ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย
ก่อนช่วงสงกรานต์สำนักงานเศรษฐกิจการคลังออกเอกสารชี้แจงประเด็นจากการที่มีข้อวิจารณ์ถึงฐานะการเงินการคลังของประเทศว่า เริ่มมีความเสี่ยงดังนี้
1.สำหรับในประเด็นที่กรอบวงเงินงบประมาณปีงบประมาณ 2565 ลดลงจากปีงบประมาณ 2564 นั้น ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจจะไม่เติบโตแต่อย่างใด แม้วงเงินงบประมาณและงบลงทุนในปีงบประมาณ 2565 จะลดลงจากปี 2564 แต่ในความเป็นจริงการลงทุนภาครัฐ ยังต้องรวมถึงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อีกด้วย ซึ่งมูลค่าการลงทุนของรัฐวิสาหกิจในแต่ละปีอยู่ที่กว่า 3 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ในปัจจุบันรัฐบาลได้มีการเร่งนำนวัตกรรมทางการเงิน การลงทุนใหม่ๆมาใช้เป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกเพื่อทดแทนการใช้งบประมาณภาครัฐ เช่น การเร่งผลักดันการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(PPPs) การลงทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยเป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพางบประมาณแผ่นดินหรือเงินกู้ของภาครัฐ ส่งเสริมให้ภาคเอกชนที่มีความพร้อมและมีความเชี่ยวชาญเข้ามามีบทบาทในการร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะทำให้สามารถใช้ทรัพยากรของประเทศได้อย่างคุ้มค่า...(ทั้งนี้ได้ชี้แจงว่าเคยทำมาแล้วเมื่อปีงบประมาณ 2553 ซึ่งเป็นปีที่ไทยเจอกับวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ ดังนั้นจึงไม่น่าห่วงว่าการลดงบประมาณลงจะทำให้การเติบโตเศรษฐกิจลดลง)
2.สรุปคือหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นห่วงและเป็นไปตามมาตรฐาน และการกำกับดูแลวินัยทางการเงินการคลัง นั่นคือยังไม่ถึงเพดาน 60% ของ GDP นอกจากนี้ยังมีการบริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการกลั่นกรองและร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
3.ในเรื่องความเหลื่อมล้ำและความยากจนนั้น สำนักงานแจ้งว่ามันเกิดขึ้นทั่วโลก เพราะผลกระทบจากสงครามการค้าและภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ถูกซ้ำเติมโดยการแพร่ระบาดของโควิด รัฐบาลจึงมีมาตรการเยียวยาประชาชนกลุ่มต่างๆ
4.กระทรวงการคลังมีเครื่องมือในการวิเคราะห์ติดตามความเสี่ยงของการเกิดวิกฤตการณ์การคลังอย่างใกล้ชิด โดยผ่านแบบจำลอง Fiscal Early Warning System พบว่าแม้ค่าความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังต่ำกว่าขีดเตือนภัยในระดับ 5 นั่นคือยังอยู่ที่ระดับ 2.47 จึงยังมีพื้นที่ว่างในการจัดทำนโยบายการคลังเพิ่มเติม
นั่นเป็นการชี้แจงของกระทรวงการคลังว่า ด้านการคลังของเรายังคงเข้มแข็งและยังมีช่องว่างที่จะใช้นโยบายการคลังได้อีกพอควร
ทว่าเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคนั้นมิใช่มีแต่นโยบายการคลัง แต่ยังมีนโยบายการเงินอีกด้วย ซึ่งทุกวันนี้คณะกรรมการนโยบายการเงินยังคงทรงดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับเดิม 0.50% ต่อปี แสดงว่าเราคงยืนนโยบายการเงินคงที่ แต่ไม่มีการรายงานถึงปริมาณเงินที่ธนาคารชาติปล่อยออกมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ คาดว่าคงเป็นไปตามปกติ จึงมองว่าไม่มีการใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเลยหรือมีก็น้อยมาก เช่น ซอฟต์โลนจากแบงก์ชาติ
อนึ่งนโยบายการคลังเป็นเพียงมาตรการเดียวที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยงบประมาณไม่เกิน 20% ของ GDP แต่มันยังมีรายจ่ายอีก 3 ด้าน ที่จะมีผลกระทบต่อขนาดการเติบโตทางเศรษฐกิจ นั่นคือว่าใช้จ่ายในการบริโภคของประชาชน ซึ่งมีสัดส่วนต่อ GDP ประมาณ 60% - 70% การลงทุนของภาคเอกชนประมาณ 10% การนำเข้าส่งออกสุทธิประมาณ 10%
ดังนั้นเราต้องมาดูสัดส่วนอื่นที่จะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจ เริ่มจากการบริโภคของภาคประชาชน แม้ว่าการบริโภคของภาคประชาชนจะเพิ่มขึ้นประมาณ 200,000 ล้าน จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่เมื่อนับเป็นสัดส่วนต่อการบริโภคทั้งหมดแล้วนับว่าน้อยมาก นั่นคือรายจ่ายในการบริโภคทั้งหมดประมาณ 9 ล้านล้าน
ซึ่งถ้าเรามาดูสภาพหนี้ครัวเรือนที่เป็นปัจจัยสำคัญในการใช้จ่ายในการบริโภคของประชาชนจะพบว่าเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด โดยขณะนี้สูงถึง 14 ล้านล้าน คิดเป็น 89.0 % - 91.0% ของ GDP หากจะแปลความหมายก็คือถ้าเรามีรายได้ 100 บาท เรามีหนี้ถึง 89 บาท เหลือเงินเพียง 11 บาท เราจะทำอย่างไร จะเพิ่มการบริโภคหรือไม่ จะใช้หนี้อย่างไร
ตรงจุดนี้จึงมองได้ว่าแม้รัฐบาลจะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามในระดับที่ทำอยู่ แม้มีตัวทวีคูณก็ตามคงยากที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มการบริโภค ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ของ GDP
ความหวังจึงมาอยู่ที่การลงทุนภาคเอกชน ซึ่งนอกจากโครงการ PPPs แล้ว โดยทั่วไปเอกชนคงไม่เพิ่มการลงทุนในช่วงขาลงแบบนี้
ทีนี้ก็เหลือเรื่องการส่งออก และการท่องเที่ยวที่มีน้ำหนักประมาณ 10% ของ GDP
พิจารณาเรื่องการท่องเที่ยวถ้าเรายังบริหารจัดการฉีดวัคซีนได้อย่างเชื่องช้าแบบนี้ กล่าวคือ ฉีดได้อย่างมาก 200,000 โดส/เดือน ขณะที่เราต้องฉีดให้ได้อย่างน้อย 1 ล้านโดสต่อสัปดาห์ จึงจะฉีดเข็มแรกครบ 1 ปี นั้น การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ต้องอาศัยต่างชาติก็คงดูวังเวง แม้จะมีความพยายามก็ตาม เช่น การเปิดภูเก็ตในขณะที่คนภูเก็ตต้องการวัคซีน 9 แสนโดส แต่รัฐบาลส่งให้ได้แค่ 1 แสนโดส และเที่ยวบินแรกที่มาจากเยอรมนีมีคนบินมาแค่ 16 คน
ส่วนด้านการส่งออกพบว่าโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยนั้นค่อนข้างอ่อนแอ ส่วนใหญ่นำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบแล้วส่งออก ซึ่งในขณะนี้นักลงทุนต่างชาติหลายรายเริ่มถอนตัวไปเวียดนามและอินโดยนีเซีย ด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ในขณะนี้ก็เกิดการขาดแคลนชิ๊ปที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการควบคุมเครื่องยนต์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าในรถ ทำให้การผลิตต้องชะลอตัวลง
นอกจากนี้สัดส่วนสินค้าส่งออกไทยยังเป็นสินค้าฟื้นตัวได้ช้า เช่น ยานยนต์ เครื่องจักร อุปกรณ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
ส่วนสินค้าเกษตรนั้นมีสัดส่วนประมาณ 10%-15% ของมูลค่าการส่งออกและบริการ บวกกับการท่องเที่ยว จึงไม่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก นอกจากนี้ยังเป็นขาลงของสินค้าเกษตรที่ดีมานด์ลดลง เพราะรายได้ของประเทศผู้บริโภคลดลง ราคาจึงตกต่ำประกอบกับเราขาดอำนาจต่อรองทางการตลาด ทำให้ผู้ส่งออกต้องมากดราคาจากเกษตรกร แม้ยางพาราจะมีราคาขึ้นในขณะนี้ก็เป็นไปเพียงชั่วคราว ในลักษณะการเก็งกำไรเท่านั้น
ดังนั้นการพยากรณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะโตถึง 3.2% ก็น่าจะเป็นไปได้ยาก และถึงแม้จะเป็นไปได้ก็อย่าลืมว่าที่โต 3.2% เขาวัดจากปีที่แล้วที่เราติดลบถึง 6% ฉะนั้นกว่าไทยจะฟื้นตัวเป็นปกติก็คงต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี
ประเด็นที่จะต้องกล่าวถึงจากคำชี้แจงของกระทรวงการคลังนั่นคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความยากจนที่อ้างว่ามันเกิดขึ้นทั่วโลก คือ เลวร้ายลง แต่จากรายงานเรื่องความเหลื่อมล้ำจากทั่วโลก ประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ซึ่งหมายถึงมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงสุด นั่นคือคนประมาณ 1% ครองสินทรัพย์กว่า 60% คน 10% ครองสินทรัพย์เกือบ 90% หรือสรุปง่ายๆคือรวยกระจุก จนกระจายนั่นเอง
ฉะนั้นการอ้างว่ารัฐบาลได้ทำการเยียวยาแล้ว ต้องถือว่ามันแค่เศษเนื้อติดกระดูกและเป็นการดำเนินการในระยะสั้นเท่านั้น ถ้าบอกว่าทำยังดีกว่าไม่ทำก็ใช่ แต่ปัญหาที่ถูกเตะถ่วงไปอย่างนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงต่อไปในอนาคตอันใกล้
ถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพราะถ้าโครงสร้างยังเป็นอยู่อย่างนี้ รายได้ก็จะถูกดูดไปกระจุกตัวกับคนกลุ่มเล็กๆ และการพัฒนาประเทศในอนาคตก็จะมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อย่างแน่นอน