วันศุกร์ที่ 16 เมษายน 2564 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมช่ติและสิ่งแวดล้อมและคณะฯ ลงพื้นที่ติดตามและรับฟังการดำเนินงานของกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) ในการสำรวจธรณีวิทยา ธรณีเทคนิค และประเมินเสถียรภาพบริเวณพื้นที่เขาตาปู ในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จังหวัดพังงา เพื่อประเมินเสถียรภาพและความเสี่ยงต่อการพังทลายจากการถูกกัดเซาะของน้ำทะเล โดยมีนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา และ นางกันตวรรณ ตันเถียร(กุลจรรยาวิวัฒน์) สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดพังงา เข้าร่วมรับฟังปัญหาพร้อมแนวทางการแก้ไข นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความห่วงใยต่อนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวเขาตาปู ซึ่งเป็นอัตลักษณ์สวยงามและโดดเด่นทางธรณีวิทยาแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีรูปร่างคล้าย ตาปู เป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญของจังหวัดพังงาและของประเทศไทย หลายคนรู้จักในนามเกาะเจมส์บอน ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ปัจจุบันโครงสร้างธรณีวิทยาของเขาตาปูแห่งนี้ อาจมีเสถียรภาพที่เสี่ยงต่อการพังทลายจากหินร่วง ที่ผ่านมาพบเหตุการพังทลายปรากฏเป็นข่าวมาแล้วหลายครั้ง อาทิ บริเวณหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกาะทะลุ จังหวัดพังงา และปราสาทหินพันยอด จังหวัดสตูล จึงมอบหมายสั่งการให้กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช บูรณาการสำรวจอย่างเร่งด่วนเพื่อหาแนวทางอนุรักษ์ต่อไป ด้านนายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า กรมทรัพยากรธรณี ได้ส่งทีมปฏิบัติภารกิจ SAVE เขาตาปู เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการพังทลาย โดยใช้วิธีการสำรวจธรณีเทคนิค - ธรณีวิศวกรรม (การวัดรอยแตกรอยแตก คำนวณอัตราการกัดเซาะ โดยเครื่อง 3D Scanner) การสำรวจธรณีฟิสิกส์ ธรณีวิทยาโครงสร้างพื้นผิวท้องทะเล โดยเครื่องวัดคลื่นไหวสะเทือน (marine seismic) หยั่งน้ำลึก (echo sounder) และการสำรวจด้านอุทกศาสตร์ เพื่อวัดทิศทางการไหลของกระแสน้ำและความสูงคลื่น เป็นต้น สำหรับมาตรการและแนวทางการดำเนินงานของกรมทรัพยากรธรณีเมื่อได้ข้อมูลแล้วจะวิเคราะห์หาหาแนวทางการอนุรักษ์ซึ่งอาจเป็นการเสริมความแข็งแรง เพิ่มเสถียรภาพของฐานราก โดยไม่ให้เสียทัศนียภาพ การใช้หลักเทคนิควิศวกรรมฐานราก ลดความรุนแรงของคลื่นที่จะเข้าปะทะหรือส่งผลต่อฐานราก ทั้งนี้ การดำเนินการจะเป็นแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังติดตามการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต