ณ เวลานี้การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่มีทีท่าที่จะลดลง ตัวเลขของผู้ติดเชื้อทั่วประเทศยังมีให้เห็นต่อเนื่อง โดยเฉพาะจังหวัดที่ไม่เคยมีผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในการระบาดครั้งที่ผ่านมา ครั้งนี้ก็ได้เห็นกันหลายจังหวัด ซึ่งต้องยอมรับว่าการระบาดครั้งนี้รุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็ว อาการบ่งชี้ก็ไม่เหมือนครั้งที่ผ่านมา และที่สำคัญพื้นที่ที่เป็นจุดแพร่ระบาดเป็นพื้นที่แหล่งสถานบันเทิงกลางใจเมืองกรุงเทพมหานคร ก่อนที่จะกระจายไปยังหัวเมืองใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะในช่วงฤดูการท่องเที่ยวของประเทศในเวลานี้ เนื่องจากคนไม่กล้าที่จะออกจากบ้านเพื่อไปท่องเที่ยวยังพื้นที่ต่าง ๆ โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ถูกยกเลิก หลายพื้นที่กลายเป็นเมืองร้าง ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ได้จัดเตรียมกิจกรรมต้อนรับนักท่องเที่ยวไว้เต็มที่
ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด “นางละเอียด บุ้งศรีทอง” นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ (ตอนบน) และผู้จัดการทั่วไปโรงแรมรติล้านนา ริเวอร์ไซด์ สปา รีสอร์ท เชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมากและมีแนวโน้มขยายวงกว้างส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะในส่วนของโรงแรมที่เตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวในช่วงเดือนเมษายน ที่มีวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ จากสถานการณ์ก่อนหน้าที่ดีขึ้นตามลำดับ แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดที่พบผู้ป่วยระลอกใหม่ จนกระทั่งล่าสุดทางจังหวัดเชียงใหม่มีการประกาศให้ผู้ที่เดินทางมาจาก 5 จังหวัดพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม และสมุทรปราการ ต้องกักตัว 14 วัน ทำให้มีการยกเลิกห้องพักอย่างต่อเนื่องทันที จากที่มีการจองไว้แล้วประมาณ 20% จนเหลือประมาณ 10-15% รวมทั้งอาจมีการยกเลิกเพิ่มขึ้นอีก
เช่นเดียวกับที่จังหวัดมุกดาหารมีคำสั่งปิดสถานที่ท่องเที่ยวหาดทรายแม่น้ำโขง “หาดมโนภิรมย์” หลังจากตรวจพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด -19 โดย “นายพิชิต พาลุกา” พ่อค้าบนหาดมโนภิรมย์ กล่าวว่า ปีนี้เป็นอีกหนึ่งปี ที่เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด เป็นเหตุที่ต้องทำให้ปิดหาดเร็วกว่าปกติ เพราะหาดก็เพิ่งเริ่มเปิดเมื่อ 1 เมษายนที่ผ่านมา ชาวบ้านดีใจที่จะมีรายได้ ได้พากันมาตั้งร้านขายสินค้า-อาหาร พร้อมกับเปิดให้บริการเครื่องเล่นทางน้ำให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวพักผ่อน แต่ก็ต้องมาขนของกลับเหมือนเดิม
แต่ถึงอย่างไรภาครัฐก็ยังมีความเชื่อลึกๆอยู่ว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ ซึ่งทาง “นายยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า เบื้องต้น ททท.ประเมินว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่จะยังไม่กระทบต่อเป้าหมายรายได้รวมการท่องเที่ยวจากทั้งตลาดในและต่างประเทศปี 2564 ที่ 1.21 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วเป็นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.5 ล้านคน แม้จำนวนจะลดลง 3% เทียบปีที่แล้ว แต่จะกระตุ้นให้มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงขึ้นเป็น 53,500 บาท/คน/ทริป เพื่อให้ตลาดต่างประเทศสร้างรายได้ที่ 3.47 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% ขณะที่เป้าหมายตลาดนักท่องเที่ยวไทยอยู่ที่ 160 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 77% ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 4,000 บาท/ทริป คาดว่าจะสร้างรายได้ 8.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 92%
รวมถึง “นายศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล” อุปนายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบ 3 ในประเทศไม่กระทบต่อการเดินหน้าโครงการภูเก็ต ทัวริสซึ่ม แซนด์บ็อกซ์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างระดมฉีดวัคซีนให้ถึง “1 แสนโดส” ภายในเดือน เม.ย. และเดือน พ.ค.นี้ จังหวัดภูเก็ตจะฉีดอีก 3 แสนโดส เพื่อให้ถึงเป้าหมายฉีดวัคซีนแก่ประชากรภูเก็ต 466,587 คน ครบจำนวน 933,174 โดส คิดเป็น 94% ของประชากรทั้งหมดในภูเก็ต 493,137 คน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ รองรับการนำร่องโครงการแซนด์บ็อกซ์ที่ภูเก็ต เริ่มวันที่ 1 ก.ค.นี้
“สมาคมฯ ประเมินว่าแม้จะเปิดประเทศนำร่องด้วยโมเดลแซนด์บ็อกซ์ที่ภูเก็ตในช่วงไตรมาส 3 นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะยังเดินทางเข้ามาน้อย แต่สิ่งสำคัญคือการได้ส่งเมสเสจ กวักมือเรียกลูกค้าว่าภูเก็ตพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวแล้ว น่าจะเริ่มเดินทางเข้าภูเก็ตมากขึ้นในไฮซีซั่นไตรมาส 4 นี้เป็นต้นไป”
ขณะที่มุมมองของนักลงทุน “บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส จำกัด” รายงานว่า การระบาดดังกล่าวส่งผลให้สถานการณ์มีความคล้ายกับการล็อกดาวน์ เนื่องจากประชาชนลดการเดินทางท่องเที่ยว และจับจ่ายใช้สอย แม้ว่าปัจจุบันภาครัฐจะยังไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์อย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยประเมินว่าหากสถานการณ์การระบาดยังมีแนวโน้มยืดเยื้อออกไปจะสร้างดาวน์ไซด์ต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ทาง Consensus คาดอยู่ในช่วง 2.5-3% และคาด 2.6%
และ “นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยไตรมาสแรกของปี 2564 มีแนวโน้มหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะที่ต้นปีนี้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ที่เกิดขึ้น มาตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค.2563 ทำให้คาดว่า GDP จะออกมาติดลบแน่นอน เมื่อเทียบปีก่อน (YoY) และเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ)
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2564 ยังต้องจับตาดูพัฒนาการการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด รวมถึงมาตรการความช่วยเหลือต่าง ๆ ที่จะออกมาของภาครัฐ และการปรับตัวของภาคธุรกิจเอกชน และประชาชน ธปท.จะมีการ อัพเดตมุมมองเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามล่าสุดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ที่ขยายตัวได้ 3% ยังไม่รวมผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่ในครั้งนี้จากคลัสเตอร์ของสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ
เวลานี้มีเพียงอย่างเดียวที่ทำได้ คือ ต้องรักษาสภาพตัวเองให้ดี
ทั้งร่างกาย-เงินในกระเป๋า!