“ ต้องดูว่าแค่ไหนคือความพอดี ที่ผ่านมาเวลาที่เราปิดกั้น เราไม่ได้ปิดกั้นทั้งหมด เราปิดกั้นเฉพาะเรื่องที่ผิด เรื่องที่ไม่ถูกต้อง ส่วนเรื่องที่ถูกต้องเราไม่ได้ปิดกั้น”
เรื่อง : ปาริชาติ เฉลิมศรี หมายเหตุ : การเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีคนใหม่ป้ายแดง ของ “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้รับความสนใจทั้งในแง่การบริหารงานของกระทรวงดีอีเอส และทางด้านการเมือง ตลอดจนการป้องกัน แก้ไขปัญหาเฟคนิวส์ “สยามรัฐ” สัมภาษณ์พิเศษ “ชัยวุฒิ” ถึงแผนการทำงาน การบริหารจัดการภารกิจของกระทรวงดีอีเอส ตลอดจนทิศทาง ทางการเมือง ว่าจะมีผลต่อการทำงานหรือไม่ อย่างไร - วางแผนการทำงานในกระทรวงอย่างไร นโยบายในภาพรวมที่ทำดีอยู่แล้วก็จะทำต่อไป เพราะยังเป็นรัฐบาลเดิม และนายกรัฐมนตรีคนเดิม สิ่งที่รัฐบาลทำดีอยู่แล้วก็ต้องทำต่อไป ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ส่วนเรื่องที่เร่งด่วน ปัญหาที่ติดขัดจะต้องเร่งแก้ไขให้เร็วที่สุดและเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนมากที่สุด เรื่องแรกที่คิดจะทำคือ เรื่องการส่งเสริมความเท่าเทียมในการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบการ และเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ใช้ดิจิตอลไอดีในการทำบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อต่อยอดคุ้มครองสิทธิประชาชนในเรื่องอื่นๆ เพื่อไม่ให้มีการหลอกลวง จากการปลอมตัวในระบบออนไลน์ ซึ่งเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานโดยระบบ 5G เป็นเทคโนโลยี ที่จะวางโครงสร้างพื้นฐานให้ประชาชนใช้ได้อย่างแพร่หลาย ที่จะส่งเสริมระบบอื่นๆในการพัฒนาเป็นธุรกิจ เพราะระบบ 5G เป็นระบบที่เร็ว ซึ่งจะทำให้เกิดการทำธุรกิจในระบบออนไลน์ และจะทำให้เรื่องสมาร์ทซิตี้และอื่นๆ ตามมาอีกเยอะ นอกจากนี้ผมได้มอบนโยบายให้กับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จะต้องใช้ระบบดิจิตอลและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยในการขนส่งสินค้ารวมถึงการพยายามลดต้นทุนให้ได้มากยิ่งขึ้น แต่ไม่ได้บอกให้เป็นองค์กรที่แสวงหากรรมผลกำไรสูงสุด แต่ไปรษณีย์ไทยคือ การบริการประชาชน ไม่ว่าไกลแค่ไหนก็ต้องไป ไม่คุ้มค่าส่งก็ต้องไป เพราะต้องบริการประชาชน และประชาชนต้องได้รับบริการที่ดีทั่วถึง และราคาถูก ทั้งยังต้องสามารถแข่งขันกับบริษัทเอกชนได้ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ นายกรัฐมนตรีให้ไปดูว่ากระทรวงได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง ให้มีการสรุปมา อะไรที่ดีก็ทำต่อไปเพราะเป็นนโยบายเดิมของรัฐบาลที่เราจะมาสานต่อ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นในเรื่องดิจิตอลไอดี คือการยืนยันตัวตนทางระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้เลขบัตรประชาชน 13 หลัก หากเราทำได้ก็จะช่วยทำให้การทำธุรกรรมทางการเงิน และการซื้อของออนไลน์ไม่ถูกหลอกลวง รวมถึงข่าวปลอมก็จะลดลงด้วย เพราะเมื่อสามารถยืนยันตัวตนได้ ก็สามารถที่จะดำเนินคดีคนที่ทำผิดได้ การหลอกลวงก็จะลดลงเพราะคนที่ทำผิดก็จะเกรงกลัว แต่ที่ผ่านมามั่วไปหมด มีการสร้างตัวปลอมในระบบออนไลน์จำนวนมาก เช่น ที่มีการนำภาพดาราเกาหลีมาตั้งเป็นโปร์ไฟล์และหลอกให้โอนเงิน สิ่งเหล่านี้เกิดจากการที่เรา ไม่ได้มีการยืนยันตัวตนทำให้ระบบออนไลน์มั่วไปหมด ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นในเรื่องนี้มาก เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าหากสามารถยืนยันตัวตนได้โซเชียลมีเดียก็จะสะอาดขึ้น - จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง และมีกลุ่มคนออกมาเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดียจะมีการดำเนินการอย่างไร ถ้ามีการเคลื่อนไหวเยอะ เราก็ทำงานกันเยอะขึ้น เพราะเราต้องทำระบบที่เรียกว่า Social Listening คือการฟังเสียงโซเชียล ที่ตรวจสอบว่ามีข่าวหรือมีการโพสต์อะไรในระบบที่เป็นภัยกับความมั่นคง เป็นข่าวปลอม ใส่ร้ายเสียดสีหรือทำให้สถาบันต่างๆเสียหาย เราก็ต้องคอยตรวจสอบและแก้ไข เช่นการปิดหรือดำเนินคดีตามอำนาจที่เรามี ซึ่งจะทำให้งานของเราเยอะขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นปัญหาเพราะเป็นงานที่เราต้องทำอยู่แล้ว - จะมีการเร่งดูแลในส่วนของข่าวปลอมให้เร็วขึ้นหรือไม่ เรามีศูนย์ดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว ซึ่งผมได้ติดตามเรื่องนี้และได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รีบทำเรื่องนี้ให้ดีที่สุดตามโครงสร้างที่มีอยู่ ทั้งนี้ผมมีเป้าหมายที่คิดไว้ แต่ยังไม่ได้ทำคือ การให้แพลตฟอร์มที่ระบบไม่ได้อยู่กับกฎหมายไทย ก็คิดกันว่าจะแก้กฎหมายให้เข้ามาอยู่ในระบบของเราให้ได้ เพื่อที่จะได้ควบคุม ซึ่งเรื่องนี้จะทำได้แค่ไหน ก็ต้องมีการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและดูกฎหมายเกี่ยวข้องว่า จะต้องทำอย่างไร สามารถแก้กฎหมายหรือระเบียบอะไรได้บ้าง ทั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของโซเชียลมีเดียอย่างเดียวแต่ยังรวมถึงการค้าออนไลน์ การทำธุรกรรมต่างๆ ที่วันนี้มีการขายของจากต่างประเทศจำนวนมากซึ่งไม่มีการเสียภาษีทำให้ขายของได้ราคาถูกกว่า ทำให้คนไทยเสียเปรียบแข่งขันกับเขาไม่ได้ - เรื่องการแก้ไขกฎหมายจะดำเนินการอย่างไร เรื่องนี้กระทรวงดีอีเอส ทำมาอย่างต่อเนื่อง ผมมาเดินหน้าต่อเพื่อผลักดันให้เป็นรูปธรรมให้ได้ในสมัยที่เป็นรัฐมนตรี และสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย พร้อมกำกับดูแลผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ ให้อยู่ในกฎหมาย และทำให้บ้านเมืองของเราสงบสุขซึ่งจะทำให้ธุรกิจ เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้พร้อมกันนี่คือเป้าหมายที่เราอยากทำ - ปัญหาการใช้สื่อโซเชียลจาบจ้วงสถาบันมีการดำเนินการอย่างไร ทำเหมือนกับที่ทำเรื่องข่าวปลอม มีการปิดกั้นและดำเนินคดี ซึ่งดำเนินการอยู่ตลอดเวลาทั้งที่ได้รับรายงาน แต่อย่างที่บอกแพลตฟอร์ม เฟซบุ๊กไม่สามารถให้เขาดำเนินการได้อย่างทันใจ ฉะนั้นต้องมีการปรับแก้กฎหมาย กระบวนการเรื่องเหล่านี้ในสังคมไทย ว่าจะทำอย่างไรให้ระบบต่างๆสอดคล้องกับบริบทกฎหมายหรือวัฒนธรรมของไทย เพราะที่ผ่านมาเป็นระบบเปิด ใครจะทำอะไรก็ว่าไป การที่จะไปเปลี่ยนก็ต้องใช้เวลา ทั้งนี้การจะเปลี่ยนแปลงอะไรอาจจะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในบางเรื่อง ก็จำเป็นจะต้องชั่งน้ำหนัก และหาความพอดีให้เกิดความสมดุล ระหว่างการจำกัดสิทธิ์ของประชาชนในบางเรื่อง กับความสงบสุขของบ้านเมือง ซึ่งกำลังศึกษาดูกันอยู่ ก็ต้องใช้เวลา - การชั่งน้ำหนักระหว่างกฎหมายและสิทธิของประชาชน เช่น หากมีการปิดเฟซบุก จะเป็นดาบสองคมหรือไม่ เพราะอาจจะถูกโจมตีว่าจำกัดสิทธิ์ของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น ต้องดูว่าแค่ไหนคือความพอดี ที่ผ่านมาเวลาเราปิดกั้น แต่เราไม่ได้ปิดกั้นทั้งหมด เราปิดกั้นเฉพาะเรื่องที่ผิด เรื่องที่ไม่ถูกต้อง ส่วนเรื่องที่ถูกต้องเราไม่ได้ปิดกั้น ตัวอย่างหากเป็นทั้งเพจที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง มีการหลอกลวงประชาชน มีเจตนาที่ไม่ดีก็ต้องปิดเพจ ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่โดยวัตถุประสงค์ไทยเป็นระบบประชาธิปไตยทุกคนมีสิทธิ์เสรีภาพ การจำกัดสิทธิ์เขาโดยไม่มีเหตุผลเป็นไปไม่ได้ เรื่องนี้ก็ต้องค่อยๆ แก้กันไป เป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจะมีตำรวจ ศาล และส่วนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งที่เราทำวันนี้คือ การวางระบบโครงสร้างพื้นฐานและกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้คนไทยได้ใช้ประโยชน์จากดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นอย่างแพร่หลาย เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน เพื่อให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้า ที่สำคัญจะต้องแข่งขันกับต่างประเทศได้นั่นคือสิ่งที่เราทำ ซึ่งมีหลายเรื่องไม่ใช่แค่เรื่องข่าวปลอม รวมถึงเรื่องการส่งเสริมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่เราทำอยู่ การเป็นรัฐบาลดิจิตอลที่จะทำให้ระบบการติดต่อราชการทั้งหมดเป็นระบบออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการติดต่อราชการ ซึ่งดำเนินการไปเยอะแล้ว รวมถึงเรื่องความปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะมีหน่วยงานไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ที่ดูแลเรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยี เพราะหากมีการโจมตีและทำสงครามไซเบอร์ในประเทศไทยก็จะมีหน่วยงานที่จะคอยป้องกันและแก้ปัญหา - การวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในพื้นที่ทุรกันดาร มีการวางแผนอย่างไรเพื่อให้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปครอบคลุมและทั่วถึง มีการทำอย่างต่อเนื่องมาหลายปีในเรื่องของการขยายระบบอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ระดับหมู่บ้าน ซึ่งจะไกลแค่ไหน เราก็พยามที่ให้องค์การโทรศัพท์เดินสายไฟเบอร์ออปติกไปให้ถึง เพื่อให้มีระบบอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยในทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน นี่คืองานที่ทำอยู่ ซึ่งผมกำลังให้เช็กว่าขาดหมู่บ้านไหนบ้าง หมู่บ้านไหนที่เดินสายไปแล้วแต่ใช้งานไม่ได้ ก็จะเข้าไปปรับปรุง เพราะทุกพื้นที่จะต้องมีระบบอินเทอร์เน็ต ผมคิดว่าทำไมระบบอินเทอร์เน็ต ถึงไม่ใช่ระบบสาธารณูปโภค เหมือนกับไฟฟ้า น้ำประปาซึ่งผมพยายามที่จะแก้ให้ระบบอินเทอร์เน็ตเป็นสาธารณูปโภค เพราะเป็นเรื่องจำเป็น อย่างสายโทรศัพท์ขาดไปหนึ่งวันคนไม่ตกใจเท่ากับสายอินเทอร์เน็ตขาดไปหนึ่งวัน เพราะจะไม่สามารถทำงานได้ ผมจะต้องทำให้ระบบอินเทอร์เน็ตแพร่หลายและทุกคนต้อง นั่นคือความหมายของอินเทอร์เน็ต - ดิจิตอลสามารถช่วยพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทยช่วงสถานการณ์โควิด -19 ระบาดได้อย่างไร ผมคิดว่าโควิด-19 เป็นตัวเร่งมากกว่าเพราะที่ผ่านมาบางธุรกิจหรือบางคนยังสามารถใช้ชีวิตได้ปกติไปติดต่องาน ซื้อของเจอหน้ากันปกติ แต่เมื่อโควิด -19 แพร่ระบาดก็บังคับให้ทุกคนเข้าสู่ระบบการค้าขายออนไลน์ การประชุมออนไลน์ธุรกิจต่างๆ ก็เกิดขึ้นในยุคโควิด-19 การใช้เทคโนโลยีดิจิตอลขับเคลื่อนธุรกิจซึ่งผมเชื่อว่าคนไทยปรับตัวได้ดี และที่สำคัญรัฐบาลเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ระบบดิจิตอลแพร่หลายไปยังประชาชนได้มากขึ้น เช่นโครงการเยียวยาต่างๆ ที่มีการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน ซึ่งที่จริงแล้วรัฐบาลสามารถที่จะให้จ่ายเงินสดได้ แต่เราคิดว่าการให้คนใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนอย่างแพร่หลายจะเป็นพื้นฐานให้กับประชาชนคุ้นเคยกับระบบเหล่านี้ ที่ต่อไปการทำธุรกรรมต่างๆ ทางสมาร์ทโฟนจะแพร่หลายมากยิ่งขึ้น - ต้องยอมรับว่า มีคนไทยบางส่วนที่ยังไม่มีสมาร์ทโฟน เราต้องส่งเสริม ซึ่งได้พูดคุยในเรื่องนี้และพร้อมที่จะส่งเสริมให้เขาเข้าถึงให้ได้ แต่ต้องยอมรับเพราะประชาชนบางส่วนอาจจะมีข้อจำกัดไม่ใช่เรื่องไม่มีเงินซื้อ แต่ชาวบ้านบางคน อาจจะสายตาไม่ดี อายุเยอะ อ่านหนังสือไม่ออก หรือคนพิการใช้มือถือไม่ได้ ก็ต้องหาเทคโนโลยีอื่นให้เขาใช้ ซึ่งผมได้พูดคุยกับกระทรวงแล้วว่า จะมีสมาร์ทโฟนสำหรับคนพิการ คนตาบอดให้เข้าถึงระบบได้หรือไม่ แต่ในภาพรวม เราต้องให้สังคมไทยเป็นสังคมดิจิตอล ที่คุ้นเคยกับการใช้ระบบดิจิตอลผ่านสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ต่างๆ วันนี้ผมเชื่อว่า คนไทยทั้งประเทศรู้จักการจ่ายเงินทางมือถือแล้วจากสิ่งที่รัฐบาลได้ทำมา - อะไรคืออุปสรรคในการทำงานของกระทรวงดีอีเอส ได้เร่งรัดโครงการต่างๆ ซึ่งผมติดตามให้ทุกหน่วยงานเสนอแผนงานที่ยังติดขัด ก็ช่วยกันดู ยังไม่มีอะไรที่น่าหนักใจ ทุกอย่างไปได้ดี ยังไม่มีอะไรที่เป็นปัญหา แต่จะติดในเรื่องการประสานกับกระทรวงอื่น ๆ เพราะต้องไม่ลืมว่า การที่เราจะทำอะไรก็ตาม ข้อมูลจะต้องเชื่อมโยงกัน แต่ระบบราชการข้อมูลแต่ละกระทรวงไม่เชื่อมโยงกัน ซึ่งเป็นอุปสรรคที่เราจะต้องเชื่อมโยงประสานงานให้ได้ เป็นหน้าที่ที่เราจะต้องคิด ทำอย่างไรให้ข้อมูลเหล่านี้เชื่อมโยงกันและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ รวมถึงเรื่องข้อกฎหมายหรือการสร้างความเท่าเทียมของผู้ประกอบการต่างๆที่ยังไม่ค่อยดีเท่าที่ควรซึ่งก็ต้องมีการปรับปรุงหมายและกฎระเบียบต่างๆเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับผู้ประกอบการให้กับนักธุรกิจที่ทำธุรกิจทางโลกออนไลน์ รวมถึงคุ้มครองประชาชนไม่ให้โดนเอารัดเอาเปรียบหรือโดนหลอกซึ่งจะต้องทำให้มากกว่านี้ - ความรู้สึกแรกที่ได้เป็นรัฐมนตรี ผมดีใจ ภูมิใจ และรู้สึกเป็นเกียรติที่นายกรัฐมนตรีและพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวพรรคพลังประชารัฐ ให้โอกาสมาทำงานในด้านนี้ ซึ่งเป็นด้านที่ผมคิดว่าผมถนัด เพราะผมจบการศึกษาด้านวิศวกรรมมาและมีความเข้าใจเรื่องต่างๆเหล่านี้ รวมถึงมีเพื่อนฝูงอยู่ในแวดวงธุกิจ เครือข่ายนักวิชาการที่จะมาช่วยกันทำงานให้กับทรวงนี้ได้ ผมยอมรับว่าไม่เคยอยู่ในกระทรวงนี้ตอนรัฐมนตรีคนเก่าอยู่เราก็ไม่ได้เข้ามา อยู่ทำงานในสภา แต่ในเชิงแนวความคิด เราเป็นนักการเมืองก็เข้าใจอยู่แล้วว่า เข้ามาทำงานเพื่อผลักดันสิ่งต่างๆ นโยบายของรัฐบาลให้เดินหน้าและพยามให้ตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชน หากเราจะทำอะไร ถ้าเราตั้งใจขับเคลื่อนเพื่อประโยชน์ของประชาชนก็จะทำออกมาได้ดี แต่หากว่าเราทำงานแล้วคิดถึงผลประโยชน์ของกลุ่มนั้น กลุ่มนี้ ของพวกพ้อง ก็จะไม่สามารถเดินหน้าได้ก็จะมีแต่ปัญหา - เป้าหมายของกระทรวงดีอีเอสที่อยากให้ประชาชนเห็น อยากให้ประชาชนรู้สึกว่าชีวิตเขาเปลี่ยนแปลง วันนี้เป็นโลกของดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นเต็มรูปแบบ เราต้องเข้ามาสู่ระบบดิจิตอล ทั้งในการทำงาน และธุรกิจต่างๆ เราจะต้องปรับตัวให้ทัน ซึ่งกระทรวงดีอีเอสจะเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ให้ประชาชนรู้สึกว่ามีประโยชน์ กระทรวงจะเป็นตัวช่วยให้ประชาชนเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นให้ได้ นั่นคือเป้าหมายของเรา รวมถึงการที่อยากให้ทุกคนได้รับความเป็นธรรมและเท่าเทียมได้ใช้ประโยชน์นี้อย่างแพร่หลาย และที่สำคัญสุดท้ายอยากให้การสื่อสารของประชาชนในยุคดิจิตอล เป็นโซเชียลสีขาวที่ไม่ใช่สีเทาหรือสีดำ ซึ่งวันนี้มั่วมาก มีภาพลามกอนาจาร มีการล่อลวงเด็ก มีการใช้ความรุนแรง มีเว็บการพนัน ขายของผิดกฎหมาย ผมว่ามันไม่ใช่เพราะสมัยก่อนไม่มีออนไลน์เรื่องผิดกฎหมายจึงเข้าถึงยาก แต่เดี๋ยวนี้ในโลกออนไลน์สามารถซื้อได้ทุกอย่าง สังคมออนไลน์เป็นสังคมที่มีสิ่งผิดกฎหมายและสิ่งไม่ดีจำนวนมาก ผมอยากให้โลกออนไลน์เป็นโลกสีขาวแต่ถ้าจะให้เดินไปถึงจุดนั้นคงยาก ต้องใช้ความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน จากทุกภาคส่วน ซึ่งส่วนกลางกจะต้องมาช่วยกัน อะไรที่ไม่ดีต้องทำให้ถูกต้อง ช่วยกันปิดกั้น ช่วยกันล็อก