NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ ดาวตกหนึ่งที ไม่ได้มีแค่สีเดียว โดย#ดาวตก เป็นปรากฏการณ์ท้องฟ้าที่พบเห็นได้ทุกวัน แต่จะเห็นมากเป็นพิเศษในช่วงฝนดาวตก เพราะโลกโคจรเข้าไปตัดกับสายธารของฝุ่นและเศษวัตถุขนาดเล็กที่ดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยทิ้งเอาไว้ขณะที่โคจรเข้ามา ทำให้เราเห็นแสงวูบวาบบนฟ้า พร้อมกับเสียงโห่ร้องของผู้พบเห็น เกิดเป็นความประทับใจไม่รู้ลืม และยิ่งหากเราสามารถบันทึกภาพด้วยกล้องถ่ายภาพซึ่งมีขีดความสามารถรับภาพมากกว่าตามนุษย์ ก็อาจจะทำให้เราได้เห็นรายละเอียดสีสันของดาวตกที่มากขึ้น ว่าไม่ได้เป็นเพียงแค่เส้นแสงสีขาวที่พุ่งผ่านไปอย่างรวดเร็วเท่านั้น ดังภาพที่เห็น
ภาพดาวตกนี้บันทึกภาพด้วยกล้องถ่ายภาพ DSLR โดย Frank Kuszaj เหนือรัฐมิสซูรี ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อต้นเดือนมกราคมปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ฝนดาวตกควอดรานติดส์ (Quadrantids) มีอัตราการตกสูงที่สุด แสดงให้เห็นเส้นแสงสีที่มีปลายแหลมทั้งสองด้าน (ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเส้นแสงที่เกิดจากดาวตก) มีสีสันหลากสี และความหลากสีนี้เองทำให้เราสามารถระบุธาตุองค์ประกอบของตัวอุกกาบาตได้ สีม่วงและสีฟ้าเกิดจากอะตอมแคลเซียม (Ca) และแมกนีเซียม (Mg) สีเขียวจากนิกเกิล (Ni) และเปลวสีแดงจากอะตอมออกซิเจน (O) และไนโตรเจน ( N) จากแก๊สในชั้นบรรยากาศโลก
ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์คาดว่าฝนดาวตกควอดรานติดส์นั้นมีต้นกำเนิดจากดาวเคราะห์น้อย 2003 EH1 ที่เคยทิ้งเศษหินและฝุ่นเอาไว้เมื่อครั้งที่โคจรผ่านเข้ามาใกล้วงโคจรโลก บ่งชี้ว่าดาวเคราะห์น้อย 2003 EH1 นั้นจะต้องมีธาตุเหล่านี้เป็นองค์ประกอบอยู่ และนี่คือความน่าหลงใหลของการถ่ายภาพด้านดาราศาสตร์ ความสวยงามที่เกิดขึ้นนั้นมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์อยู่เสมอ
เรียบเรียง : นายธีรยุทธ์ ลอยลิบ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา
อ้างอิง : https://apod.nasa.gov/apod/ap210202.html