ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ชำนาญด้านโครงการและแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนและ ท่าอากาศยานได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ -Drsamart Ratchapolsitte โดยมีเนื้อหาดังนี้...สะกิด รฟม. แจงค่าโดยสารต่อกิโลเมตร พลาด! เหตุ “คิดระยะทางผิด” เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ชี้แจงกรณีที่ผม (ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์) ได้แสดงผลการคำนวณค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่อกิโลเมตร ซึ่งพบว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกกว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินรวมกับสายสีม่วงนั้น รฟม. แย้งว่า ข้อเท็จจริงไม่เป็นไปตามที่กล่าวอ้าง แปลความได้ว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินรวมกับสายสีม่วงถูกกว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ด้วยเหตุนี้ ผมจึงจำเป็นต้องสะกิดบอก รฟม.ว่า รฟม. พลาด! เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่อกิโลเมตรคำนวณได้โดยใช้ค่าโดยสารหารด้วยระยะทาง แต่ในกรณีนี้ซึ่งมีการกล่าวหาว่าค่าโดยสารสูงสุดของรถไฟฟ้าสายสีเขียว 65 บาท แพงกว่าค่าโดยสารสูงสุดของรถไฟฟ้าสายอื่น จึงต้องใช้ค่าโดยสารสูงสุดหารด้วยระยะทางไกลสุด (ที่สามารถเดินทางได้ด้วยค่าโดยสารสูงสุดบนเส้นทางปกติ) เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบค่าโดยสารสูงสุดต่อกิโลเมตรได้ ในกรณีที่เป็นประเด็นอยู่นี้ เหตุที่ทำให้การคำนวณค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่อกิโลเมตรได้ผลไม่เท่ากันก็คือคิดระยะทางต่างกัน กล่าวคือ รฟม. คิดระยะทางเดินทางบนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินรวมกับสายสีม่วงได้ไกลสุด 59 กิโลเมตร ด้วยค่าโดยสารสูงสุด 70 บาท แต่ผมคิดระยะทางได้ไกลสุด 44 กิโลเมตร รฟม. คิดระยะทางอย่างไร? รฟม. ไม่ได้บอกรายละเอียดว่าเป็นการเดินทางจากสถานีไหนไปถึงสถานีไหน แต่ผมคาดว่าคงเป็นการเดินทางจากคลองบางไผ่ (บางใหญ่)-หลักสอง (บางแค) โดยเดินทางจากคลองบางไผ่-เตาปูน ระยะทาง 23 กิโลเมตร ใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วง ค่าโดยสาร 42 บาท และจากเตาปูน-หลักสอง ระยะทาง 36 กิโลเมตร ใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ค่าโดยสาร 28 บาท (ยกเว้นค่าแรกเข้า 14 บาท) รวมระยะทางทั้งหมด 59 กิโลเมตร ซึ่งเป็นการเดินทางอ้อมในช่วงเตาปูน-หลักสอง เพราะต้องนั่งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินผ่านถนนรัชดาภิเษก หัวลำโพง เยาวราช ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ไปโผล่ที่ท่าพระ ไปจนถึงหลักสอง ผู้โดยสารทั่วไปจะไม่เลือกเส้นทางดังกล่าว เพราะเสียเวลาโดยใช่เหตุ แต่เขาจะเลือกเดินทางจากเตาปูนโดยใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน วิ่งผ่านถนนจรัญสนิทวงศ์ ท่าพระ ไปจนถึงหลักสอง ระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร ซึ่งสั้นกว่าเส้นทางที่วิ่งผ่านถนนรัชดาภิเษกถึง 15 กิโลเมตร ดังนั้น ระยะทางรวมทั้งหมดจากคลองบางไผ่-หลักสอง เท่ากับ 44 กิโลเมตร ไม่ใช่ 59 กิโลเมตร ดร.สามารถ คิดระยะทางอย่างไร? ดร.สามารถ คิดระยะทางที่สามารถเดินทางได้ไกลสุดด้วยค่าโดยสารสูงสุด 70 บาท คือจากคลองบางไผ่-หัวลำโพง ได้ระยะทาง 44 กิโลเมตร กล่าวคือจากคลองบางไผ่-เตาปูน ระยะทาง 23 กิโลเมตร ใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วง ค่าโดยสาร 42 บาท และจากเตาปูน-หัวลำโพง ระยะทาง 21 กิโลเมตร ใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ค่าโดยสาร 28 บาท (ยกเว้นค่าแรกเข้า 14 บาท) เปรียบเทียบระยะทางระหว่าง รฟม. กับ ดร.สามารถ รฟม. คิดระยะทางจากคลองบางไผ่-หลักสอง ได้ 59 กิโลเมตร ซึ่งเป็นทางอ้อมผ่านถนนรัชดาภิเษก คงไม่มีผู้โดยสารคนใดใช้ทางอ้อมนี้ ที่ถูกต้องจะต้องใช้เส้นทางที่สั้นกว่าโดยวิ่งผ่านถนนจรัญสนิทวงศ์ได้ระยะทางประมาณ 44 กิโลเมตร ดร.สามารถ คิดระยะทางจากคลองบางไผ่-หัวลำโพงได้ 44 กิโลเมตร ซึ่งเท่ากับระยะทางจากคลองบางไผ่-หลักสอง (ผ่านถนนจรัญสนิทวงศ์) ดังนั้น สรุปได้ว่า ด้วยค่าโดยสาร 70 บาท จะสามารถเดินทางได้ไกลสุด 44 กิโลเมตร ระหว่างรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินรวมกับสายสีม่วง สายไหนถูกกว่า? รถไฟฟ้าสายสีเขียว ค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท เดินทางได้ไกลสุดคือจากคูคต-เคหะสมุทรปราการ ระยะทาง 53 กิโลเมตร คิดเป็นค่าโดยสารเฉลี่ย 1.23 บาทต่อกิโลเมตร สายสีน้ำเงินรวมกับสายสีม่วง ค่าโดยสารสูงสุด 70 บาท เดินทางได้ไกลสุด 44 กิโลเมตร คือจากคลองบางไผ่-หัวลำโพง หรือจากคลองบางไผ่-หลักสอง (ผ่านถนนจรัญสนิทวงศ์) คิดเป็นค่าโดยสารเฉลี่ย 1.59 บาทต่อกิโลเมตร จากการเปรียบเทียบจะเห็นได้ว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกกว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินรวมกับสายสีม่วง 36 สตางค์ต่อกิโลเมตร ระหว่างรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายไหนถูกกว่า? รฟม. ได้แถลงข่าวไปก่อนหน้านี้ (วันที่ 17 เมษายน 2564) ว่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีค่าโดยสารเฉลี่ย 0.88 บาทต่อกิโลเมตร แต่ผมเห็นต่าง เพราะเป็นการคิดที่คลาดเคลื่อน เนื่องจาก รฟม. คิดระยะทางได้ 48 กิโลเมตร จึงใช้ค่าโดยสารสูงสุด 42 บาท หารด้วยระยะทาง 48 กิโลเมตร ได้ค่าโดยสารเฉลี่ย 0.88 บาทต่อกิโลเมตร การใช้ระยะทาง 48 กิโลเมตรนั้นไม่ถูกต้อง เพราะเป็นระยะทางยาวทั้งหมดของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งในความเป็นจริง ผู้โดยสารที่เสียค่าโดยสารสูงสุด 42 บาท ไม่ได้ต้องการที่จะเดินทางให้ครบทุกสถานีหรือตลอดระยะทาง 48 กิโลเมตร แต่เขาต้องการที่จะเดินทางตามความจำเป็นของเขาจากสถานีหนึ่งไปอีกสถานีหนึ่ง ซึ่งเขาสามารถเดินทางได้ไกลสุดจากหลักสอง-สุทธิสาร ระยะทาง 26 กิโลเมตร ดังนั้น จะได้ค่าโดยสารเฉลี่ย 1.62 บาทต่อกิโลเมตร ไม่ใช่ 0.88 บาทต่อกิโลเมตร ตามที่ รฟม. แถลง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเฉลี่ย 1.23 บาทต่อกิโลเมตร พบว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกกว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 39 สตางค์ต่อกิโลเมตร สรุป 1. ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกกว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 39 สตางค์ต่อกิโลเมตร 2. ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกกว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินรวมกับสายสีม่วง 36 สตางค์ต่อกิโลเมตร