ชาวไทยและชาวจีนได้ไปมาหาสู่และติดต่อสัมพันธ์กันมาตั้งแต่โบราณ ขณะเดียวกันพบว่ามีกลุ่มชาวต่างชาติที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทย เป็นชาวจีนมากที่สุดและยังคงรักษาความเชื่อและประเพณีของตนไว้ถ่ายทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งความเชื่อเรื่องการนับถือเทพเจ้าที่คนไทยเชื้อสายจีนรู้จัก คือ เทพเจ้ากวนอู พระโพธิ์สัตว์กวนอิม เจ้าแม่ทับทิม และโป๊ยเซียน นอกจากนี้ยังมีเทพเจ้าที่คุ้นเคย และคนไทยเชื้อสายจีนไหว้บ่อยที่สุดในเทศกาลสำคัญๆ คือ ปุนเถ้ากง และตี้จูเอี๊ย เพื่อสืบทอดความเชื่อและประเพณีให้อยู่คู่ลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีน ล่าสุดสำนักกิจการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้จัดเสาวนาปัญญาภิวัฒน์ ครั้งที่ 13 หัวข้อ “ตี้จูเอี๊ยและปุนเถ้าก” เทพผู้คุ้มครองบ้านและชุมชนจีนโพ้นทะเล โดยมี ผู้ช่วยศาตราจารย์ถาวร สิกขโกศล ผู้รู้ด้านวัฒนธรรมไทยและจีน และ นายสมชัย กวางทองพาณิชย์ ผู้รู้เรื่องประเพณีจีน ร่วมบรรยาย
การจัดเสวนาครั้งนี้เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าของคนจีนที่นับถือกันตั้งแต่บรรพบุรุษ แม้ปัจจุบันเกิดการผสมผสานประเพณีและคติความเชื่อระหว่างไทยกับจีน แต่คนไทยและคนจีนก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เพราะเคารพในเทพเจ้าองค์เดียวกัน
@ เทพแห่งที่ดิน-เทพแห่งชุมชน
ผู้ช่วยศาตราจารย์ถาวร ผู้รู้ด้านวัฒนธรรมไทยและจีน กล่าวว่า ชาวจีน มีความเชื่อเรื่องที่ดินว่า แผ่นดินมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง จากหลักฐานตั้งแต่ยุคหินใหม่คนจีนมีการไหว้ฟ้า ไหว้ดิน และรูปดิน พระธรณี หรือเทพแห่งดินในยุคแรกๆเป็นผู้หญิง จะเรียกอะไรนั้นยังไม่ชัดเจน ต่อมาราชวงศ์โจว และราชวงศ์ซาง จีนมีตัวอักษรสมบูรณ์มากในราชวงศ์โจว ซึ่ง 2 ราชวงศ์ดังกล่าว คนจีนเรียกเจ้าแห่งที่ดินว่า “เสื้อ” (เสียงจีนโบราณ) “เซ่อ” (เสียงจีนปัจจุบัน) และ “เสีย” (จีนแต้จิ๋ว) โดยการเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์สมัยนั้นมีการนำหินมาวางซ้อนกันเป็นร้านเล็กๆ และพัฒนาเรื่อยมาเป็นศาลขนาดเล็ก
ผู้ช่วยศาตราจารย์ถาวร อธิบายว่า “เสีย” เทพแห่งที่ดินหรือเจ้าแห่งที่ดิน ได้มีการผูกตำนานว่า “กงก้ง” ซึ่งเป็นเทวดาองค์หนึ่ง มีลูกชาย ชื่อโกวหลง ซึ่ง “กงก้ง” ได้ปราบประเทศจีนได้ทั้งหมด แบ่งออกเป็น 9แคว้น โดยโกวหลง เป็นผู้ปกครองได้อย่างสุขสงบ สันติสุข ประชาชนเคารพ เมื่อตายไปผู้คนก็ไหว้เป็น “เสีย”
“คำว่าโฮ่วถู่(โฮ่วโท่ว) หรือตัวอักษร โฮ่ว จีนโบราณเป็นรูปหญิงให้นมลูก คนจีนใช้เรียก หญิงผู้เป็นหัวหน้า ต่อมาเมื่อสังคมจีนผู้ชายเป็นใหญ่ โฮ่ว จึงหมายถึงผู้ชาย เช่น โฮ่วอี้ เป็นนักยิงธนูในเทพปกรณัมจีน ได้ชื่อว่าเป็นผู้ยิงธนูดับดวงอาทิตย์ โดยธนูเพียงดอกเดียวทำให้ดวงอาทิตย์ตกลงมาถึง 9 ดวง”
เมื่อมาถึงยุคของราชวงศ์ฮั่น ก็มีความเชื่อเรื่องหยิน-หยาง แพร่หลายมาก คือ ฟ้า เป็น หยาง(ชาย) ดิน เป็น หยิน(หญิง) ดังนั้น โฮ่วโท่ว จึงกลายมาเป็นหญิง และ “เสีย” แยกออกมาเป็นเจ้าที่ดินของชุมชนที่ตัวเองอยู่ แต่ “โฮ่วโท่ว” คือแผ่นดินทั้งโลก สำหรับการเซ่นไหว้สมัยก่อน คนที่จะไหว้ฟ้าทั้งหมด และดินทั้งแผ่นดินต้องเป็นกษัตริย์องค์เดียวคือ “เทียนจื่อ” โอรสสวรรค์ ส่วนชาวบ้านไหว้ได้เฉพาะ เสีย เทพแห่งที่ดินของชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ โดยใน 1ปี จะมีพิธีเซ่นไหว้ “เสีย” 2 ครั้ง คือ ในฤดูใบไม้ผลิ เพื่อขอพรให้การทำไร่ ทำนา ฝนตกต้องตามฤดูกาล เมื่อถึงวันไหว้พระจันทร์ ซึ่งตรงกับการเก็บเกี่ยวผลผลิต ก็ไหว้เพื่อขอบคุณ
ผู้รู้ด้านวัฒนธรรมไทยและจีน กล่าวเพิ่มเติมว่า สมัยสามก๊ก เกิดสงครามกลางเมือง ผู้คนกระจัดกระจาย ไม่ได้อยู่บ้านของตนเอง “เสีย” จึงหายไปกลายเป็นเรื่องชุมชน สมาคม หรือ การรวมกลุ่มและเทพแห่งที่ดินเรียกใหม่ว่า โถวตี่ (โขวตี่) เมื่อถึงราชวงศ์ซ่ง การค้าแพร่หลาย เมืองขยายตัว ผู้คนไม่ได้อยู่บ้านของตัวเอง ทำให้ไม่สามารถเซ่นไหว้ “เสีย” ได้ จึงไหว้ “โถวตี่” เกิดเป็น “โถวตี่กง” ซึ่งจีนโบราณการไหว้เจ้าที่ดิน2 อย่าง คือ 1.ไหว้รวมกันของชุมชมชน 2.ไหว้ในบ้านตัวเอง ซึ่งเป็นที่มาของ “ตี้จูเอี๊ย”
“ราชวงศ์ซ่ง คนจีนให้ความสำคัญกับบรรพบุรุษระบบตระกูลแซ่แพร่หลาย คนจีนถือว่าผีบรรพบุรุษสำคัญกว่าเทวดา ดังนั้น ตี้จูเอี๊ยจึงหายไปจากเมืองจีน มี สิ่งจู ป้ายติดวิญญาณบรรพบุรุษไว้คุ้มครอง
อย่างไรก็ตามคนจีนมีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจอยู่ 3ประการ 1.วิญญาณบรรพบุรุษ 2.เทพประจำชุมชน 3.เทพที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วๆ ไป เช่น พระกวนอิม ทีกง ซึ่งแล้วแต่ลัทธิศาสนา” ผู้รู้ด้านวัฒนธรรมไทยและจีน กล่าว
@ ปุนเถ้ากง-ตี้จูเอี๊ยในเมืองไทย
อย่างไรก็ดี เมื่อชาวจีนออกไปทำมาหากิน ออกมาสู่โพ้นทะเล ก็ไม่สามารถเอาป้ายสถิตวิญญาณมาด้วยได้ เพราะรากฐานยังต้องอยู่ที่เดิม หากนำป้ายสถิตวิญญาณมาถือว่าคนๆ นั้นขาดจากเมืองจีน ดังนั้นคนจีนจึงไม่มีผีบรรพบุรุษคุ้มครอง ทั้งนี้ในเอเชียอาคเนย์คำเรียกเจ้าแห่งชุมชนจะต่างกัน มาเลเซีย และสิงคโปร์ มักจะเรียกว่า ตั่วแป๊ะกง แต่ในไทยจะเรียก ปุนเถ้ากง ตั่วแปะกง ซึ่ง ปุนเถ้ากง มีลักษณะที่เหมือนกันคือ ไม่ใช่โถวตี่ เพราะที่นี่ไม่ใช่ประเทศจีน ดังนั้นคนจีนที่มาก่อนโดยเฉพาะรุ่นบุกเบิกมาตายในเมืองไทยบางคนมีคุณงามความดีมีความรู้สูงเมื่อตายแล้วคนในท้องถิ่นก็ยกย่องเซ่นไหว้เป็นเจ้าจึงเอาไปโยงกับโถวตี่ ของจีน เรียกว่า ปุนเถ้ากง
นายสมชัย กวางทองพาณิชย์ ผู้เรื่องเรื่องประเพณีจีน กล่าวว่า สมัยกรุงศรีอยุธยา มีพื้นที่เป็นย่านที่อยู่อาศัยของชาวจีน เป็นตลาดค้าขายของชาวจีนที่ใหญ่ที่สุด เรียกว่า ย่านในไก่ ตนศึกษาเรื่องนี้พบหลักฐานว่า เคยมีศาลเจ้าปุนเถ้ากงอยู่ท้ายตลาดย่านในไก่ และเมื่อไม่นานมีการบูรณะบริเวณหลังมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยามีการค้นพบตัวสะพานเรียกว่าสะพานวานรหรือสะพานเทพหมี ซึ่งเคยอยู่ในบันทึกเก่าว่าบริเวณนี้อยู่ในชุมชนจีน จุดที่เคยเป็นตลาดย่านในไก่เมื่อเดินไปสุดตลาดและข้ามสะพานก็จะพบ ปุนเถ้ากง
“อยุธยามีหลักฐานชิ้นหนึ่งว่าเคยมีปุนเถ้ากงมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งมีอยู่ในคำให้การคุณหลวงประดู่วัดทรงธรรม คือพระเจ้าอุทุมพร ให้การกับพม่าว่า มีตลาดเรือที่แม่น้ำรอบกรุงซึ่งเป็นตลาดท้องน้ำ เป็นตลาดใหญ่มี 4ตลาดคือตลาดน้ำวนบางกะจาบ หน้าวัดเจ้าพนันเชิง1แห่ง ตลาดปากคลองปูจาม ท้ายสุเร่าแขก 1แห่ง ตลาดปากคลองคูไม้ร้อง1แห่ง ตลาดปากคลองวัดเดิม วัดอโยธยา ใต้ศาลเจ้าปุนเถ้ากง ซึ่งเป็นตลาดเอกในท้องน้ำ4ตลาด นอกจากนี้ยังมีปุนเถ้ากงที่ศาลเจ้าปากน้ำแม่เบี้ย ซึ่งถือว่าเป็นปุนเถ้ากงที่เก่าอยู่ที่อยุธยา” นายสมชัย ระบุ
กลับมาที่กรุงเทพมหานคร ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ของชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ขึ้นเรือที่ท่าน้ำทรงวาด มาอยู่ในบริเวณนี้ เทพปุนเถ้ากง เปรียบเสมือนเทพผู้เป็นใหญ่ที่คอยดูแลทุกข์สุขของราษฎรในพื้นที่ให้อยู่ อย่างร่มเย็น ทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง และยังเป็นที่นับถือของนักเดินเรือชาวจีนในอดีต จึงเป็นที่เคารพบูชาเป็นอย่างมาก จึงเป็นศาลปุนเถ้ากงที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพที่ค้นพบได้ในตอนนี้
“ตี้จูเอี๊ย หรือ เจ้าที่ เป็นเทพพื้นฐานที่คนเชื้อสายจีนส่วนมากต่างให้ความเคารพบูชาไว้ประจำบ้าน โดยเชื่อที่ว่าเทพเจ้าที่จะคอยดูแลคุ้มครองท้องถิ่น ที่ดิน ชุมชนนั้นๆ เปรียบเหมือนเป็นเทพารักษ์ประจำท้องที่เคารพบูชาแล้วจะพบความสุขสงบร่มเย็น ช่วยคุ้มครองผู้ที่นับถือบูชา รวมถึงครอบครัวของผู้บูชาในการบูชาคนจีนจะนำน้ำชาร้อน และจุดธูป 5 ดอกทุกวัน ซึ่งในอดีตคนจีนที่ย้ายถิ่นฐานมาค้าขายยังประเทศไทยจะเช่าบ้านเพื่ออยู่อาศัย จึงนำความเชื่อเรื่อง การเคารพและวิธีการบูชาเทพเจ้าที่มาเผยแพร่ยังประเทศไทย” นายสมชัย กล่าว
เทพไฉ่ซิ้งเอี๊ย : เทพแห่งความมั่งคั่ง ผู้ที่ทำธุรกิจการค้าส่วนใหญ่ นิยมหามาบูชา เชื่อว่าจะนำโชคลาภ เงินทอง โภคทรัพย์ หลั่งไหลมาสู่ผู้ครอบครองอย่างไม่ขาดมือ
พระโพธิสัตว์กวนอิม : เทพผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรัก ความเมตตากรุณา ขึ้นชื่อในเรื่องการขอแล้วสำเร็จสมหวังทุกประการ จึงกลายเป็นอีกหนึ่งองค์เทพที่มีความศักดิ์สิทธิ์
เทพเจ้ากวนอู : เทพแห่งความซื่อสัตย์ ยุติธรรม ช่วยคุ้มครองไม่ให้คนเลว คนไม่ดีเข้ามาทำร้ายกิจการและผู้บูชา ทั้งนำโชคลาภมาให้
พระสังกัจจายน์ : เทพเจ้าแห่งความสุข ความเจริญรุ่งเรือง ร่ำรวยมั่งคั่ง ถ้าร่ำรวยอยู่แล้วก็จะร่ำรวยยิ่งขึ้นไป วิธีขอพลังจากท่าน คือ ตั้งจิตอธิฐาน ใช้มือข้างขวา ลูบที่พุงวนขวาตามเข็มนาฬิกา 3 รอบขอพร
ตี้จู้เอี๊ย : เทพอารักษ์ประจำบ้าน ทำหน้าที่ดูแลปกปักรักษาผู้อยู่อาศัยในบ้านนำมาซึ่งความสมบูรณ์พูนสุขของผู้อยู่อาศัยภายในบ้าน และยังมีความเชื่อด้วยว่า หากมีการวางตำแหน่งตี่จู้เอี๊ยะได้อย่างถูกต้อง เทพตี้จูเอี๊ย จะช่วยเสริมชะตาของเจ้าของบ้าน ทั้งในเรื่องโชคลาภ ทรัพย์สินเงินทอง อำนาจบารมี สุขภาพร่างกาย รวมถึงความผาสุขของผู้อาศัยในบ้านด้วย
ฮั่วท้อเซียงซือ : เทพเจ้าแห่งยา หรือ หมอเทวดา บ้านใดมีคนป่วยอยู่จำเป็นต้องรักษานาน บูชาหมอฮูโต๋จะได้ผลดีมาก ผู้ที่ประกอบอาชีพด้านการแพทย์ มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เข็มฉีดยา หูฟัง ที่วัดความดัน นำมาบูชาหน้ารูปปั้นท่านแล้วนำมารักษาคนไข้ จะทำให้การงานราบรื่นมีชื่อเสียง
เทพบุ่นเชียง : เทพแห่งการอำนวยประโยชน์ในด้านการศึกษา อักษรศาสตร์ และการสอบเข้ารับราชการ นิยมบูชาช่วงเปิดภาคเรียน หรือก่อนสอบเข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยด้วยขนมตังเมหลอด ปัจจุบันหันมาใช้สายไหมแทน เชื่อว่าทำให้ความคิดแตกฉาน สอบเข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยสำเร็จ สมองดีหลักแหลม