จากกรณีที่มีโรงพยาบาลเอกชนมีการตรวจเชื้อโควิด-19 ประชาชนแล้วพบว่ามีผลเป็นบวก หรือติดเชื้อโควิด แล้วโรงพยาบาลเอกชนปฏิเสธไม่รับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยบาล ได้มีประชาชนสอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก ว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขจะมีมาตรการดำเนินการกับกรณีดังกล่าวอย่างไร ล่าสุด นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศตั้งแต่มีโควิด-19 ระบาด ว่าโรคนี้เป็นโรคฉุกเฉินตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาลและตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคติดต่อฯ เมื่อเป็นโรคฉุกเฉิน สถานพยาบาลจะต้องให้การรักษา เพื่อให้ทุกคนปลอดภัย นอกจากนี้ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพยังได้ออกประกาศให้สถานพยาบาลทุกแห่ง ทั้งโรงพยาบาลและคลินิกจะต้องดูแลผู้ป่วยตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และเมื่อโรงพยาบาลเอกชนทำการตรวจผู้ป่วยแล้ว ต้องมีกระบวนการแจ้งผล การจัดหาเตียงให้กับผู้ป่วย หากจำเป็นต้องจัดระบบส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่สูงกว่า ซึ่งในส่วนของคลิกนิกก็เช่นกันต้องจัดระบบการตรวจ หากพบก็ต้องจัดระบบส่งต่อ รวมไปถึงคลินิกแลป เมื่อตรวจพบว่าผู้ป่วยมีผลเป็นบวกหรือติดเชื้อ ต้องจัดหาเรื่องเตียง ไม่ให้ผู้ป่วยเดินทางไปเอง โดย นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า ทั้ง 3 สิ่งนี้ได้ประกาศออกไปแล้ว เพราะฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งต้องดำเนินการ หากไม่ดำเนินการตามนี้ต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาลมีโทษปรับ จำคุก รวมทั้งมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อด้วย ซึ่งช่วงที่ผ่านมาทราบ ว่า มีโรงพยาบาลอยู่แถวบางนาก็ไม่ได้ดำเนินการตามนี้ เรากำลังดำเนินการลงโทษตามกฎหมาย แต่ประเด็นนี้ผมคิดว่าเป็นส่วนน้อย เพราะจริงๆในการทำงานร่วมกันในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เรามีการคุยกัน เอาเตียงมารวมกัน เอาระบบมารวมกัน ซึ่งสามารถดูแลผู้ป่วยได้ในระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงฝากสถานพยาบาลเอกชนได้ดำเนินการตามกฎหมายตามที่กำหนดไว้ด้วย