ศบค. แถลงผู้ติดเชื้อใหม่ 1,390 ราย ตายเพิ่ม 3 ราย มีโรคประจำตัว อาการทรุดลงรวดเร็ว เตือนแม้มีอาการเล็กน้อย เสี่ยงตายได้ เมื่อวันที่ 19 เม.ย. เวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ รองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,390 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 1,384ราย จำนวนนี้เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,058ราย และจากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 326ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศอยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 6 รายยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 43,742ราย ยอดหายป่วยสะสม 28,787ราย อยู่ระหว่างการรักษา 14,851ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 3ราย ยอดสะสม 104 ราย สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ราย เป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว กระทั่งเสียชีวิต โดยมีไทม์ไลน์ดังนี้ ผู้เสียชีวิตรายที่ 102 เป็นชายไทย อายุ 56 ปี อาชีพพนักงานเสิร์ฟในสถานบันเทิง กรุงเทพฯ มีโรคประจำตัว คือ โรคความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมองตีบ วันที่ 7 เม.ย.64 เดินทางกลับบ้านที่จังหวัดบุรีรัมย์ วันที่ 13 เม.ย.64 มีอาการไอ ซื้อยามากินเอง นอนพักอยู่ที่บ้าน วันที่ 17 เม.ย.64 มีอาการเหนื่อยเพลียมากขึ้น เวลาประมาณ 16.30 น. จึงไปพบแพทย์ที่คลินิก จนกระทั่งช่วงประมาณ 20.30 น. เริ่มมีหายใจติดขัด ญาติโทรขอความช่วยเหลือจากสายด่วนฉุกเฉินแจ้งรถพยาบาลมารับเข้าโรงพยาบาล แต่อาการแย่ลง เจ้าหน้าที่พยายามทำการฟื้นคืนชีพ แต่ไม่ดีขึ้น ผลตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 18 เม.ย.64 เสียชีวิตในเวลา 00.31 น. ผู้เสียชีวิตรายที่ 103 เป็นหญิงไทย อายุ 84 ปี มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ขณะป่วยอยู่ที่กรุงเทพฯ มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า ซึ่งเป็นหลานชายที่ทำงานในสถานบันเทิงย่านรัชดา และเข้าไปเยี่ยมคุณยายที่บ้านเมื่อวันที่ 3 เม.ย.64 หลังจากนั้นทราบว่าหลานชายติดเชื้อโควิด-19 ส่วนคุณยายเริ่มมีอาการป่วย วันที่ 8 เม.ย.64 มีไข้ ไอ เหนื่อยหอบแพทย์เอ็กซเรย์พบปอดอักเสบรุนแรง แพทย์พิจารณาใส่ท่อช่วยหายใจ วันที่ 10 เม.ย.64 ผลตรวจยืนยันติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 16 เม.ย.64 อาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว ความดันโลหิตตก และเสียชีวิต ผู้เสียชีวิตรายที่ 104 หญิงไทย อายุ 61 ปี อาชีพค้าขายอยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไทรอยด์ วันที่ 6 เม.ย.64 ร่วมรับประทานอาหารกับเพื่อนที่เป็นผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า ที่ติดเชื้อจากสถานบันเทิงในหัวหิน ซึ่งในวันที่ร่วมรับประทานอาหารกัน ยังไม่ทราบว่าเพื่อนติดเชื้อ วันที่ 8 เม.ย.64 เพื่อนโทรแจ้งว่าติดเชื้อ จึงรีบไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 วันที่ 10 เม.ย.64 ผลยืนยันว่าติดเชื้อ วันที่ 11 เม.ย.64 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล วันที่ 18 เม.ย.64 มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เสียชีวิตในเวลาต่อมา “เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้ว่า ขณะที่มีการเจ็บป่วย เราไม่ควรอยู่บ้าน แต่ควรเข้ารับบริการ เข้าสู่กระบวนการรักษาแม้ว่าจะมีอาการเล็กน้อย เพื่อให้ได้การช่วยเหลือดูแล อย่างเช่นผู้เสียชีวิตรายที่ 102 เมื่อมีอาการหนัก เข้าสู่การรักษาพบว่า มีอาการแย่ลงรวดเร็ว กระทั่งชีวิต แพทย์ไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่เราเน้นย้ำเสมอคือการสัมผัสผู้ติดเชื้ออย่างใกล้ชิด เป็นคนในครอบครัว คนที่เราไว้วางใจ ทำให้ไม่ได้ระมัดระวัง จึงเกิดการติดเชื้อ และอย่างที่ทราบดีกว่า กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ก็จะมีความเสี่ยงสูงที่อาการทรุดลงรวดเร็ว นำไปสู่การเสียชีวิตได้ จึงต้องเน้นย้ำประชาชน ระวังการแพร่ระบาดไปสู่คนใกล้ชิด”พญ.อภิสมัย กล่าว