICT คนรุ่นใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม รวมกลุ่มสตรีมุสลิมบ้านดุหุน มาทำงานหัตถกรรมเพื่อต่อลมหายใจให้ครอบครัวจนกลายเป็นอาชีพหลัก โดยใช้วัตถุดิบเป็นเตยทะเลซึ่งเป็นพืชที่ขึ้นเองตามริมหาดชายทะเลหรือป่าโกงกาง มาจักสานและแปรรูป โดยเน้นการออกแบบเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน ความเรียบง่ายของลายสานที่ดูร่วมสมัย นางจันทร์เพ็ญ ปูเงิน สมาชิก SACICT กล่าวว่า ชุมชมของเราอยู่ใน ต.บ่อหิน ถ้าออกไปจากนี้ประมาณ 2 กม. จะเป็นริมฝั่งอันดามัน ซึ่งเป็นแหล่งของต้นเตยปาหนัน งานดั้งเดิมต่างๆมีหลายผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับวิถีชุมชนหรือวิถีชาวบ้าน ต่อมาได้เข้าสู่กระบวนการของรัฐจึงได้เพิ่มศักยภาพ เพิ่มความรู้ต่างๆจนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์หนึ่งในนั้นคือ ศศป. โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำงานเชื่อมโยงกับศศป.ได้ลงพื้นที่มาที่นี่ ช่วยพัฒนาดึงศักยภาพเตยปาหนันสู่สากล สามารถทำให้สินค้าพื้นถิ่นสามารถเป็นสินค้าส่งออกต่างประเทศได้ จันทร์เพ็ญ ปูเงิน สมาชิก SACICT - พรพล เอกอรรถพร "งานสานเตยปาหนันของเราเป็นวัสดุพื้นถิ่นมีกระบวนการทำที่ยุ่งยากหลายขั้นตอน ตัวใบเตยมีหนามสามด้าน การทำเส้นใย ทำยากใช้เวลาหลายวัน มีความพิถีพิถันมาก ซึ่งตอนนี้เรากำลังประสานความร่วมมือกับหลายๆหน่วยงานที่จะลดทอนหรือช่วยสนับสนุนให้กระบวนการที่ยากเหล่านี้ง่ายขึ้น เพื่อผลักดันให้คนหันมาสนใจงานหัตถกรรมมากขึ้น ปัจจุบันทางกลุ่มมีการจำหน่ายผ่านงานแสดงสินค้าต่างๆ และรับออดอร์ ซึ่งเบื้องหลังความสวยงามสินค้าเตยปาหนันหลายๆแบรนด์ ส่วนใหญ่มาจากบ้านดุหลุน" นางจันทร์เพ็ญ กล่าว กิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากจะได้สัมผัสกับงานศิลปหัตถกรรมที่มีความโดดเด่นใน จ.ตรัง ยังได้เห็นความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและสนับสนุนศิลปหัตถกรรมไทยของ SACICT ซึ่งได้เตรียมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่น จ.ตรัง เช่น สถาบันการศึกษา ศูนย์การเรียนรู้ และชุมชน โดยมีครูศิลป์ของแผ่นดิน และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม เป็นศูนย์กลางการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยใช้เทคโนโลยีบางอย่างมาใช้ ขณะที่ยังคงคุณค่าของภูมิปัญญาไว้แต่ทำให้ได้ชิ้นงานที่มากขึ้น นอกจากนี้นำนวัตกรรมมาช่วยเรื่องการใช้งาน เช่น การเคลือบนาโนในงานผ้าเพื่อเพิ่มอายุการใช้งาน ช่วยแก้ปัญหาผ้าไม่ยับและซักรีดดูแลได้ง่ายขึ้น ส่วนงานจักสานเคลือบวัสดุบางชนิดเพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องราและเพิ่มความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นจุดอ่อนของงานสาน * มุมมองคนรุ่นใหม่และภาคธุรกิจ ด้านตัวแทนคนรุ่นใหม่ นายจิรวัฒน์ วิระพรสวรรค์ ผู้จัดการ Kachong Hills Tented Resort ซึ่งได้นำงานศิลปหัตถกรรมในท้องถิ่น จ.ตรัง ทั้งงานผ้า งานไม้ และงานจักสานมาใช้ประโยชน์อย่างกลมกลืนในธุรกิจรีสอร์ท กล่าวว่า "กระช่องฮิลล์" มีแนวคิดที่ต้องการสื่อสารคุณค่าของธรรมชาติและทรัพยากร จ.ตรัง โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.นาโยง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมสูงมาก จึงอยากเชื่อมโยงความเป็นวัฒนธรรมและชุมชนอยู่ในรีสอร์ท รวมทั้งบอกเล่าเรื่องราว ของผ้านาหมื่นศรีทุกผืนและเสื่อปาหนันให้ผู้ที่มาพักได้ซึมซับ โดยหัตถกรรมทั้งหมดได้นำมาประยุกต์ให้เข้ากับที่พัก รวมถึงยูนิฟอร์ม ซึ่งเราพยายามให้อยู่ทุกอณูของรีสอร์ท นอกจากนี้ยัง ใช้ความเป็นคนรุ่นใหม่ แฟชั่นใหม่ ไลฟ์สไตล์ใหม่ ไอเดียใหม่ๆ ออกมาครีเอทสินค้า และเชื่อว่าคนในยุคนี้น่าจะกลับเข้ามาเสพสินค้าหัตถศิลป์อีกแน่นอน ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียง "สินค้า" แต่ยังเป็น "คุณค่า" อีกด้วย (ขวาสุด) จิรวัฒน์ วิระพรสวรรค์ ผู้จัดการ Kachong Hills Tented Resort บรรยากาศ  Kachong Hills Tented Resort หนึ่งในองค์กรที่มุ่งมั่นสืบสานงานหัตถศิลป์ไทยอย่างรอบด้าน เพื่อคงไว้ซึ่งภูมิปัญญาและความสามารถเชิงช่างชั้นสูงในงานศิลปหัตถกรรมไทยให้อยู่คู่แผ่นดินไทยสืบไป