กลุ่มแปลงใหญ่มังคุดตำบลคมบาง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมังคุด ตามนโยบายระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ของรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2561 พื้นที่ของตำบลคมบางมีความโดดเด่นในเรื่องของมังคุดร้อยปี การปลูกมังคุดเป็นรายได้หลักของเกษตรกรในชุมชน
การรวมกลุ่มเกิดจากที่เกษตรกรมีปัญหาเหมือนกัน คือ เดิมทำการเกษตรแบบต่างคนต่างขาย ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด และถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ทำให้ราคามังคุดตกต่ำ จึงเกิดการรวมตัวกันเพื่อเพิ่มพูนทักษะ และองค์ความรู้ ทั้งในด้านการผลิต การตลาด และการแปรรูป โดยได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ต่างๆ จากกรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี สำนักงานเกษตรอำเภอเมือง เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตมังคุดที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 72 ราย พื้นที่การผลิตมังคุดของสมาชิกมีจำนวน 437 ไร่ มี นายกมล ไพบูลย์ เป็นผู้จัดการแปลงใหญ่ โดยดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การรวบรวม คัดแยก และการดำเนินกิจกรรมด้านการตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่มังคุด โดยเน้นการประมูลมังคุดเป็นหลัก จนในกระทั่งปี 2563 จึงเกิดแนวคิดที่จะต่อยอดด้านผลิตภัณฑ์งานแปรรูปและดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
วัตถุประสงค์ของกลุ่มแปลงใหญ่มังคุด คือ 1.เพื่อพัฒนารูปแบบการดำเนินการ การบริหารจัดการ การคัดแยก การตลาดให้มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด 2.เพื่อพัฒนา ต่อยอดผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าและเชื่อมโยงตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ 3.เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกและคนในชุมชน 4.เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของสมาชิก 5.เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นแหล่งเรียนรู้แก่เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจในกระบวนการด้านการผลิตมังคุด
รวมไปถึงการสร้างผลผลิตมูลค่าเพิ่มจากมังคุดจึงเกิดแนวคิดการพัฒนาและการแปรรูปผลผลิต เนื่องจากในแต่ละปีนั้น มีผลผลิตตกค้าง อาทิเช่น มังคุดตกเกรด ตกดิน แตกที่ไม่สามารถนำออกจำหน่ายได้ ดังนั้นทางกลุ่มจึงมีการสร้างมูลค่าเพิ่ม นำมังคุดมาแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆ ซึ่งปัจจุบันนั้นกลุ่มแปลงใหญ่มังคุดตำบลคมบาง มีผลิตภัณฑ์ที่มีจากเปลือกมังคุด ดังรายการต่อไปนี้ เปลือกมังคุดบดผง,สารสกัดเข้มข้นจากเปลือกมังคุด,น้ำส้มสายชูหมักจากมังคุด,สครัปทำความสะอาดผิวหน้าและผิวกายจากสารสกัดเปลือกมังคุด,สเปรย์ฆ่าเชื้อจากสารสกัดมังคุด,ย่ามมังคุดและย่ามแฟชั่น เป็นต้น โดย มังคุด ถือว่าเป็นรายได้หลักๆ ของเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดในชุมชนตำบลคมบางและพื้นที่ใกล้เคียง
กลุ่มแปลงใหญ่ดำเนินงานด้านการตลาด โดยเน้นขายมังคุดผลสด ใช้กลยุทธ์การจัดประมูลมังคุด ซึ่งเป็นการคัดสรรมังคุดตามระดับชั้นคุณภาพ ในช่วงฤดูกาลผลิตปีที่ผ่านมา ปริมาณรวม 254,384.10 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 8,994,744.84 บาท เทียบมูลค่าจากตลาดทั่วไป 6,488,940.75 บาท คิดเป็นมูลค่าเพิ่ม 2,455,804.08 บาท หรือ มีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 9.65 ทั้งนี้กลุ่มได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นหนึ่งในห้ากลุ่ม ภายใต้ “โครงการจันทบุรีโมเดล” เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งเชื่อมโยงตลาดทั้งภายในและนอกประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้ให้คนในชุมชนเพิ่มขึ้น 10,000 บาทต่อเดือน ต่อครัวเรือน