วันที่ 15 เม.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน ทำให้มีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งขณะนี้ประชาชนเริ่มทยอยเดินทางกลับจากภูมิลำเนาหลังเทศกาลสงกรานต์ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความกังวลจะเกิดการแพร่ระบาดต่อเนื่อง จึงได้มีการพูดคุยและหารือกับกระทรวงสาธารณสุข และ ศบค.เตรียมกำหนดมาตรการเข้มงวดและประกาศใช้โดยเร่งด่วน ทั้งนี้ ในเวลา 13.30 น. วันที่ 16 เม.ย.64 พล.อ.ประยุทธ์ได้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 5/2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล สำหรับการประชุม วาระแรก เป็นการรับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 4/2564 จากนั้นศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ และที่น่าจับตาคือ ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอการยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อโควิด-19 ในการระบาดระลอกเม.ย.2564 และแผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ ในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เตรียมออกประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง อาทิ การประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 11), ประกาศ เรื่อง การให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังคงมีผลใช้บังคับ, การประกาศ เรื่อง การให้ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังคงมีผลใช้บังคับ นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ 4/2564 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในช่วงท้าย การประชุมกองบัญชาการกองทัพไทย เสนอแนะแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตามแนวชายแดน