เรื่อง : พัชรพรรณ โอภาสพินิจ “ศาล” เป็นอีกหนึ่งสถานที่ในการพิจารณาคดีตามกระบวนการยุติธรรม โดยแต่ละศาลก็มีหน้าที่ในการตัดสินคดี หรือบุคคลแตกต่างกันออกไป ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคดีทางการเมือง โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ผ่านมา มีนักการเมืองที่ได้รับบทลงโทษ จากการพิจารณาของศาล ซึ่งบางคดี ก็เป็นผลพวงมาจากรัฐธรรมนูญ ปี 60 หรือเรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ “ปราบโกง” # “3 รมต.นกหวีด” ไม่รอดคดีกปปส.ล้มเลือกตั้ง ถือเป็นข่าวใหญ่รับต้นปี เพราะคดีนี้มีรัฐมนตรีที่ต้องถูกเด้งออกจากตำแหน่งถึง 3 เก้าอี้ รวมถึงส.ส.ที่ต้องถูกเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมืองด้วย แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ผลการตัดสินย่อมกระทบต่อตำแหน่งปัจจุบันของจำเลยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยคดีนี้คือคดีที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กับพวกรวม 39 คน ฐานร่วมกันเป็นกบฏ และข้อหาอื่น ๆ กรณีชุมนุมขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ให้ออกจากตำแหน่ง ตั้งแต่ปี 2556 และรวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้งส.ส.ทั่วไป ในปี2557 บุกยึดสถานที่ราชการ ปฏิบัติการ “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ” (Shutdown Bangkok) ด้วยการตั้งเวทีปราศรัยทั่วกรุงเทพมหานคร รวม 7 จุด ทั้งนี้การกระทำของพวกจำเลยล้วนไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงอำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ เหตุเกิดในกรุงเทพมหานคร และอีกหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเกี่ยวพันกัน โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษพวกจำเลยด้วยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113,116,117,135/1,209,210,215,216,362,364,365 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 76,152 หลังจากการพิพากษา ส่งผลให้ 3 จำเลย ซึ่งเป็นรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ประกอบด้วย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จำคุก 6 ปี 16 เดือน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำคุก 7 ปี และนายถาวร เสนเนียม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จำคุก 5 ปี ดังนั้นจะส่งผลทำให้ทั้ง 3 คนต้องหลุดจากตำแหน่งรัฐมนตรีทันที ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา160 (7) รวมถึงเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จำนวน 3 คน ได้แก่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ นายชุมพล จุลใส อดีตส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ และนายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ นอกจาก 3 คนนี้ ยังมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิการเมืองของนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ นายสำราญ รอดเพชร และนางทยา ทีปสุวรรณ ด้วย อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 160 (7) การกำหนดคุณสมบัติรัฐมนตรี ต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม และหากถูกคำพิพากษาไม่ว่าจะรอลงอาญาหรือไม่อย่างไร ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีโดยทันที แต่หากเป็น ส.ส. ถูกคำพิพากษาจำคุก ไม่ได้ประกัน ต้องถูกหมายขังเข้าเรือนจำ จึงจะพ้นจาก ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (6) ภายหลังจากศาลอาญาพิพากษา และไม่อนุญาตให้ประกันตัวแล้ว ศาลให้ส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาคำสั่ง โดยให้คุมตัวจำเลยทั้ง 8 ไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายชุมพล จุลใส นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นายอิสสระ สมชัย นายถาวร เสนเนียม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือพุทธะอิสระ และร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ ต้องนอนเรือนจำอยู่ 2 คืน จากนั้นวันที่ 26 ก.พ.64 แกนนำ กปปส.ยื่นประกันตัว โดยศาลอุทธรณ์มีคำสั่งระบุว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จำเลยเคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือไม่มาศาลตามกำหนดนัด แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย แต่โทษจำคุกสำหรับความผิดในแต่ละกระทงไม่สูงนัก อีกทั้งมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ตีราคาประกันคนละ 800,000 บาท และห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ทั้งนี้ ทางทนายความของกลุ่ม กปปส. ยืนยันว่าจะยื่นอุทธรณ์ และต่อสู้คดีต่อไป เนื่องจากการชุมนุมที่ผ่านมาเป็นไปตามสิทธิตามรัฐธรรมนูญ # ปิดฉากส.ส.4สมัยเมืองคอน ศาลฟัน “เทพไท เสนพงศ์” มาต่อกันที่อีกหนึ่ง ส.ส. จากแดนใต้ ที่ถือเป็นอีกหนึ่งนักการเมืองที่เรียกสีสันให้กับการเมืองไทย ไม่ว่าจะทั้งการสัมภาษณ์ หรือการอภิปรายในสภา นั่นคือนายเทพไท เสนพงศ์ อตีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี ซึ่งสืบเนื่องมาจากนายพิชัย บุณยเกียรติ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครศรีธรรมราช ยื่นต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เอาผิดทางอาญา ฟ้องนายมาโนช เสนพงศ์ น้องชายนายเทพไท เป็นจำเลยที่ 1 และนายเทพไท เป็นจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาฐานร่วมกันกระทำความผิด ในการทุจริตการเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช ในฐานทำผิด พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ในความผิดฐาน “เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงแก่ผู้ใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครอื่น” ต่อมาวันที่ 28 ส.ค.63 ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชอ่านคำพิพากษา โดยสั่งจำคุกนายเทพไท และนายมาโนช คนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา พร้อมตัดสิทธิเลือกตั้งคนละ 10 ปี แต่ทว่าคดียังเป็นเพียงแค่ศาลชั้นต้น และนายเทพไท ใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ จากคำตัดสินดังกล่าว สำนักงานคณะรกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า กรณีนายเทพไทจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ และพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ด้วยหรือไม่ ซึ่งผลคือ ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องของ กกต.และมีคำสั่งให้ นายเทพไท หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย จากนั้นผ่านช่วงเทศกาลปีใหม่ได้ไม่นาน นายเทพไท ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้บุคคลที่นายเทพไทอ้างเป็นพยาน ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และนายคมสัน โพธิ์คง ให้ถ้อยคำเป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาล และขอเลื่อนการพิจารณาวินิจฉัยออกไปจนถึงวันที่ 25 มี.ค. จากเดิมวันที่ 27 ม.ค.64 เพื่อรอฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 แต่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องของนายเทพไท แล้วเห็นว่าศาลดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.63 ศาลสั่งให้ยุติการไต่สวนแล้ว เนื่องจากคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 วรรคหนึ่ง ไม่มีเหตุผลที่จะกลับคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตตามที่นายเทพไทขอ และในที่สุด วันนั้นก็มาถึง วันที่ 27 ม.ค.64 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้ความเป็น ส.ส. ของนายเทพไท สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98 (4) มาตรา 96(2) โดยให้สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลง นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้อง และมีคำสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่ ในวันที่ 16 ก.ย.63 และให้ถือว่าอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง 27 ม.ค.64 เป็นวันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตว่างลง และนี่ถือเป็นการปิดฉากการเป็น ส.ส.นครศรีธรรมราช 4 สมัยซ้อนของนายเทพไท ตั้งแต่การเลือกตั้ง 6 ม.ค.44 ซึ่งเส้นทางการเมืองของนายเทพไท ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าเส้นทางการเมืองหลังจากนี้ คือจะเป็นนักการเมืองนอกสภา ร่วมแสดงความเห็นในประเด็นต่างๆ เหมือนเดิม # “ปารีณา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส. ศาลรับคำร้อง“ผิดจริยธรรมร้ายแรง” สุดท้ายคือ ส.ส.ดีกรีอดีตนางงาม อย่าง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่ว่าจะขยับไปทางไหนก็เป็นข่าว เป็นกระแสไปเสียหมด ทั้งเรื่องในสภา และในโซเชี่ยล แต่ล่าสุด การปฏิบัติหน้าที่ของเธอต้องสะดุดลง เนื่องจากศาลฏีกามีคำสั่งให้หยุกปฏิบัติหน้าที่ โดยเหตุเกิดจากคดีบุกรุกป่าที่เป็นที่พูดถึงกันข้ามปี กรณียึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบ ในบริเวณพื้นที่หมู่ที่ 6 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ภายหลังจากที่กรมป่าไม้ได้ร้องทุกข์ ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ให้ดำเนินคดีอาญากับน.ส.ปารีณา ในข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐ เป็นพื้นที่กว่า 700 ไร่ กรณียึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบ ในบริเวณพื้นที่หมู่ที่ 6 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ซึ่งคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงใน 2 ข้อหาคือ เป็น ส.ส. กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และเป็น ส.ส. กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ข้อ 11 ข้อ 17 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง และมีมติให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยต่อไป โดยศาลฎีกา พิจารณาแล้วเห็นว่า ป.ป.ช. บรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหา พร้อมทั้งชี้ช่องพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอ และดำเนินการครบถ้วนตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง พ.ศ. 2561 จึงมีคำสั่งให้รับคำร้อง จึงมีคำสั่งให้ น.ส.ปารีณา หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้มีหนังสือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ โดยนัดพิจารณาครั้งแรก (ไต่สวนพยานผู้ร้อง) ในวันที่ 30 เม.ย.63 เวลา 09.30 น. แต่เคราะห์กรรมของเธอยังไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะล่าสุดศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาในคดีดำที่ อ.2043/2562 ที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีตโฆษก และส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ที่ถือเป็นคู่ปรับของเธอตั้งแต่เริ่มเปิดสภาช่วงแรกๆ ฟ้องร้อง ข้อหาหมิ่นประมาท สืบเนื่องจากกรณีที่น.ส.ปารีณา โพสต์ภาพนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ น.ส.พรรณิการ์ ที่ถ่ายรูปร่วมกับประชาชนในจ.ปัตตานี แล้วใช้ข้อความกล่าวหาว่านายธนาธร น.ส.พรรณิการ์ และพรรคอนาคตใหม่ มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 ส.ค.62 โดยศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดจริงฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 1 แสนบาท แต่ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีจึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เป็นจำคุก 8 เดือนปรับ 66,666 บาท โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี