กาฬสินธุ์ยังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเพิ่มอีก 6 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งเป็น 15 ราย ส่วนใหญ่มีประวัติและติดเชื้อมาจากพื้นที่เสี่ยงคลัสเตอร์สถานบันเทิงในกรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑล ขณะที่ผู้ว่าฯกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยสำนักงานสาธารณสุข ลงพื้นที่เตรียมความพร้อมโรงพยาบาลสนาม หลังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 16 เมษายน 2564 นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผอ.โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ นายชานุวัฒน์ วรามิตร นายอบจ.กาฬสินธุ์ นายศิวัชฐ์ ระวังกุล นายอำเภอฆ้องชัย นพ.พรพัฒน์ ภูนากลม รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ นพ.สุรเชษฐ์ ภูลวรรณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลฆ้องชัย พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจความพร้อมโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่โรงพยาบาลฆ้องชัย อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ พร้อมร่วมกันแถลงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์
นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สถานการณ์ล่าสุดวันที่ 16 เมษายน 2564 มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 6 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของการระบาดระลอก 3 ในช่วงเดือนเมษายน 2564 รวม 15 ราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากนอกพื้นที่แล้วเข้ามาในจังหวัด
โดยรายแรกเพศหญิง อายุ 31 ปี อาชีพพนักงานฝ่ายขาย ภูมิลำเนา ต.หนองช้าง อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อในสถานที่ทำงานย่านทองหล่อ แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2564 มีอาการไอ ไทม์ไลน์พื้นที่และช่วงเวลาเสี่ยง วันที่ 9 เมษายน 2564 เวลา 19.50 น.-21.00 น.ผู้โดยสารสายการบินแอร์เอเชีย เที่ยวบิน ที่ FD3350 (รอยืนยัน) จากสนามบินดอนเมืองไปยังสนามบินอุดรธานี, วันที่ 10 เมษายน 2564 เวลา 12.30 – 13.30 น.ร้านซุปเปอร์ อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี เวลา 15.00-17.00 น.ร้านกลิ่นลำดวน ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์, วันที่ 11 เมษายน 2564 เวลา 12.00-13.00 น. ร้านลาบเป็ดโนนสมบูรณ์ ต.คำไฮ อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู, วันที่ 11 เมษายน 2564 เวลา 15.00 ถึง วันที่ 12 เมษายน 2564 เวลา 09.00 น.โรงแรมเวียงโขง อ.เชียงคาน จ.เลย, วันที่ 11 เมษายน 2564 เวลา 18.00-19.00 น.ถนนคนเดิน อ.เชียงคาน จ.เลย, วันที่ 12 เมษายน 2564 เวลา 10.00-11.00 น.สกายวอล์ค อ.เชียงคาน จ.เลย และวันที่ 13 เมษายน 2564 เวลา 13.00-14.00 น. ร้านก๋วยจั๊บดงปอ (ข้างมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์) อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์
รายที่ 2 เพศหญิง อายุ 35 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัว ภูมิลำเนา ต.สมเด็จ อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ มีประวัติเดินทางมาจากกรุงเทพมหานคร เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564 มีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และตาแดง ไทม์ไลน์พื้นที่และช่วงเวลาเสี่ยง วันที่ 11 เมษายน 2564 เวลา 19.00-19.20 น. ข้าวต้มปลา 164 สาขากาฬสินธุ์ เวลา 19.25-19.35 น.ปั้มน้ำมัน ปตท.หจก.กาฬสินธุ์ศิวามงคล บ้านโพนทอง ถนนถีนานนท์ อ.เมืองกาฬสินธุ์, วันที่ 12 เมษายน 2564 เวลา 17.30-17.45 น.ตลาดสดอำเภอสมเด็จ เวลา 17.50-18.25 น.ร้านซีพีเฟรชมาร์ท อำเภอสมเด็จ เวลา 18.30-19.00น. โลตัสเอ็กซ์เพรส อำเภอสมเด็จ, วันที่ 14 เมษายน 2564 เวลา 13.00-13.45 น. ร้านอาเฟยข้าวมันไก่ ตรงข้ามศาลหลักเมือง อ.เมืองกาฬสินธุ์
รายที่ 3 เพศหญิง อายุ 25 ปี อาชีพพนักงานสถานบันเทิงย่านสีลม กรุงเทพมหานคร ภูมิลำเนา ต.โนนแหลมทอง อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2564 มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอ และเจ็บคอ มีไทม์ไลน์พื้นที่และช่วงเวลาเสี่ยง วันที่ 12 เมษายน 2564 เวลา 17.00-17.20 น.ตลาดนัดเทศบาลตำบลโนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ (ซื้อปลา ผักสด พวงมาลัย เสื้อผ้าเด็ก)
รายที่ 4 เพศหญิง อายุ 28 ปี อาชีพพนักงานโรงงานใน จ.ปทุมธานี ภูมิลำเนา ต.คลองขาม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันรายที่ 2 ของการระบาดระลอกเดือนเมษายน 2564 เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2564 ด้วยอาการไอ มีไทม์ไลน์พื้นที่และช่วงเวลาเสี่ยง วันที่ 12 เมษายน 2564 เวลา 17.00-17.20 น. ร้านยายขายทุกอย่าง ถนนธนะผล อ.เมืองกาฬสินธุ์
รายที่ 5 เพศชาย อายุ 57 ปี อาชีพ พนักงานโรงงานใน จ.สมุทรปราการ ภูมิลำเนา ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการ ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ไม่มีอาการป่วย ไม่มีประวัติสถานที่เสี่ยงใน จ.กาฬสินธุ์ (ติดจากคนในครอบครัว)
รายที่ 6 เพศหญิง อายุ 31 ปี อาชีพ พนักงานขาย ใน กทม. ภูมิลำเนา ต.หลุบ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อจาก กทม. ไม่มีอาการป่วย ไทม์ไลน์พื้นที่และช่วงเวลาเสี่ยง วันที่ 12 เมษายน 2564 เวลา 10.50-11.50 น.ผู้โดยสารสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ เที่ยวบิน SL664 (หมายเลขที่นั่งของผู้ป่วย 24F) จากสนามบินดอนเมืองถึงสนามบินขอนแก่น
โดยผู้ป่วยทั้งหมดในช่วงเดือนเมษายน 2564 รวม 15 รายนั้น ขณะนี้ได้เข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์แล้ว ซึ่งโรงพยาบาลกาฬสินธุ์สามารถรองรับผู้ป่วย 28 ราย ส่วนการเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลสนามโรงพยาบาลฆ้องชัยนั้นสามารถรองรับผู้ป่วยได้ 28 ราย และในอนาคตหากมีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากขึ้นอีก ทางจังหวัดยังได้เตรียมโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 คือโรงอาหารหลังศาลากลางจังหวัดหลังใหม่สามารถรองรับได้อีก 30 ราย และโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 ที่เขื่อนลำปาวอีก 30 ราย รวมสามารถรองรับได้ทั้งหมด 118 ราย ยืนยันว่าทางจังหวัดได้วางแผนโรงพยาบาลสนามไว้พร้อมแล้ว
ด้าน นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วย 15 รายนั้นอยู่ในพื้นที่ 7 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ยางตลาด 5 ราย อ.สมเด็จ 3 ราย อ.กมลาไสย 2 ราย อ.เมืองกาฬสินธุ์ 2 ราย อ.สหัสขันธ์ 1 ราย อ.สามชัย 1 ราย และ อ.นาคู 1 ราย ส่วนใหญ่มีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงใน กทม.และสมุทรปราการ มีเพียง 4 รายที่ติดเชื้อในสถานบันเทิงในพื้นที่ อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งทุกรายได้รับการรักษาในโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ บางรายมีไข้เล็กน้อย ได้รับการสอบสวนและควบคุมโรคแล้ว ส่วนไทม์ไลน์ของผู้ป่วยนั้นทางเจ้าหน้าที่ได้เผยแพร่สื่อสารเฉพาะพื้นที่และช่วงเวลาเสี่ยงเท่านั้น เพื่อให้ประชาชนที่เคยไปสถานที่และช่วงเวลาดังกล่าวจะได้ระมัดระวังและเฝ้าสังเกตตัวเอง
อย่างไรก็ตาม หากท่านมีประวัติเดินทางเข้าไปในพื้นที่และช่วงเวลาเสี่ยงตามที่ได้แจ้งนี้ ให้รายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านและแจ้งประวัติเพื่อประเมินความเสี่ยง หรือติดต่อที่หมายเลขโทรศัพท์ 043-019760 ต่อ 107 (กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์)
นพ.อภิชัยกล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว จึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนทุกท่านได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด โดยการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 2 เมตร ไม่เข้าไปในสถานที่แออัดอากาศไม่ถ่ายเท ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย สแกนไทยชนะหรือหมอชนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19