หลังผ่านพ้นการเลือกตั้งเทศบาลทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 28 มี.ค.64 สนามต่อไปที่จ่อคิวรอคงเป็นการเลือกตั้ง “อบต.” จากนั้นมีการคาดการณ์กันว่าประมาณไตรมาส 3 หรือ 4 ของปี 64 อาจจะประมาณเดือนตุลาคม ซึ่งต้องรอเคาะวันที่จากกกต.อีกครั้ง เราคงจะได้เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เพื่อปิดท้ายรายการ แน่นอนเลยว่าเป็นสนามเลือกตั้งที่ต้องคึกคัก เข้มข้น และสู้กันสนุกไม่มีใครยอมใคร แต่ทว่าระหว่างที่กำลังรอ ใช่ว่า “สนามเมืองหลวง” จะซบเซาเงียบเหงาในทางตรงกันข้าม กลับพบว่าต่างมีบรรดา “ผู้เล่น” ได้ทยอยเปิดตัว เปิดหน้าออกมาแล้ว เพื่อให้คนกรุงได้ลองชั่งใจกัน เมื่อประชาชนให้ความสนใจก็กลายเป็นกระแสที่เร่งเร้าให้ทุกฝ่ายออกมามีส่วนร่วม ฉกฉวยความได้เปรียบเสียเปรียบกันก่อน สิ่งที่ทำให้สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เป็นที่สนใจและห้ามกะพริบตากันเลยทีเดียว บอกได้เลยว่าศึกนี้ถือเป็นสนามชี้ขาด “ความนิยม” ระหว่าง “รัฐบาล” ที่นำโดย “พรรคพลังประชารัฐ” กับ “ฝ่ายค้าน” ที่มีทั้ง “พรรคเพื่อไทย” “พรรคก้าวไกล” และ “กลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้าน” ที่คงไม่ยอมให้เวทีนี้เป็นของฟากฝั่งรัฐบาลโดยง่าย แต่ใช่ว่าเกมจะพุ่งไปที่พรรคพลังประชารัฐเพียงอย่างเดียว เราต้องไม่ลืม “แชมป์เก่า” สนามนี้ คือ “พรรคประชาธิปัตย์” พรรคร่วมรัฐบาล ที่ตอนนี้สถานการณ์ภายในพรรคก็ตึงเครียด เพราะกำลังต่อสู้หนีการสูญพันธุ์ในพื้นที่กทม.อย่างเอาเป็นเอาตาย เพราะในการเลือกตั้งส.ส.ครั้งล่าสุดไม่สามารถ ได้ที่นั่งส.ส.กทม.เลยสักเก้าอี้เดียว แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นแชมป์เก่าครองหัวหาดเสาชิงช้าหลายสมัยย่อมมีทีเด็ดให้เห็น ยกเว้นว่าจะไม่สามารถหาตัวผู้สมัครตัวแทนจากพรรคได้เลย จำต้องถอยให้พรรคพลังประชารัฐหรือไม่ แต่กระนั้นก็ต้องเผื่อใจเอาไว้สำหรับพวก “ม้ามืด” จาก “ผู้สมัครอิสระ” ที่ทยอยเปิดตัว ก็อาจจะมาพร้อมกับกระแสความชอบของคนกรุงเทพฯ ทำให้สถานการณ์ยังสวิงได้ทุกเมื่อ ทำให้สนามนี้ยิ่งน่าสนุก หนึ่งในผู้สมัครที่ยืนยันว่าเป็น “ผู้สมัครอิสระ” นั่นคือ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร.ที่ก่อนหน้านี้ถูกมองว่าได้รับการสนับสนุนจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กลายเป็นผู้สมัครนอมินีจากพรรคพลังประชารัฐนั้น วันนี้ลงพื้นที่และยืนยันว่าจะลงสมัครผู้ว่าฯกทม.ในนามอิสระแน่นอน พร้อมชู “ความจริงใจ มีประสบการณ์ รับฟังปัญหา ซื่อสัตย์สุจริต และโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ” เชื่อเลยว่าสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้แต่ละฝ่ายต่างวางหมากในกระดานอย่างระมัดระวัง ชิงไหวชิงพริบ หาจุดอ่อนจุดบอดคู่ต่อสู้ นำเสนอให้ประชาชนตัดสินใจ ทางฝั่งพรรคเพื่อไทย คู่ต่อสู้หลักสนามกทม.ที่วันนี้ต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อให้พรรคสามารถเดินหน้าต่อไปได้ก็ยังไร้ตัวเลือกเพื่อลงสนาม แม้ในช่วงแรกคาดว่าจะเป็น “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เพราะได้กระแสจากคนกรุงเทพฯดีต่อเนื่อง เป็นบุรุษที่แข็งแกร่งในปฐพี และเคยเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในนามพรรคเพื่อไทย แต่ก็ตัดสินใจเดินออกจากพรรคเพื่อไทยและประกาศ ลงสมัครในนามอิสระ ทำเอาพรรคเกิดอาการเสียศูนย์ไปช่วงนึง แต่ก็มีเสียงออกมาจากกลุ่มส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทยว่าพรรคจะส่งผู้สมัครในนามพรรคแน่นอน ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการสรรหาและพูดคุย ขณะที่ “พรรคก้าวไกล” ที่ได้กระแสการเมืองใหญ่ดีได้แรงสนับสนุนจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นการเมืองไทยในมุมใหม่บ้าง ก็ได้รับความนิยมไม่น้อย แต่ในการเลือกตั้งอบจ.และเทศบาลทั่วประเทศกลับพบความพ่ายแพ้ การกระโดดลงมาในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้พร้อมแนวคิดที่ว่าผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลต้อง “ใหม่-โดน-ชัด” นโยบายที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แย้มมาว่าต้องการให้กรุงเทพฯเป็นเมืองของทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด ซึ่งผู้ที่จะเป็นตัวแทนของพรรคต้องมีคุณสมบัติอุดมการณ์ และความสามารถที่ใหม่กว่า ชัดกว่าที่เคยผ่านมาแน่นอน คงต้องดูว่าจะสามารถตอบโจทย์ได้หรือไม่ ทั้งยังต้องลุ้นกันต่อว่าจะสามารถช่วงชิงคะแนนจากคนกรุงเทพฯได้มากน้อยเพียงใด ทางด้านบิ๊กวิน “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน ที่อยากจะขอพิสูจน์ตัวเองอีกครั้งแต่ก็ยังอุบเงียบว่าจะลงสมัครในนามพรรคการเมือง หรืออิสระหรือไม่ บอกแต่เพียงว่ายังเหลือเวลาอีกนาน บอกตอนนี้ยังเร็วไป แถมย้อนถามด้วยว่าประกาศตอนนี้กับประกาศในอีก 7 เดือนต่างกันอย่างไร รวมทั้งยังย้ำว่าตนเองจะลงสมัครผู้ว่าฯกทม.หรือไม่นั้นไม่จำเป็นต้องรอไฟเขียวจากใคร ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวเคยถามว่าหากในอนาคตจะลงสมัคร จะสังกัดพรรคหรืออิสระ บิ๊กวินบอกสั้นๆว่า “ผม Freedom” ในขณะที่บรรดาพรรค และรายบุคคลเตรียมจัดกระบวนรบ ฟากฝั่งคนกรุงเทพฯกลับดูจะเบื่อหน่ายการเมืองเต็มขั้น และก็ยังไม่สามารถคาดเดาใจได้เลยว่าจะยืนข้างฝั่งไหน แต่ก็มีผลสำรวจออกมาอยู่เนืองๆว่าคนกรุงเทพฯอยากได้ผู้ว่าฯกทม.ที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง “นิด้าโพล” ชี้ว่าคนกทม.ส่วนใหญ่ ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.แต่อยากได้แบบ “อิสระ” ไม่สังกัดพรรคการเมืองเป็นอันดับหนึ่ง และเมื่อเจาะจงด้านปัญหาที่ประชาชนอยากให้ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ เร่งแก้ไขมากที่สุดหนีไม่พ้นเรื่องปัญหาการจราจร รองลงมาอยากให้แก้ปัญหาค่าครองชีพ/ปากท้อง ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่นละออง โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวัน ส่งผลกับเงินในกระเป๋าที่ต้องจ่ายไปกับการรักษา และหาอุปกรณ์ป้องกัน ขณะคนในแวดวงเสาชิงช้าละเขาอยากได้ผู้ว่าฯกทม.แบบไหนเพราะต้องทำงานร่วมกัน จากที่ได้รับฟังมา ข้าราชการกทม.ก็มีความคิดที่ไม่ได้ต่างไปจากประชาชนคนกรุงเทพฯมากนัก แต่สิ่งที่ยึดถือคือคนที่มาเป็นผู้ว่าฯกทม.ต้องเข้าใจระบบการทำงานของกทม.หรือง่ายๆคือ คนบ้านเดียวกัน รู้และเข้าใจงานกทม. ซึ่งงานกทม.ก็เหมือนงานในระบบราชการทั่วไปที่คนภายนอกอาจมองว่าเชื่องช้า มีขั้นตอนมากมาย ไม่คล่องตัว แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะเชื่องช้าไปเสียหมด ทุกอย่างสามารถเนรมิตได้ตามอำนาจของผู้ว่าฯกทม.จะเห็นว่าเรื่องนั้นๆ เร่งด่วน และเป็นเรื่องที่ประชาชนได้รับผลกระทบรองบประมาณแบบปกติเห็นจะไม่ทันการ แต่ก็ต้องไม่ทำให้ข้าราชการต้องลำบากใจด้วยเช่นกัน กทม.นั้นเป็นหน่วยงานที่มุ่งเน้นการให้บริการประชาชน รู้ดีว่าคนที่มาเป็นผู้ว่าฯกทม.ก็ต้องรักษาคำมั่นที่หาเสียงให้กับประชาชนก่อนการเลือกตั้งอยู่แล้ว ซึ่งจะเห็นว่าในช่วงเทอมแรกๆที่รับตำแหน่งโครงการที่ออกมาก็มาจากความต้องการของประชาชน แต่กว่าที่จะตกผลึกออกมาเป็นหนึ่งโครงการต้องผ่านขั้นตอน หากผู้ว่าฯกทม.เข้าใจย่อมจะสามารถทำงานร่วมกันอย่างไม่ติดขัด เข้าทำนองอยากได้ผู้ว่าฯกทม.ที่เข้าใจหัวอก คอเดียวกัน พวกเดียวกัน คุยกันรู้เรื่องนั่นเอง แต่เชื่อเถอะว่าไม่ว่าใครจะนั่งเป็นพ่อเมืองคนใหม่ข้าราชการกทม.ก็พร้อมปรับตัว เปลี่ยนแปลงเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในการทำงาน เพราะยังมีสังคม หรือแม้แต่สังคมออนไลน์ที่คอยตรวจสอบและคอยกระตุ้นการทำงานอยู่กลายๆ ....จากวันนี้ยังเหลือเวลาอีกนานพอสมควรกว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.จะมาถึง ประชาชนคงได้เห็นแต่ละฝ่ายงัดกลยุทธ์เพื่อพลิกสถานการณ์ แย่งชิงความได้เปรียบให้กับตนเอง เพื่อกระแทกใจคนกรุงให้มากที่สุด หากใครพลิกเกมเป็นต่อได้นั่นหมายถึงโอกาสทางการเมืองที่สำคัญที่อาจจะคว้าชัยสนามนี้ไปครองสำเร็จ เชื่อว่าการต่อสู้จะร้อนแรงจนถึงวันเลือกตั้งกันเลยทีเดียว....