จากกรณีที่ทางจังหวัดยะลาได้กำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสีส้ม ซึ่งทาง สบค.ได้ออกมาตรการยกระดับป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ทั้งพื้นที่สีแดง และพื้นที่สีส้ม โดยมีการปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ อาบอบนวด ร้านอาหาร นั่งรับประทานในร้านได้ งดจำหน่ายและงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พื้นที่สีแดงเปิดไม่เกินเวลา 21.00 น. สีส้มเปิดไม่เกิน 23.00 น. งดกิจกรรมที่มีคนรวมกลุ่มกันเกิน 50 คน กรณีที่จำเป็นให้ขออนุญาตต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร งดกิจกรรมงานเลี้ยง สังสรรค์ ยกเว้นสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน งดการเรียนการสอนในห้องเรียน ปิดสวนสนุกและงดเล่นเครื่องเล่นในห้างสรรพสินค้า ขอความร่วมมือภาคเอกชน Work from Home ให้มากที่สุด เข้มมาตรการองค์กร DMHTT คือ การเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย 100% ล้างมือบ่อย ๆ ตรวจวัดอุณหภูมิ และสแกนไทยชนะ/ หมอชนะ แยกกันรับประทานอาหาร ผู้ที่เดินทางไปต่างจังหวัด ขอความร่วมมือ Work from Home สังเกตอาการ 14 วัน มาตรการอื่น ๆ เป็นไปตามข้อกำหนดใน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 เม.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดยะลา ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดยะลา ได้ออกคำสั่ง ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 จังหวัดยะลา ที่ 15 /2564 เรื่อง การดำเนินการตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 20) เนื่องด้วยสถานการณ์ผู้ติดเชื้อมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมและผู้ติดเชื้อรายใหม่ซึ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการระบาดระลอกใหม่นี้ได้กระจายออกไปในหลายพื้นที่ค่อนข้างรวดเร็วรัฐบาลโดยข้อเสนอของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน รวมทั้ง ปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ในจังหวัดที่ได้ตรวจพบการระบาดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ควบคุม เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการ สกัดกั้นและระงับยับยั้งสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ถือเป็นความผิดต้องรับโทษตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และหรือมีโทษตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ขณะที่ น.ส.ภัทร์ศิญาฏา พานิชจิติกร อายุ 38 ปี เจ้าของร้านแหลกหอย เลขที่ 1 ผังเมือง 4 ต.สะเตง อ.เมืองยะลา จ.ยะลา กล่าวว่า หลังจากโควิด-19 รอบสองมาพึ่งได้ฟื้น ก็ต้องประคองทางร้านดำเนินการตามมาตรการทุกอย่าง พยายามจัดโต๊ะ ไม่ให้แออัด และงดขายแอลกอฮอล์และเวลาปิดร้านก็จะเร็วขึ้น เพื่อเอาเวลาตรงนี้มาประคอง ค่าเช่าร้าน ค่าจ้างลูกน้อง เพราะลูกน้องก็ต้องมีภาระต่างๆ แต่เราก็ต้องปรับเปลี่ยนให้ลูกน้องสลับกันมาทำงาน เพื่อให้ทุกคนมีรายได้ จะไล่ออกก็ไม่ได้ ส่วนผู้ประกอบการก็ต้องชดไปบ้าง อยากให้ทางรัฐช่วยเยียวยาบ้าง เช่น ประณีตประนอม อย่าให้ตึงจนเกินไป เราก็ป้องกันอยู่แล้ว กินร้อนช้อนกลางอยู่แล้ว หรือว่าในครัวเราก็ให้คนทุกคนใส่แมสใส่ไรอยู่แล้ว หรือลูกน้องจะเดินทางไปไหน เราก็ไม่ให้เดินทางไปอยูแล้ว เราป้องกันตระหนักอยู่แล้ว อยากให้ช่วยผ่อนพันธ์ อย่าให้ต้องมีการปิดเกิดขึ้น เพราะถ้าปิดไปค่าเช่าร้านอีก เพราะการลงทุนก็ไม่ได้น้อยๆ ตอนนี้ก็พยายามลงเพจเพื่อให้ซื้อทานกลับบ้านให้มากขึ้น พยายามติดต่อ Food Panda ให้มากขึ้น เพื่อให้อยู่กันได้แค่นี้เอง เพราะที่นี้ก็อยู่แบบระบบครอบครัว ก็อยากให้ทางรัฐช่วยแค่นี้ อย่าให้ต้องปิดกันเลย เพราะทำตามมาตรการทุกอย่าง มีการเช็ค เข้า-ออก และมีการตรวจเช็คอุณหภูมิทุกๆอย่าง และอ่านข่าวอยู่ตลอด และการงดแอลกอฮอล์ก็เขียนหน้าร้านเลย เพื่อให้เขาได้รู้ว่าร้านเราไม่ได้ขายแอลกอฮอล์จริงๆ ทำตามนโยบายของรัฐอยู่ตลอด และฟังข่าวตลอด และปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเหมือนกับพนักงานก็ใส่แมสทุกคนเลย ใครเข้ามาก็พยายามบอกให้เขาใส่แมส และมีแมสแจกให้