ศูนย์เอราวัณ กทม.ชี้แจงแนวทางจัดการผู้ป่วยโควิดเข้ารับการรักษาในรพ.โดยแต่ละวันศูนย์เอราวัณสามารถกระจายผู้ป่วยได้กว่า 100 รายต่อวัน แต่เนื่องจากขณะนี้มีผู้ป่วยรอเตียงจำนวนมาก จึงได้กำชับให้สำนักการแพทย์และศูนย์เอราวัณหารือแนวทางและความเป็นได้ในการเพิ่มขีดความสามารถในการทำงาน 15 เม.ย.64 นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) สำนักการแพทย์ กทม. โดยมี นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. และ นพ. พรเทพ แซ่เฮ้ง ผู้อำนวยการศูนย์เอราวัณ ให้ข้อมูล ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ปัจจุบันศูนย์เอราวัณ กทม. เป็นศูนย์กลางประสานงานจัดส่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อเข้ารับการรักษา โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับสายด่วน 1668 กรมการแพทย์ และสายด่วน 1330 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยขั้นตอนในการปฏิบัติงานเมื่อได้รับข้อมูลผลการติดเชื้อของผู้ป่วยและผู้ป่วยยังไม่ได้รับการจัดสรรเตียงเพื่อเข้ารับการรักษา หน่วยงานและสถานพยาบาลจะประสานมายังกรุงเทพมหานครเพื่อส่งต่อไปรักษายังสถานพยาบาลต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และโรงพยาบาลสนามที่ได้มีการจัดตั้งขึ้น โดยในแต่ละวันศูนย์เอราวัณสามารถกระจายผู้ป่วยได้กว่า 100 รายต่อวัน อย่างไรก็ตามเนื่องจากในขณะนี้มีผู้ป่วยรอเตียงอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้กำชับให้สำนักการแพทย์และศูนย์เอราวัณหารือแนวทางและความเป็นได้ในการเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การจัดระบบหาเตียงให้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นไปอย่างรวดเร็ว กรณีที่ผู้ป่วยได้รับการยืนยันการติดเชื้อสามารถแจ้งไปยังโรงพยาบาลที่เข้าไปตรวจ LAB เพื่อช่วยให้หาเตียง ซึ่งหากไม่สามารถจัดสรรเตียงให้ได้ ผู้ป่วยสามารถประสานมายังเบอร์สายด่วน 1669 ของศูนย์เอราวัณให้ช่วยดำเนินการนำรถเข้าไปรับผู้ป่วยจากที่พัก หากผู้ที่ติดเชื้อประสงค์จะเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวก็สามารถเดินทางไปยังสถานพยาบาลที่ทางศูนย์เอราวัณประสานให้ด้วยตนเอง เพื่อความสะดวกรวดเร็ว โดยเตรียมเอกสารผล LAB ยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 ให้พร้อม และหากมีผู้ขับรถให้ แนะนำผู้ติดเชื้อและผู้ที่ขับรถสวมใส่หน้ากากอนามัย 2 ชั้น และนั่งทแยงคนละฝั่ง โดยมีอุปกรณ์ฉากป้องกันอีกชั้น เพื่อให้มีระยะห่างระหว่างกันให้มากที่สุด เปิดกระจก ปิดเครื่องปรับอากาศ สำรวจเส้นทางก่อนออกเดินทาง โดยใช้เวลาในการเดินทางไม่ควรเกิน 30 นาที หากสามารถปฏิบัติตามขั้นตอนได้จะสามารถเข้ารับการบริการได้โดยเร็ว รวมทั้งเมื่อเดินทางไปยังจุดที่กำหนดให้นั่งคอยในรถจากนั้นให้โทรประสานเจ้าหน้าที่เพื่อเข้ารับทางช่องทางของโรงพยาบาลต่อไป เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ในระหว่างที่ผู้ป่วยรอเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ขอให้ผู้ป่วยสังเกตอาการตัวเองอย่างใกล้ชิด และขอความร่วมมือไม่ควรปฏิเสธการรักษาในโรงพยาบาลที่ศูนย์เอราวัณประสานให้ ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาล ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมทั้งโรงพยาบาลสนามที่ได้มีการจัดตั้งขึ้น เพราะในอนาคตหากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จะยิ่งทำให้การบริหารจัดการและการประสานหาเตียงเพื่อนำส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจะใช้เวลานานมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ การให้บริการ 3 สายด่วนในการประสานหาเตียง ภายใน 24 ชั่วโมง คือ สายด่วนกรมการแพทย์ 1668 (ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-22.00 น.) สายด่วน สปสช.1330 (ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง) สายด่วน 1669 (ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง) อาจมีความล่าช้า 2-3 วัน เนื่องจากผู้ใช้งานจำนวนมาก จึงขอแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีผลยืนยันการติดเชื้อขอเตียงได้อีก 1 ช่องทาง ผ่านทางช่องทางไลน์ “สบายดีบอต” ซึ่งจะช่วยลงทะเบียนหาเตียงโควิด-19 ในพื้นที่เขตกรุงเทพและปริมณฑล โดยพิมพ์ @sabaideebot ซึ่งต้องแอดไลน์และให้ชื่อที่อยู่ สถานที่ติดต่อ สิ่งสำคัญในระหว่างที่รอเตียงหรือต้องมีการประสานงาน โดยขอให้รออยู่ที่บ้าน เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อแก่ผู้อื่นได้