ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า...
โควิด-19 เป็นโรคที่เป็นแล้ว เป็นอีกได้
จากการติดตามระยะยาวของภูมิต้านทาน ผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด 19 ที่ศูนย์ฯ ทำอยู่และติดตามมาจะครบ 1 ปีแล้ว ภูมิต้านทานจะเริ่มลดลงตั้งแต่ 3 ถึง 6 เดือนหลังติดเชื้อ
โรคโควิด 19 เป็นโรคที่มีระยะฟักตัวสั้น ส่วนใหญ่ คือ 2 ถึง 7 วัน เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่
แตกต่างจากโรคหัด โรคสุกใส ที่มีระยะฟักตัวยาวนานกว่า โรคที่มีระยะฟักตัวยาวนาน เมื่อเป็นแล้วถึงแม้ภูมิต้านทานจะลดลงต่ำ เมื่อมีการติดเชื้อมาใหม่ กว่าจะเกิดโรคที่ใช้เวลายาวนานกว่า
ร่างกายของเราสามารถสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาได้ทัน ด้วยหน่วยความจำที่มีอยู่ สามารถกระตุ้น ภูมิต้านทานมาเสริมได้เร็วกว่าการติดเชื้อครั้งแรก
โรคที่มีระยะฟักตัวยาว วัคซีนจึงมีการป้องกันโรคได้ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นหัด สุกใส ไวรัสตับอักเสบ บี ตับอักเสบ เอ ประสิทธิภาพในการป้องกัน จึงดีกว่าโรคที่มีระยะฟักตัวสั้น เช่น ไข้หวัดใหญ่
ถึงแม้ว่าไข้หวัดใหญ่จะไม่มีการกลายพันธุ์ ถ้าระยะฟักตัวสั้น ต้องอาศัยระดับภูมิต้านทานที่ลอยระดับสูงตลอดเวลา
ดังนั้นภูมิต้านทานจะสูงได้ ก็ต่อเมื่อมีการกระตุ้นด้วยวัคซีนเป็นระยะ จึงเป็นเหตุ ให้โรคทางเดินหายใจที่มีระยะฟักตัวสั้น การใช้วัคซีนใน การป้องกันจึงไม่ถาวร จำเป็นจะต้องมีการกระตุ้นให้ภูมิต้านทานลอยสูงอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันการติดโรค
โรคโควิด 19 ไม่ว่าจะเป็นแล้วจากการติดเชื้อ แล้วเป็นโรค หรือฉีดวัคซีน ก็ยังมีโอกาสที่จะเป็นได้อีก แต่อาการจะลดลง และมีโอกาสสูงมากที่จะต้องให้วัคซีนเข็มที่ 3 และต่อไปอาจจะต้องให้เป็นระยะ ก็เป็นไปได้
โรคทางเดินหายใจที่เป็นไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมด้วยแล้ว ยิ่งจำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ของวัคซีน เช่น ไข้หวัดใหญ่
ในกรณีของ covid-19 จึงไม่แปลกเลย ที่เมื่อติดเชื้อแล้ว จึงมีโอกาสที่ติดเชื้อซ้ำได้อีก
หรือฉีดวัคซีนแล้วจึงมีโอกาสที่ติดเชื้อได้ ความรุนแรงจะลดลง
ถ้าร่างกายเรามีภูมิอยู่บ้าง ภูมิต้านทานก็จะคอยปกป้อง ไม่ให้ไวรัสเข้ามาหรือแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เพื่อทำลายเซลล์ของเรา
การให้วัคซีนจึงมีประโยชน์ในการลดความรุนแรงของโรค และควบคุมการระบาดใหญ่
#หมอยง