NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์เผยดาวเคราะห์นอกระบบที่อยู่ใกล้ระบบสุริยะของเรา โดยระบุ นี่คือภาพจินตนาการของดาวเคราะห์นอกระบบที่กำลังโคจรรอบดาวฤกษ์ Epsilon Eridani ห่างจากโลกประมาณ 10.5 ปีแสง อยู่ในกลุ่มดาวแม่น้ำ (Eridanus) ดาวเคราะห์ดวงนี้มีมวลใกล้เคียงกับดาวพฤหัสบดี มีวงโคจรรอบดาวฤกษ์แม่เป็นวงรี โดยจะโคจรเข้าใกล้ดาวฤกษ์แม่มากที่สุดเทียบเท่ากับระยะห่างจากโลกถึงดวงอาทิตย์ (149.6 ล้านกิโลเมตร) และจะโคจรไกลจากดาวฤกษ์แม่มากที่สุดเทียบเท่ากับระยะห่างจากดาวพฤหัสบดีถึงดวงอาทิตย์ (778.6 ล้านกิโลเมตร) สำหรับวงแหวนและดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์ดวงนี้ ยังคงเป็นเพียงสมมติฐานเท่านั้น ซึ่งดาวเคราะห์ดวงนี้จัดเป็นดาวเคราะห์แก๊ส จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะพบสิ่งมีชีวิต อย่างไรก็ตาม อาจมีดวงจันทร์บริวารที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมและเอื้อต่อสิ่งมีชีวิตได้ หลักฐานการค้นพบดาวเคราะห์ดวงนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2543 จากการที่นักดาราศาสตร์ตรวจพบความผิดปกติของดาวฤกษ์แม่ ต่อมานักดาราศาสตร์ยืนยันมวลและวงโคจรดาวเคราะห์ได้ในปี พ.ศ. 2549 โดยใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลวัดค่าแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ที่ที่ส่งผลต่อการเคลื่อนที่ของดาวฤกษ์ขณะกำลังโคจรรอบดาวฤกษ์แม่อย่างช้า ๆ สำหรับดาวฤกษ์ Epsilon Eridani มีอายุประมาณ 800 ล้านปี พื้นที่โดยรอบยังคงห้อมล้อมด้วยจานฝุ่นที่หลงเหลือจากกระบวนการก่อกำเนิดดาว ทอดยาวออกไปเป็นระยะทางกว่า 3.2 หมื่นล้านกิโลเมตร และเนื่องจากดาวเคราะห์อยู่ในระนาบเดียวกับจานฝุ่น จึงเห็นจานฝุ่นปรากฏเป็นเส้นตรง เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อ้างอิง : https://www.nasa.gov/.../nearest-exoplanet-to-our-solar...