ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง : เทศกาลสงกรานต์ไทย เป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ไทยมาแต่เดิม โดยใช้ “น้ำ” เป็นสื่อทางวัฒนธรรม สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะความเป็นไทย
ช่วงเทศกาลสงกรานต์จะตรงกับวันที่ 13 14 และ 15 ของเมษายนทุกปี ด้านรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ อย่างเช่นปีนี้มีวันหยุดยาวต่อเนื่องกันร่วมหนึ่งสัปดาห์ เพื่อให้ประชาชนที่ทำงานในต่างท้องที่ได้กลับไปยังถิ่นฐานบ้านเกิด เพื่อไปร่วมกิจกรรมประเพณีสงกรานต์วิถีถิ่นของตน อย่างไรก็ดี ในปีนี้ยังอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ภาครัฐได้มีการประกาศขอให้งดจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น งดรวมกลุ่มเล่นสาดน้ำ งดประแป้ง รวมไปถึงงดเล่นปาร์ตี้โฟม ส่วนด้านกระทรวงวัฒนธรรมให้เน้นการจัดกิจกรรมในแบบ “สงกรานต์วิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย” ส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ตามแบบแผนที่ดีงามที่เคยปฏิบัติกันมา เช่น ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ อุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ และการละเล่นการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ทั้งเชิญชวนแต่งกายด้วยสุภาพ สวมใส่ผ้าท้องถิ่น ผ้าไทยย้อนยุค ผ้าไทยร่วมสมัย หรือเสื้อลายดอกเข้าร่วมกิจกรรม
คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า “ก้าวขึ้น” หรือ “ผ่าน” หรือ “เคลื่อนย้าย” หมายถึง การเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งเข้าไปในอีกราศีหนึ่ง เช่น การเคลื่อนจากราศีสิงห์ไปสู่ราศีกันย์ ซึ่งจะเป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นทุกเดือน เรียกว่า สงกรานต์เดือน ยกเว้นว่าเมื่อพระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษเมื่อใดก็ตามก็จะเรียกชื่อเป็นพิเศษว่า “มหาสงกรานต์” อันหมายถึง การก้าวขึ้นครั้งใหญ่ซึ่งนับเป็นครั้งสำคัญ เพราะถือว่าวันนี้เป็นวันปีใหม่ตามคติพราหมณ์ โดยเป็นการนับทางสุริยคติ ซึ่งจะตกในราววันที่ 13 14 หรือ 15 เมษายน ซึ่งแต่ละวันจะมีชื่อเรียกเฉพาะ ดังนี้
วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” หมายถึง วันที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษอีกครั้ง หลังจากผ่านเข้าสู่ราศีอื่นๆ จนครบ 12 เดือน วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันเนา” แปลว่า วันอยู่ หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษอันเป็นราศีตั้งต้นปี และวันที่ 15 เมษายน เรียกว่า “วันเถลิงศก” เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ถือเป็นวันเริ่มปีศักราชใหม่ อย่างไรก็ดี หากดูตามปฏิทินหลวงประกาศสงกรานต์ คำนวณตามหลักโหราศาสตร์ก็จะมีการคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันบ้าง ดังสงกรานต์ปี 2564 วันมหาสงกรานต์ ตรงกับวันที่ 14 เมษายน แทนที่จะเป็นวันที่ 13 เมษายน ทั้งนี้ เพื่อให้จดจำได้ง่ายนั่นเอง
ในช่วงก่อนวันสงกรานต์จะมาถึงนั้น มักจะเป็นการเตรียมความพร้อมในเรื่องต่างๆ เพื่อในการจะเริ่มต้นชีวิตวันขึ้นปีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทำความสะอาดบ้านเรือน จัดทำอาหารคาวหวานไปทำบุญ เมื่อถึงวันสงกรานต์ นำอาหารที่ตระเตรียมไว้ไปทำบุญตักบาตร หรือนำไปถวายพระที่วัด ถือเป็นการสืบทอดและทำนุบำรุงพุทธศาสนา ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ หรือการทำบุญอัฐิ เป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณและผู้ล่วงลับไปแล้ว
สรงน้ำพระ การสรงนี้จะมี 2 แบบ คือ สรงน้ำพระพุทธรูป เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตเริ่มศักราชใหม่ และสรงน้ำพระภิกษุสามเณร ตามวิถีประเพณี ซึ่งวัดต่างจังหวัดจะนิยมสรงกันในวันไหล
ก่อเจดีย์ทราย จุดประสงค์เพื่อให้พระภิกษุได้นำทรายไปใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างหรือใช้ถมพื้นที่บริเวณเขตวัด ปัจจุบันการก่อเจดีย์ทรายอาจจะเหลือเพียงในเชิงรูปแบบกิจกรรม
รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ เป็นการแสดงความเคารพและกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ โดยเฉพาะผู้มีอาวุโสน้อยพึงปฏิบัติต่อผู้มีอาวุโสมาก เช่น พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และผู้ที่นับถือ ใช้น้ำสะอาดผสมน้ำอบหรือน้ำหอม นอกจากนี้เล่นรดน้ำในหมู่ญาติพี่น้อง มิตรสหาย หรือระหว่างเด็กๆ หนุ่มสาวในหมู่เพื่อนฝูงด้วยความสุภาพ
การละเล่นรื่นเริงหรือมหรสพต่างๆ พื้นบ้าน เป็นการเชื่อมความสามัคคีและเพื่อความสนุกสนาน รวมทั้งเป็นการสืบสานมรดกวัฒนธรรมในท้องถิ่นให้คงอยู่ เช่น ลิเก รำวง ลำตัด บางแห่งยังมีการทรงเจ้าเข้าผีเพื่อความสนุกสนาน เช่น การเข้าแม่ศรี การเข้าผีลิงลม ฯลฯ รวมถึงมีการเล่นอื่นๆ เช่น เล่นสะบ้า มอญซ่อนผ้า งูกินหาง เล่นลูกช่วง เล่นเพลงพิษฐาน (อธิษฐาน) เป็นต้น
สงกรานต์วิถีใหม่ปีนี้ มาร่วมสืบสานคุณค่าวัฒนธรรมไทย แล้วอย่าลืมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ด้วย