จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน ออกมายอมรับว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของจีน มีประสิทธิภาพต่ำนั้น ทำให้เกิดความกังวลแพร่กระจายไปทั่วโลก และยังทำให้ชาติต่างๆ ไล่ตั้งแต่บราซิล ไปจนถึง ฮังการี ที่ใช้วัคซีนของจีน ในการป้องกันโรค พากันเกิดข้อกังขาขึ้นมา รวมถึง ยังมีคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนในประเทศจีนเองด้วย
ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ สื่อพากันประโคมข่าวว่า นายเกา ฟู่ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมโรคระบาดของจีน ยอมรับว่า วัคซีนป้องกันโควิดของจีน ที่มีอยู่ในปัจจุบัน “ป้องกันเชื้อไม่ได้สูงมากนัก” พร้อมระบุว่า รัฐบาลจีนกำลังพิจารณาว่า ควรใช้ร่วมกับวัคซีนที่ผลิตด้วยเทคนิคอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหรือไม่
ถ้อยแถลงดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรก ที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนออกมายอมรับว่า วัคซีนของตนมีประสิทธิภาพต่ำ หลังก่อนหน้านี้ ผลการทดสอบที่บราซิล พบว่าวัคซีนของบริษัทซิโนแวค มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ที่ 50.4% เกินกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 50% เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เทียบกับวัคซีนโควิดที่ “ไฟเซอร์” พัฒนาร่วมกับ “ไบโอเอ็นเทค” ซึ่งสามารถป้องกันได้ถึง 97%
จีนพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ขึ้นมาถึง 4 ยี่ห้อด้วยกัน และได้รับการอนุมัติให้นำไปใช้งานได้ โดยวัคซีนสัญชาติจีน ใช้เทคโนโลยีเชื้อตาย (DNA) ขณะที่บริษัทผลิตวัคซีนในตะวันตก ใช้เทคโนโลยีการตัดต่อสารพันธุกรรม (mRNA)
ที่ผ่านมา ผู้พัฒนาวัคซีนสัญชาติจีน มักโดนวิจารณ์เกี่ยวกับความไม่โปร่งใส และการไม่มีพันธมิตรต่างชาติเข้าร่วม ในการเผยแพร่ข้อมูลการทดลองฉบับเต็ม บนวารสารทางการแพทย์ต่าง ๆ
ทั้งนี้ผลการศึกษาล่าสุดจากบราซิลนั้น เกิดขึ้น 3 เดือน หลังจากที่มีการเปิดเผยรายงานประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคครั้งแรกออก ขณะที่ ซิโนฟาร์ม บริษัทของรัฐบาลจีนเอง ก็ยังไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลทดลองระยะ 3 ที่เป็นฉบับเต็ม ของวัคซีนป้องกันโควิด 2 ตัว ที่บริษัทพัฒนาขึ้นมา
ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาวัคซีนของซิโนแวค ที่ทำขึ้นในตุรกี กับกลุ่มทดลองมากกว่า 10,000 คนนั้น ระบุว่า วัคซีนของบริษัทเวชภัณฑ์จีนมีประสิทธิภาพที่ระดับ 83.5% นั้น ยิ่งทำให้เกิดข้อกังขาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนตัวนี้มากยิ่งขึ้น