เมื่อวันที่ 17 เม.ย.นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19ให้เพียงพอ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระโรงพยาบาล โดยหากผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ให้กระจายมารักษาที่โรงพยาบาลสนามแทน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของกระทรวงมหาดไทยโดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ และกระทรวงกลาโหมโดยทางหน่วยงานของทุกกองทัพ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับรายงานว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เร่งดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ด้วยการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามแล้ว โดยปัจจุบัน มีโรงพยาบาลสนามในเครือ อว. ทั้งสิ้น 12,882 เตียงกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 37 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 14 เม.ย. 64) แบ่งตามภูมิภาคต่างๆได้ดังนี้ •กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจำนวน 1,872 เตียง อาทิ เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล 470 เตียง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 442 เตียง มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี 360 เตียง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล สุวรรณภูมิ วิทยาเขตนนทบุรี 350 เตียง •ภาคกลางจำนวน 450 เตียง เช่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทราวิโรฒ นครนายก 300 เตียง มหาวิทยาลัยราชภัฎเทพสตรี สุพรรณบุรี 100 เตียง •ภาคเหนือจำนวน 1,850 เตียง เช่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 1,420 เตียง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 200 เตรียม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 100 เตียง มหาวิทยาลัยนเรศวร 100 เตียง •ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 6,596 เตียง เช่นมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี (อุดรธานี และบึงกาฬ) 3,736 เตียง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 1,030 เตียง มหาวิทยาลัยราชภัฎ ชัยภูมิ 638 เตียง •ภาคตะวันออกจำนวน 250 เตียง ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ •ภาคใต้จำนวน 1,864 เตียง เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภูเก็ต 350 เตียง มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา 350 เตียง มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา 260 เตียง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ประจวบคีรีขันธ์คีรีขันธ์ 144 เตียง มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต 110 เตียง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 100 เตียง เป็นต้น ทั้งนี้ การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในแต่ละแห่งนั้น ได้ดำเนินการตามคำแนะนำของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวคือ ต้องมีความปลอดภัย ทั้งระบบตัวอาคาร ระบบจัดการน้ำเสีย การจัดการอากาศ มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขคอยควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด มีการจัดโซนนิ่งต่างๆอย่างเหมาะสม โดยโรงพยาบาลสนามทุกแห่งต้องทำตามแนวทางความปลอดภัย ไม่มีปล่อยให้มีการติดเชื้อไปสู่ภายนอก หรือติดเชื้อไปสู่ชุมชน นอกจากนี้ การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม จะมีกลไกทำความเข้าใจกับประชาชนผ่านกลไก อสม. ว่า โรงพยาบาลสนามจะเป็นส่วนที่เตรียมการไว้หากเกิดมีผู้ป่วยจำนวนมากๆ แต่ถ้าสถานการณ์ไม่จำเป็นก็จะไม่ใช้ และสำหรับด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามนั้น ให้สามารถจัดตั้งได้เฉพาะกรณีโรคโควิด-19 เท่านั้น ซึ่งได้รับการยกเว้นจาก พ.ร.บ.สถานพยาบาล ที่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจะเป็นอนุญาตให้เกิดขึ้น โดยความเห็นชอบคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดซึ่งต้องเห็นชอบเป็นผู้เลือกสถานที่ ส่วนการรักษาพยาบาลนั้น กรมการแพทย์ได้จัดทำแนวทาง และปรับปรุงตลอดเวลา เพื่อให้คนป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมีปลอดภัยที่สุด และหากเกิดเหตุฉุกเฉินก็จะมีรถพยาบาลเข้าไปดู หรือรับส่งต่อได้ทันที