เรื่อง : พัชรพรรณ โอภาสพินิจ หมายเหตุ : นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 จนถึงต้นปี 2564 เป็นช่วงที่มีการเลือกตั้งมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ทั้งการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และการเลือกตั้งเทศบาล สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้ถือเป็นการเว้นช่วงการเลือกตั้งมาอย่างยาวนาน โดยภาพรวมการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเป็นอย่างไร จะดุเดือดเท่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ผ่านมาหรือไม่ การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เชื่อมโยง และสัมพันธ์กับการเมือง "สนามใหญ่" หรือไม่ รวมถึงการออกมาใช้สิทธิ์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มเป็นอย่างไร “พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา” เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “สยามรัฐ” มีสาระที่น่าสนใจดังนี้ - ภาพรวมการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เป็นอย่างไรบ้าง สำหรับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2563 คือการเลือกตั้ง อบจ. และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และวันที่ 28 มี.ค. การเลือกตั้งเทศบาล การตื่นตัวของประชาชนทั้ง 2 การเลือกตั้งที่ผ่านมา ภาพรวมถือว่าตื่นตัวพอสมควร ผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง อบจ. ประมาณ 62-63 เปอร์เซ็นต์ เลือกตั้งเทศบาลเกือบ 66-67 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตัวเลขยังไม่นิ่ง คาดว่าอาจจะถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แต่เราตั้งเป้ามากกว่านั้น อย่างไรก็ตาม จำนวนเปอร์เซ็นต์การเลือกตั้ง อบจ. และเลือกตั้งท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นจากความตื่นตัวของประชาชน เนื่องจากเทศบาลใกล้ชิดกับประชาชนในเขตชุมชนมาก นอกจากนี้ หากดูจากผลการเลือกตั้ง ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ส่วนใหญ่ใครที่เคยเป็นแชมป์ก็อาจจะไม่ได้ในครั้งนี้ เรื่องนี้สะท้อนว่าไม่ว่าจะเป็นนายกอบจ. หรือนายกเทศมนตรี หรือสมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล ต้องตื่นตัวมากขึ้น เพราะประชาชนจับตาอยู่ว่าจะเข้ามาพัฒนาในส่วนของชุมชน และจังหวัดเขาอย่างไร ซึ่งประชาชนคงไม่ปล่อยปละละเลย คงดูจากผลงานต่างๆ มีการคิดก่อนการตัดสินใจ แม้จะมีคะแนนเสียงต่างกันเล็กน้อย แต่ก็บ่งบอกถึงความนิยมมากหรือความนิยมน้อย ซึ่งความนิยมดังกล่าว มาจากพื้นฐานของการทำงาน เช่น ประชาชนอยากได้ของใหม่ ลองของใหม่ และนี่คือสีสันในระบอบประชาธิปไตย "ความจริงผู้บริหารไม่จำเป็นต้องยืนยัน อาจต้องเปลี่ยนไป สมัยหน้าหากคนนี้ทำไม่ดี คนเก่าก็อาจกลับมาได้อีก นี่คือการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของผู้บริหาร และความนิยมของประชาชนที่เลือก นี่คือระบอบประชาธิปไตย นี่คือการชี้ถึงความตื่นตัวของประชาชน แต่คนที่ไม่ได้ถูกเลือก ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนไม่ดี แต่ประชาชนอาจอยากได้ของใหม่ อยากลองเปลี่ยนดูบ้าง ในสมัยก่อนก็เคยมีเหตุการณ์แบบนี้" - การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นได้ผ่านไปแล้ว ทั้งอบจ.และเทศบาล มีประเด็นไหนที่กกต.ต้องนำมาถอดบทเรียนสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป เราพยายามเต็มที่แล้ว ขนาดแค่มีเสียงสะท้อนมาเราก็ปรับแล้ว รวมถึงเรื่องสถานการณ์โควิดด้วยเราก็พยายามไม่ให้หน่วยเลือกตั้งเป็นสถานที่แพร่เชื้อ ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังไม่มีไทม์ไลน์ใครที่ติดเชื้อในสถานที่เลือกตั้ง เพราะเรามีการป้องกัน นอกจากนี้บทเรียนที่สำคัญคือเรื่องการทุจริตเลือกตั้ง หากดูจากคำร้องยังมีอยู่มากพอสมควร ถึงแม้จะไม่เห็นโจ่งแจ้ง ไม่ได้มีพยานหลักฐานที่ชัดเจน แต่เราก็ส่งคนลงไปสอบถาม และตรวจสอบ แต่ก็ยังมีเสียงสะท้อนออกมามากอยู่ ยังมีร่องรอยแห่งการทุจริตเลือกตั้ง ซึ่งเราก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่ประชาชนก็ต้องช่วยกันด้วย ลำพังกกต. ลำพังผู้ตรวจการเลือกตั้ง และทางเจ้าหน้าที่ก็ทำกันเต็มที่ อีกส่วนหนึ่งในการป้องกัน ในการสืบสวน ไต่สวนต้องนำหลักฐานมาแสดงให้เราด้วย ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม หรืออะไรก็ตาม จะได้ขจัดการทุจริตให้หมดไปจากระบบการเลือกตั้ง - อย่างที่บอกว่าการเลือกตั้งพบว่าคนเก่าไม่ได้อยู่ยาว มีการเลือกคนใหม่เข้ามาแทน บ่งบอกอะไรหรือไม่ คนรุ่นใหม่กับการเลือกตั้งมีอะไรที่น่าสนใจ ขอพูดเป็นภาพรวม เพราะการจะแบ่งแยกคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าคงไม่ได้ ความจริงแล้วคนในพื้นที่เขาจะรู้กัน เพราะคะแนนเสียงก็คงแยกไม่ได้ว่าคนรุ่นใหม่เลือกคนนี้ คนรุ่นเก่าเลือกคนนี้ เพราะการเลือกตั้งมันโดยตรงและลับ ก็คงดูภาพรวมว่าเป็นอย่างไร ผลคะแนนเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับตามระบอบประชาธิปไตย ต้องดูจากความเปลี่ยนแปลงมากกว่า อย่างที่บอกว่าคนที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งไม่ใช่คนไม่ดี เขาอาจจะเป็นคนดีแต่ประชาชนอาจจะอยากลองของใหม่ ซึ่งก็แล้วแต่ประชาชนตัดสินใจว่าจะเลือกใคร - การเลือกตั้งที่ผ่านมา ถือว่ามีตัวเลขคนรุ่นใหม่ที่ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากขึ้นหรือไม่ ตัวเลขขณะนี้ยังไม่นิ่ง ยังไม่เสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ - ความยากง่ายในการจัดเลือกตั้งระดับท้องถิ่นกับส.ส.คืออะไร การเลือกตั้งส.ส.นั้น เป็นประเด็นการเมืองซึ่ง อาจจะเยอะ แต่ระดับท้องถิ่นเป็นเรื่องการเมืองท้องถิ่น สำหรับการเลือกตั้งส.ส. มีประเด็นอะไรนิดหน่อยก็เป็นกระแสไปหมด บางทีก็เป็นอุปสรรคในการทำงาน ทำให้เราถูกโจมตีค่อนข้างเยอะพอสมควร ทั้งที่ประเด็นอาจไม่ใช่อย่างนั้น แต่ไปยกเหตุผลทำให้กกต.โดนโจมตีเยอะ เรียกว่าความรุนแรงทางการเมือง แต่ที่ผ่านมาเราคิดว่าเราทำถูกต้องแล้ว ก็ถือว่าถูกต้อง ไม่ได้หวั่นไหวอะไร อาจจะสะท้อนนิดหนึ่งว่าทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมต้องโจมตีกันถึงขนาดนี้ ซึ่งเราก็ถูกฟ้อง ถูกอะไรมากมาย แต่การปฎิบัติหน้าที่ การดำเนินการตามกฏหมายก็คงเป็นสิ่งที่มั่นคงที่สุด และ กกต.ก็ปฏิบัติตามกฎหมายมากที่สุด "สิ่งที่ยากหรือเป็นอุปสรรคสำหรับการเลือกตั้ง ส.ส. คือการนำข่าวที่ไม่จริงมาโจมตีหรือมาสร้างกระแส มีเรื่องของการเมืองเยอะ ข้อบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ กลายเป็นเรื่องทุจริต แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเป็นเรื่องภายในท้องถิ่น เป็นกระบวนการจัดภายในท้องถิ่น และเรากำกับดูแล ดูแล้วอาจจะไม่คึกคักเหมือนการเลือกตั้ง ส.ส. อย่างไรก็ตามเราทำตามกฏหมายก็ถือว่าไม่มีปัญหา ซึ่งถือว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นซอฟต์กว่าการเลือกตั้งส.ส." - ตอนนี้กกต.ถือว่ามีการปรับตัว สามารถรับมือกับประเด็นต่างๆ ในอดีตได้มากขึ้น สำหรับข้อบกพร่อง ข้อผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ต้องอย่าลืมว่าเราจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศ กรรมการประจำหน่วยเป็นพี่น้องประชาชนที่เสียสละ ใช้คนเป็นล้านคน ดังนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้เหมือนกัน หรือไม่มีข้อบกพร่องเลย การนับคะแนนต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ให้เป๊ะ ๆ ก็คงไม่ได้ แต่ละเขตก็มีคณะกรรมการที่เขาทำตามลำดับขั้นตอน กว่าจะมาถึงกกต.ประกาศผลก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เราก็อยากให้มันเรียบร้อยทุกอย่าง อาจจะมีข้อบกพร่องบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับทุจริต - การเลือกตั้งแต่ละครั้งนักการเมืองเองมีการปรับตัวเรื่องกฎหมาย และในเรื่องนโยบายมากขึ้นหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญใหม่การหาเสียงจะเน้นในเรื่องนโยบาย ดูจากการเลือกตั้งส.ส. ก่อนการเลือกตั้งมีการนำระดับแกนนำพรรคแต่ละพรรคไปพูดคุยกันเรื่องนโยบาย ก็คิดว่าเป็นแนวโน้มที่ดี เพราะคนที่เขาเลือก เขาก็เลือกนโยบาย อาจจะเลือกตัวผู้นำด้วย พรรคด้วย หลายอย่างประกอบกัน เมื่อก่อนอาจจะไม่ค่อยนำเสนอเรื่องนโยบายมากขนาดนี้ แต่หากสังเกตจากการเลือกตั้งส.ส. ครั้งที่ผ่านมาคนติดตามเยอะมาก ซึ่งหลายพรรคก็ทำตามนโยบายถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี ในท้องถิ่นก็ค่อนข้างเสนอนโยบายเยอะ อย่างช่วงโควิดครั้งที่ผ่านมาท้องถิ่นมีหน้าที่ทำตามกฏหมาย คือป้องกันโรค ทั้งเรื่องความสะอาดในพื้นที่ นี่คืออำนาจหน้าที่ ซึ่งท้องถิ่นเองเวลาเสนอนโยบาย เขาก็ดูอำนาจหน้าที่ของเขาแล้วก็นำมาแปลงเป็นนโยบายให้กับประชาชนได้รับทราบ ซึ่งทางกกต.ติดตามตลอด ต้องดูข้อเสนอของบางคนว่าสอดรับกับหน้าที่หรือไม่ ซึ่งผลที่ออกมาก็คือสอดรับกัน ไม่ใช่นโยบายที่เพ้อฝัน - ถ้าเปรียบเทียบการใช้สิทธิเลือกตั้งของคนรุ่นใหม่ในไทยกับต่างประเทศ พบข้อสังเกตอะไรที่น่าสนใจหรือไม่ มองว่าคนรุ่นใหม่อยู่ในทั้งสองกลุ่ม คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชอบคนรุ่นใหม่ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชอบคนรุ่นเก่า มีความเห็นค่อนข้างหลากหลาย ไม่ใช่ว่าคนรุ่นใหม่จะต้องไปแนวเดียวกันตลอด ขึ้นอยู่กับความเชื่อของเขา นี่คือสีสันของประชาธิปไตย - ยังเหลือการเลือกตั้งอีก 2 แมทใหญ่ คือ อบต.และผู้ว่าฯ กทม. กกต.เตรียมพร้อมมากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าการเลือกตั้งจะไปทางไหนก็ตามขึ้นอยู่กับประชาชนว่าเขาจะโหวตใครหรือเลือกใคร ซึ่งไม่ว่าจะไปทางไหนก็คงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร หากมีการเมืองเข้ามาแทรกก็มีกฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้ว อย่างเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส.ส. ไม่สามารถลงหาเสียงได้ แต่ส่งผู้สมัครในนามพรรคได้ มองว่าคนกรุงเทพฯ หากดูจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาทั้งส.ส. และเทศบาล ผลคะแนนมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด - ประเมินการแข่งขันจะดุเดือดหรือไม่ คงดุเดือดในเชิงนโยบาย อย่าลืมว่าคนกรุงเทพฯ เขาติดตามนโยบายจากคนที่เขาเลือก ดังนั้นจะทำตามนโยบาย หรือไม่ทำเขาติดตามตลอด - คงไม่ดุเดือดเท่าการเลือกตั้ง ส.ส. การเลือกตั้ง ส.ส. ช่วงนั้นเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐประหาร มาเป็นการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งกกต. ทราบดีว่าช่วงนั้นคงต้องหนักแน่ "แต่จะมีกี่ประเทศที่เปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ ส่วนใหญ่ก็ต้องมีอะไรค่อนข้างเยอะถ้าจะเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยจริง ๆ อย่างประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนใหญ่จะไม่สงบ แต่ประเทศเราถือว่าสงบในการเปลี่ยนมาสู่ระบอบการเลือกตั้ง แต่กกต.ก็โดนเยอะ แต่เราก็ทำถูกต้องตามกฏหมายจึงไม่กลัวถือว่าเราเปลี่ยนไปเป็นประชาธิปไตยอย่างสงบ” - แต่คนบางกลุ่มยังมองว่ายุคนี้ก็ยังคงเป็นเผด็จการแล้ว กกต.เอง ก็ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของเผด็จการ มีอะไรอยากชี้แจงหรือทำความเข้าใจ กกต.เป็นเครื่องมือทางกฏหมาย กฏหมายหมายเขียนมาอย่างไร เราก็ทำอย่างนั้น เราต้องเคารพกฎหมายอยู่แล้ว ถ้าไม่ปฏิบัติตามกฏหมายคงจะจบแล้ว ทุกคนถ้าไม่มีกฎหมายและไม่ปฏิบัติตามกฏหมายบ้านเมืองก็คงอยู่ร่วมกันไม่ได้ ดังนั้นมีกฎเกณฑ์ที่เขียนไว้ก็ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์นั้น ไม่มีอำนาจอะไรที่เข้ามาสั่งหรือแทรกแซงให้ทำนอกเหนือจากกฎหมายได้ - มีอะไรอยากฝากถึงผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง เราเปลี่ยนผ่านมาสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งตัวเลขผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งเป็นตัวเลขที่ยังไม่ค่อยสบายใจ ควรจะอยู่ที่ 70 - 80 เปอร์เซ็นต์ ได้แล้ว อำนาจอยู่ในมือของประชาชน กฎหมายให้อำนาจท่านมาเลือก เลือกใครเราก็นับคะแนนกันที่หน่วยให้เห็น อำนาจอยู่ในมือ อำนาจแปลงมาเป็นสิทธิและหน้าที่ ขอให้ไปเลือกตัวแทนของท่านในการเป็นตัวแทนระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าใครจะบอกว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เราก็ไม่ได้ปิดกั้นอะไร ประชาธิปไตยก็เป็นแบบนี้ ดีที่สุดคือการเลือกคนที่ดีที่สุด และปฏิบัติตามกฏหมายบ้านเมือง จะได้สงบ เคารพกฎหมาย กฏหมายไม่ดีอย่างไรก็แก้กันไปเป็นเรื่องของสภา แต่กฎหมายที่ออกมาแล้ว เราต้องปฏิบัติตาม นี่คือสิ่งที่อยู่ได้ทุกวันนี้