NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ ปริศนาของกระจุกดาวทรงกลม M53 ทั้งที่มันควรจะเต็มไปด้วยดาวฤกษ์อายุมากสีแดง แต่กลับมี #ดาวฤกษ์สีฟ้า ที่ดูเหมือนอายุน้อยปะปนอยู่ด้วย หมายความว่ายังไงกันแน่นะ กระจุกดาวทรงกลม (Globular cluster) ที่เราเห็นในภาพนี้รู้จักกันในชื่อ “M53” หรือ “NGC 5024” เป็นหนึ่งในกระจุกดาวทรงกลมที่มีอยู่ราว 250 แห่งในกาแล็กซีทางช้างเผือก หากดวงอาทิตย์ของเราเป็นหนึ่งในสมาชิกของกระจุกดาวนี้ ท้องฟ้ายามค่ำคืนที่เรามองเห็นบนโลกคงเปล่งประกายด้วยดวงดาวระยิบระยับไปทั้งฟ้า ราวกับจ้องมองเข้าไปในกล่องอัญมณีแห่งดวงดาวเลยทีเดียว ดาวส่วนใหญ่ใน M53 จะเป็นดาวที่มีอายุมากและมีสีแดงมากกว่าดวงอาทิตย์ของเรา เนื่องจากกระจุกดาวทรงกลมมักจะเกิดขึ้นจากการยุบตัวของกลุ่มแก๊สขนาดใหญ่ที่มีอยู่เฉพาะในเอกภพยุคแรกเริ่ม ให้กำเนิดดาวฤกษ์จำนวนมากพร้อม ๆ กัน ดาวในกระจุกดาวทรงกลมส่วนใหญ่จึงเป็นดาวที่มีอายุมาก และสีของดาวเกือบทั้งหมดจะเป็นดาวที่มีสีแดงตามวิวัฒนาการในช่วงอายุของดาวฤกษ์ทั่วไปนั่นเอง ซึ่งจะต่างกับกระจุกดาวเปิด (Open cluster) ที่เกิดจากการยุบตัวของกลุ่มแก๊สที่มีขนาดเล็กกว่าในยุคถัดมา ซึ่งในยุคนั้นแทบไม่มีกลุ่มแก๊สขนาดใหญ่ที่จะสร้างเป็นกระจุกดาวทรงกลมได้อีก ดาวในกระจุกดาวเปิดจึงเป็นดาวที่เป็นสีฟ้าหรือขาว ที่เป็นวิวัฒนาการของดาวที่มีช่วงอายุน้อยกว่าดาวสีแดง แต่ภาพนี้กลับมีสิ่งแปลกประหลาดไปจากสิ่งที่เรารู้อยู่เดิม เพราะในหมู่ดาวฤกษ์สีแดงกลับมีดาวฤกษ์บางดวงที่เป็นสีฟ้า ขัดแย้งกับสมมติฐานที่ว่าดาวในกระจุกดาวทรงกลม M53 ควรก่อตัวขึ้นในเวลาในช่วงยุคแรกเริ่มของเอกภพ ดาวฤกษ์ที่ดูผิดปกติเหล่านี้จึงถูกเรียกว่า “ดาวฤกษ์สีฟ้าผู้พลัดหลง (Blue stragglers)” หลังจากการศึกษาถกเถียงกันอย่างมากมาย ดาวสีฟ้าที่อยู่ในหมู่ดาวสีแดงนี้คาดว่าเป็นดวงดาวที่กลายเป็นดาวสีฟ้าอีกครั้ง จากการกลืนกินมวลสารจากดาวคู่ของมัน โดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล นอกจากนี้ นักดาราศาสตร์ยังสามารถใช้ประโยชน์จากสัดส่วนประชากรของดาวฤกษ์สีฟ้าที่แปลกประหลาดนี้ในการกำหนดอายุของกระจุกดาวทรงกลม และใช้หาขีดจำกัดอายุของเอกภพได้ กระจุกดาวทรงกลม M53 สามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องสองตา หรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก ในกลุ่มดาวผมของเบเรนิช (Coma Berenices) ประกอบด้วยดาวฤกษ์สมาชิกกว่า 250,000 ดวง ทั้งยังเป็นหนึ่งในกระจุกดาวทรงกลมที่อยู่ห่างไกลมากที่สุดจากใจกลางกาแล็กซีของเราอีกด้วย เรียบเรียง : นายภาณุ อุบลน้อย - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา อ้างอิง : https://apod.nasa.gov/apod/ap210207.html