สัมภาษณ์พิเศษ เรื่อง :พุทธชาติ แซ่เฮ้ง หมายเหตุ : จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เมื่อปลายปี 2562 และข้ามมาปี 2563 แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการคุมโรคได้ แต่ด้วยความย่ามใจของคนไทย ทำให้โควิดกลับมาระบาดซ้ำอีกระลอกเมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจของประเทศ คนตกงานเป็นจำนวนมาก “สยามรัฐ” ได้มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ วิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ได้สะท้อนถึงการรับมือของคนไทย กับการระบาดของไวรัสโควิด ที่มีไม่น้อยต่างเลือกกลับไปทำการเกษตรที่บ้านเกิด หลายคนได้เรียนรู้การเดินตามรอย “ศาสตร์พระราชา” ของในหลวง รัชกาลที่ 9 “กษัตริย์นักพัฒนา” ที่ได้ทิ้งมรดกเอาไว้ จนช่วยให้หลายชีวิตได้พ้นวิกฤติ -จากวิกฤติโควิด คนไทยหันกลับไปทำการเกษตรที่บ้านเกิดมากขึ้น มองเป็น 3 ด้าน ด้านแรก พื้นฐานบ้านเรามีจุดแข็งเรื่องวัฒนธรรมการผลิตอาหาร การเกษตรบ้านเราไม่ใช้เรื่องเทคโนโลยีการปลูกเพื่อเอาไปขายหาเงิน ไทยเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมทางการเกษตรเพื่อมีชีวิตอยู่ การอยู่รวมกันเป็นชุมชน ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน มีระบบสังคมที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง ร่ำรวย ซึ่งเราเรียกระบบนี้ว่า “วัฒนธรรม” แต่คนยุคนี้เข้าใจว่าวัฒนธรรมคือการแต่งกาย การฟ้อนรำ แต่ความจริงไม่ใช่ วัฒนธรรมที่แท้จริงคือ “วิธีคิด” กับการดำเนินชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย แต่เราพยายามจะทำลาย และทิ้งมัน ด้วยแรงศรัทธาที่มีต่อวัฒนธรรมฝรั่ง ซึ่งวัดความเจริญมั่งคั่งด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น รถยนต์ บ้านหรู เครื่องบิน เงิน ทอง ซึ่งเป็นคนละวัฒนธรรมกับเรา จึงคิดว่าขณะนี้เรากำลังกลับไปหาจุดแข็งของสังคมไทย ด้านที่สอง แผ่นนี้นี้เป็นสุวรรณภูมิ เป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ตั้งต้นน้ำที่มีถึง 25 ต้นน้ำ มีป่าพันธุกรรมสัตว์หลากหลาย พันธุกรรมพืชที่สมบูรณ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เคยทรงตรัสว่า บ้านเรามีความโชคดีที่สร้างความพอเพียงได้ง่ายมาก ในขณะที่บางประเทศอยู่บนเกาะ สร้างความพอเพียงให้กับคนบนเกาะไม่ได้ง่ายๆ จะต้องตะเกียกตะกายไปหาเงินหาทอง และซื้อทุกอย่างมากิน มาใช้ แต่บ้านเรามีความโชคดี เพราะมีภูมิประเทศที่ดี แต่เราก็ไม่เชื่อ มีการทำลายป่าต้นน้ำ ระเบิดภูเขามาสร้างตึก เพราะเชื่อว่าคือความเจริญ ซึ่งเป็นความหลงผิดของสังคม ด้านที่สาม ถ้าไม่มีโควิด คนก็จะไม่มองจุดแข็ง 2 ด้านนี้ คนจึงหนีไปตามวัฒนธรรมฝรั่ง เชื่อว่าเส้นทางที่จะมั่งคั่ง ร่ำรวย ไปรับใช้ฝรั่ง เช่น เมืองท่องเที่ยว ฝรั่งแห่กันมา ก็ไปทำทุกอย่างเหมือนฝรั่ง เพราะคิดว่าวิธีการดำเนินชีวิตแบบฝรั่งเป็นเรื่องดี และศรัทธาฝรั่งมากจนเกินไป พอโควิดมาเยือน ฝรั่งตายจำนวนมาก แต่ประเทศที่ไม่ได้ก้าวหน้าอย่างมาก เช่น ลาว ไทย ที่อยู่กับแดด ลม ดิน ชีวิตเหล่านี้ไม่เป็นอะไรเลย ไม่มีคนบาดเจ็บ ล้มตาย เขาก็เพิ่งรู้ เพิ่งสำนึกกันว่า การถอยกลับไปหาพื้นที่ที่มีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ รวมทั้งไปฟื้นฟูวัฒนธรรมพึ่งตนเองให้ได้ ทำให้เขามีชีวิตอยู่รอด คิดว่ากระแสเรื่องนี้กำลังมาแรง และมีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเหตุผล 3 ด้าน คือ 1.มีฐานวัฒนธรรมมั่นคงที่แข็งแรง 2.มีภูมิประเทศที่เหมาะสม และ3.สถานการณ์โควิดมาบีบบังคับเอื้อทำให้เรากลับมา แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มคาดหวังว่าจะกลับไปมั่งคั่งเหมือนเดิม โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทั้งหลาย เช่น ภูเก็ต คิดว่านักท่องเที่ยวจะแห่กลับไปแน่นเหมือนเดิม หากประเมินดีๆ ทุกประเทศที่มีเงินจำนวนมากมาท่องเที่ยว ใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย ไม่น่าจะกลับมาได้ง่ายๆ หรือจะยั่งยืน -ศาสตร์พระราชา จะช่วยแก้วิกฤติโควิดได้หรือไม่ หากมีการศึกษาหาความรู้ ฝึกปฏิบัติดีๆ และลงมือทำ เชื่อว่าจะช่วยได้อย่างมาก ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย คนที่ศึกษา รอบคอบ และมีแนวคิด ที่สำคัญต้องผ่านการฝึกอบรม ร่วมฟื้นฟูประเพณีลงแขก หรือเอามื้อกันก่อนที่จะไปลงมือทำของตัวเอง กลุ่มนี้จะรอด แต่กลุ่มที่เก็บเงินมาได้ กลับไปบ้านเกิด จากชาวบ้าน แล้วไปลงมือทำเลย ส่วนใหญ่จะไปไม่รอด -ปรับเมืองท่องเที่ยว เป็นท่องเที่ยวเชิงเกษตร จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วงวิกฤตโควิดได้หรือไม่ หากยังเปลี่ยนเรื่องเกษตรไปเป็นสินค้าการท่องเที่ยว คิดว่าคงไปไม่รอด ซึ่งบ้านจะต้องมี 4 เสา ดังนั้นต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่า การท่องเที่ยวเป็นเพียงเสาต้นหนึ่ง แต่อีก 3 เสา ต้องพึ่งอย่างอื่น เช่น การผลิตอาหาร การบริการ การเกษตร ป่าไม้ หรืออุตสาหกรรมในครัวเรือน และชุมชน อาทิ เกาะมะพร้าว เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวโด่งดังในภูเก็ต พื้นที่ 2,600 กว่าไร่ ประชากร 800 กว่าคน คนขายที่ดินไปสร้างรีสอร์ท และคิดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะแห่กันมา ทุกคนก็มาทำหน้าที่บริการนักท่องเที่ยว เปลี่ยนเรือประมงเป็นเรือบริการนักท่องเที่ยว มาเป็นลูกจ้าง เพราะเห็นว่ารายได้ดี บางคนได้วันละ 1,000 บาท บางคนได้หลายหมื่น จึงเริ่มทิ้งฐานที่มั่นของตนเอง ทิ้งอาชีพเกษตร อาชีพประมง แต่ถ้าจะให้มั่นคงจริงๆ การท่องเที่ยวก็คงยังเอาไว้ และจะบูมแค่ไหนยังไม่มีใครรู้ แต่เรื่องเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การประมง การบริการอื่นๆ คิดว่าทำไปพร้อมๆ กัน เพื่อกระจายความเสี่ยง เพราะหากมีสินค้าตัวเดียว คือการท่องเที่ยว สินค้าตัวนี้หายไปก็จะเจ๊ง เหมือนชีวิตคนในเมืองท่องเที่ยววันนี้ไม่มีจะกิน เพราะไม่มีคนผลิตอาหาร และรายได้จากการท่องเที่ยวหายไปทุกอย่างก็จบ มีการประกาศขายที่ดิน ขายรีสอร์ท เพื่อเอาเงินมาซื้อข้าวให้ลูกกินก่อน ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเคยเตือนไว้แล้วว่า ประเทศที่มีอุตสาหกรรมก้าวหน้าอย่างมาก เช่น ประเทศที่มีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มีแต่จะถอยหลังอย่างน่ากลัว แต่ถ้าเรามีการผลิตของกิน ของใช้ให้พอ สร้างที่อยู่อาศัยให้เป็น สร้างสภาพแวดล้อมให้มีป่าสมบูรณ์ และรู้จักทำอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร ทั้งเก็บไว้กินเอง และขายสร้างรายได้ ควบคู่ทำแหล่งท่องเที่ยวไปด้วย ก็จะมีความหลากหลาย ในหนึ่งเมือง หมู่บ้าน อำเภอ หรือจังหวัด ก็จะมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และมีความเสี่ยงน้อย เพราะอย่างหนึ่งขาดทุน อีกอย่างก็ยังกำไร -คิดว่าวิกฤติโควิด เป็นเรื่องร้าย หรือสร้างโอกาสคนไทย โดยเฉพาะภาคเกษตร ความเจริญก้าวหน้า กำลังทำลายฐานที่มั่นของสังคมไทย เช่น ทะเลเน่า ขยะล้นคลอง แม่น้ำ ป่า สภาพแวดล้อมพังหมด วัฒนธรรมที่ดีงาม น้ำใจของคนไทยถูกทำลาย เพื่อแลกกับเงิน และต้องการให้ประเทศก้าวหน้า มีรายได้ จึงคิดว่า โควิดมาเตือน หากทำเช่นนี้ต่อไป โลกทั้งใบก็จะไม่เหลืออะไร มนุษย์ก็จะอยู่บนโลกไม่ได้ ซึ่งคิดว่าในวิกฤตินี้เป็นโอกาสดี เรื่องแรกทำให้คนไทยหันมารักษาวัฒนธรรมที่ช่วยเหลือแบ่งปันกัน อันนี้หายไป อันตรายที่สุดของมนุษย์คือ การแก่งแย่งชิงดี เอาชนะกัน เป็นสาเหตุให้โลกใบนี้ฆ่ากัน ที่กำลังรุนแรงไปทั่วโลก เรื่องที่สอง คนจะเห็นความสำคัญเรื่องเงินเป็นลำดับท้ายๆ และนำเรื่องอาหารการกินมาก่อน คนจะคิดว่าทำอย่างไรจะมีกิน แม้ไม่มีเงินจะมีกินได้อย่างไร และทำของใช้เอง ในระดับประเทศจะทำอย่างไรให้มีต้นไม้เพิ่มมากขึ้น แม่น้ำลำธารกลับมาอุดมสมบูรณ์ ฝนตกสามารถเก็บน้ำฝนไว้กินได้ จึงเป็นโอกาสที่คนจะกลับมาพึ่งพาตนเอง เมื่อเกิดอะไรขึ้นเขาก็จะอยู่ได้ -อยากแนะนำคนที่กลับบ้านเกิดไปทำการเกษตร โดยเฉพาะการน้อมนำศาสตร์พระราชาไปใช้บ้าง ถ้าต้องการใช้ชีวิตอยากพอเพียงตามศาสตร์พระราชา ต้องศึกษาว่า ควรรู้ มีความชำนาญ หรือทักษะเรื่องอะไรไปรวมลงแขกเอามื้อ ฝึกทำกับคนอื่นๆ เพื่อหาความรู้ เพิ่มทักษะ ซึ่งเป็นการเรียนที่ไม่ต้องเสียเงิน เพราะถ้าทำคนเดียวอาจจะเจ๊งได้ หลังจากนั้นก็เริ่มเรียนรู้ที่จะวางแผนการใช้ที่ดิน ไม่ใช่คิดจะปลูกอย่างเดียว ต้องมีการอนุรักษ์ดิน และที่สำคัญสร้างเครือข่ายความร่วมมือจะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น เช่น การตลาด เชื่อว่าโอกาสความสำเร็จจะสูงมากขึ้น -อยากฝากรัฐบาล ถึงนโยบายส่งเสริมศาสตร์พระราชาอย่างไร คิดว่ารัฐบาลก็กำลังพยายามทำเรื่องนี้อยู่ แต่กลไกของรัฐบาลยังเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ตรงกลางซึ่งเป็นฝ่ายปฏิบัติ โอกาสที่จะเข้าใจยังน้อย เพราะไม่มีหลักสูตรให้คนเหล่านี้ได้เรียนรู้ แต่คนที่เคยปฏิบัติในภาคสนาม ที่เคยคลุกคลี เคยสัมผัส และทำงานถวายรับใช้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาก่อน คนเหล่านี้จะเข้าใจ ถ้ารัฐบาลจะทำอย่างจริงจัง ขอแนะนำให้อบรมข้าราชการ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะไปส่งเสริมสนับสนุนชาวบ้าน เพราะข้าราชการประจำทุกระดับยังมีความเข้าใจแบบงูๆ ปลาๆ การไปส่งเสริมสนับสนุนจะเพี้ยนไป อาจจะทำให้ชาวบ้านทำแล้วล้มเหลว และไม่กล้าทำต่อ จึงอยากแนะนำให้รัฐเอาจริงกับการศึกษาหาความรู้ โดยเฉพาะผู้ต้องปฏิบัติ ทั้งผู้กำหนดนโยบาย และผู้ที่แปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ควรมีความรู้ และสัมผัสความเป็นจริงจากการปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่อ่านตำราแล้วไปทำ เชื่อว่าไม่สำเร็จอย่างแน่นอน -ฝากถึงประชาชน และเกษตรกร ในการน้อมนำศาสตร์พระราชาไปใช้ดำเนินชีวิตอย่างไร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานปรัชญาแห่งความพอเพียง ประกอบกับทรงงานไว้ตัวอย่างกว่า 50,000 กรณีศึกษา ซึ่งมีทุกประเภท ทั้งภาคบริการ ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม หรือแม้แต่อาชีพอิสระ การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ให้เหมาะสม การนำทฤษฎีใหม่ๆ ที่มีอยู่มากมายไปประยุกต์ปรับให้เหมาะสมกับชีวิตของเรา ซึ่งทั้งหมดต้องเรียนรู้ ศึกษา และฝึกฝน จะนำไปสู่ความสำเร็จได้