เมื่อวันที่ 18 เม.ย.นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย แถลงถึงการประเมิน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูฯ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจฯ และ พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินฯ (เรียกรวมว่า พ.ร.ก. 1.9 ล้านล้านฯ) ที่มีผลบังคับใช้ครบรอบ 1 ปี ดังนี้ 1.เราได้เห็นโครงการที่ “สวยแต่รูปจูบไม่หอม” สวยแต่ชื่อประโยชน์จริงไม่มี มีปัญหามากมาย คิดไม่รอบด้าน เริ่มต้นจาก 1.1.“เราไม่ทิ้งกัน” 5000 บาท จาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน พอเงินไม่พอ ลดเหลือ 3 เดือน ประชาชนถูกปฏิเสธสิทธิ์จำนวนมาก ใช้ระบบ AI ทั้งๆที่ระบบไม่พร้อม ฐานข้อมูลไร้ประสิทธิภาพ 1.2.“เราเที่ยวด้วยกัน” สร้างการท่องเที่ยวแบบกระจุกตัวรอบกรุงเทพฯ จังหวัดไกลๆเจอปัญหา คนใช้สิทธิ์น้อยไม่เป็นตามเป้า คนรวยไม่ใช้สิทธิ์เพราะยุ่งยาก คนจนอยากใช้สิทธิ์แต่ไม่มีเงินเที่ยว มีปัญหาทั้งการทุจริตการสวมสิทธิ์ การฉวยโอกาสขึ้นราคา 1.3.“คนละครึ่ง” มาตรการเอาใจประชาชน แต่ผลทางเศรษฐกิจกลับน้อยนิด เพราะส่วนใหญ่มุ่งไปที่สินค้าไม่คงทน สินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งไม่เกิดเหนี่ยวนำการลงทุนของภาคเอกชน 1.4. “เราชนะ” เงื่อนไขมากมายทำให้เม็ดเงินหมุนได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ไม่จ่ายเงินเข้าบัญชี ถอนเป็นเงินสดไม่ได้ ผ่อนจ่ายรายสัปดาห์ คนไม่มีสมาร์ทโฟนลงทะเบียนยุ่งยาก จำนวนเงินที่ให้ไม่สอดคล้องกับความเดือดร้อน รองเลขาธิการพท. กล่าวต่อว่า 2.เราได้เห็นภาคธุรกิจกำลังตาย กำลังจมน้ำ ภาครัฐมีห่วงยาง แต่โยนให้ไม่เป็น เพราะ Soft Loan ที่ไร้ประสิทธิภาพ 2.1. มิติเงื่อนไข สร้างเงื่อนไขมากมายที่ไม่จำเป็น ทำให้คนเข้าไม่ถึงสินเชื่อเพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ เช่น ต้องมีวงเงินสินเชื่อ อายุชำระคืนสั้น วงเงินต่ำ กำหนดเพดานดอกเบี้ย กลไกค้ำประกันสินเชื่อใช้ไม่ได้จริง มิติกลไก โยนทุกอย่างใส่ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเขาไม่อยากทำ ไม่อยากเสี่ยง เพราะไม่คุ้ม การอนุมัติสินเชื่อจึงไม่ค่อยเกิด ยอดเลยไม่เดิน 2.2.ถึงแม้จะแก้เงื่อนไข รวมถึงการออก พ.ร.ก. ใหม่ “สินเชื่อฟื้นฟู” ที่มาแทน Soft Loan ก็ไม่ช่วยเพราะคอขวดอยู่ที่กลไกผ่านธนาคารพาณิชย์ยังไม่ถูกแก้ไข และ“พักทรัพย์พักหนี้” ที่จะจบด้วยภาวะสินทรัพย์เน่าเข้าคิวรอ แต่ธนาคารไม่ต้องการ จะเป็นอีกมาตรการที่ล้มเหลว ยอดไม่เดิน 3.เราได้เห็นงบฟื้นฟู ที่ทำเสมือนว่าไม่ได้อยู่ในวิกฤต เหมือนส่วนราชการได้งบประมาณเพิ่มแล้วก็ของบเพิ่มตามปกติ ที่สำคัญคือมีปัญหา ล่าช้า และเบิกจ่ายน้อยมาก ทั้งนี้งบฟื้นฟูต้องคู่ขนานกับงบเยียวยา โดยงบเยียวยาสร้างกำลังซื้อ และงบฟื้นฟูสร้างการลงทุนเอกชนเพื่อมารองรับกำลังซื้อนั้น นายเผ่าภูมิ กล่าวอีกว่า 4.เราได้เห็นงบสาธารณสุข เบิกจ่ายจริงน้อยมาก ทั้งที่อุปกรณ์การแพทย์ยังขาดแคลน อุปทานด้านสาธารณสุขมีปัญหา การตรวจล่าช้า โรงพยาบาลเตียงเต็ม รวมถึงเรื่องการจัดหาและการกระจายวัคซีน 5.สำหรับกองทุน BSF จริงอยู่ที่ในส่วนนี้บรรลุเป้าหมายของการป้องกันตลาดตราสารหนี้ไม่ให้พังลงในช่วงแรกที่มีการตื่นตระหนก ปัจจุบันไม่มียอดใช้ในกองทุนนี้ ซึ่งถามว่าดีไหม ก็ต้องตอบว่าดี ที่ว่าตลาดตราสารหนี้ยังสามารถทำหน้าที่ของมันได้ แต่ถ้าพูดถึงเงินที่ลงไปในระบบ ตรงนี้ก็ไม่เกิดขึ้น 6.ผ่านไปแล้ว 1 ปี พ.ร.ก. 1.9 ล้านล้านฯ มียอดการเบิกจ่ายจริงหรือเม็ดเงินลงสู่ระบบเพียงน้อยมาก กองทุน BSF ยังไม่มีการขอวงเงินเข้ามา (ก.พ. 64) งบสาธารณสุข งบเยียวยา งบฟื้นฟูเบิกจ่ายรวม 475,987 ล้านบาท (ข้อมูล สบน. มี.ค. 64) Soft Loan อนุมัติ 160,422 ล้านบาท (ข้อมูล ธปท. มี.ค. 64) “รวมทั้งสิ้นมีเม็ดเงินลงสู่ระบบราว 637,000 ล้านบาท จากยอดรวม 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นเพียงราว 34% เท่านั้น” "ศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทยเห็นว่า 1 ปีเต็มกับ พ.ร.ก. 1.9 ล้านล้านฯ ซึ่งถือเป็นอาวุธหลักและอาวุธเดียวที่ประเทศไทยมี กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า เป็น 1 ปีที่สูญหาย เต็มไปด้วยปัญหา ไม่เข้าใจบริบท ยิงไม่ตรงเป้า ผิดหลักการ ในขณะที่ต้องการอัดฉีดเม็ดเงินสู่ระบบ ประชาชนหิวโหย เอกชนต้องการสภาพคล่อง เงินที่ลงสู่ระบบจริงกลับน้อยนิด สวนทางกันกับความต้องการนั้นโดยสิ้นเชิง"นายเผ่าภูมิ กล่าว