เพจเฟซบุ๊ก Gossipสาสุข โพสต์ข้อความระบุว่า... รพ.เอกชน “เตียงเต็ม” สะท้อนปัญหาตรวจเชื้อ เรื่องบังเอิญที่ไม่บังเอิญ . หลังจากโควิด-19 รอบใหม่ระบาดไม่กี่วัน โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งในกรุงเทพฯ ก็พร้อมใจกัน “งดตรวจ” เชื้อกันโดยพร้อมเพรียงกัน ด้วยเหตุผลตั้งแต่เตียงไม่พอ น้ำยาตรวจไม่พอ และโรงพยาบาลไม่มีความพร้อม ทั้งที่ก่อนหน้านี้โรงพยาบาลแต่ละแห่ง ต่างก็ใช้การตรวจ “โควิด” เป็นจุดขายมาโดยตลอด . แม้ล่าสุด กรมการแพทย์ จะออกมายืนยันว่าโรงพยาบาลเอกชน ยังมีเตียง “เหลือเฟือ” แต่เอาเข้าจริง การที่หลายโรงพยาบาลเอกชนงดตรวจนั้น เป็นเพียงปลายยอดภูเขาน้ำแข็ง เรื่องใหญ่กว่าของปัญหาโควิด-19 ในประเทศขณะนี้ไม่ใช่เรื่องเตียงโรงพยาบาล แต่คือการตรวจโควิด และการบริหารจัดการผู้ป่วยโรคนี้ทั้งระบบ.. . ณ ขณะนี้ วิธีการจัดการที่กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จัดการก็คือ หากเป็นกลุ่มเสี่ยง สามารถตรวจได้ฟรีทั้งโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน และสามารถรักษาได้ฟรีด้วย โดยใช้เตียงของทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยเป็นหลักปฏิบัติ นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ตั้งแต่การระบาดระลอกแรกเป็นต้นมา . แต่ปัญหาก็คือ ในปีที่แล้ว เราว่ากันด้วยอัตราการติดเชื้อที่สูงสุดที่ 188 คนต่อวัน แต่ปีนี้ อัตราการติดเชื้อปัจจุบันอยู่ที่ 400 – 500 คนต่อวัน และมีความเป็นไปได้ที่จะสูงถึงวันละพันคนในไม่ช้า การจัดการจึงไม่อาจทำแบบเดิมได้ นั่นทำให้เริ่มเกิดปัญหาที่โรงพยาบาลเอกชน นับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน เป็นต้นมา ที่โรงพยาบาลเอกชน เริ่มตรวจเชื้อ ส่งแล็บแล้วพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าที่คิด นั่นทำให้โรงพยาบาล ทั้งรัฐและเอกชน ต้องเร่งสำรองเตียงไว้สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ทันที . อันที่จริง ปัญหาสำหรับโรงพยาบาลไม่ได้มีแค่เตียงเท่านั้น แต่คือบุคลากรประจำเตียง ซึ่งต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจ พยาบาล และเครื่องมือที่ใช้สำหรับผู้ป่วย-19 ยิ่งหากมีผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หรือมีอาการหนักการจัดการก็ยิ่งซับซ้อนเข้าไปอีก . ทว่า หลักปฏิบัติเดิมที่วางไว้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาก็คือ หากมีผู้ป่วยโควิด-19 ให้ถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ต้องรับดูแลในโรงพยาบาล ซึ่งรวมถึงโรงพยาบาลเอกชนทันที และเมื่อโรงพยาบาลเอกชนตรวจเจอ ก็ต้องรับเข้าเป็นคนไข้ในโรงพยาบาล โดยอาจส่งต่อให้โรงพยาบาลเจ้าของสิทธิ์ของผู้ป่วยต่อไป หากอาการผู้ป่วยไม่รุนแรงมาก . แต่อย่างที่บอก ปัญหาเดิมของเรื่องนี้ก็คือ หากป่วยวันละหลักสิบ หรือร้อยต้นๆ ก็ยังพอบริหารจัดการได้ สามารถส่งต่อไปยังโรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลเจ้าของสิทธิ์ได้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ ครั้นจะส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลสนาม ส่งไปยังโฮสพิเทล (Hospitel) คู่สัญญากับรัฐ ก็ยังไม่มีหลักปฏิบัติชัดเจน หรือผู้ที่อาการไม่หนัก จะส่งกลับไปกักตัวที่บ้านเหมือนในต่างประเทศ ก็ยังไม่มีหลักปฏิบัติแบบนั้น . เมื่อไม่มีความชัดเจน โรงพยาบาลเอกชน จึงคุยกันได้ข้อสรุปว่า “ชะลอ” ไปก่อน ปล่อยเรื่องนี้ให้โรงพยาบาลที่“พร้อม” และปล่อยให้โรงพยาบาลรัฐเป็นคนคอยจัดการ แต่ปัญหาสำคัญก็คือ ณ ขณะนี้ โรงพยาบาลรัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้มอย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็เข้าใกล้คำว่า “เตียงเต็ม” แล้ว เช่นกัน . ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการ “เร่งเคลียร์” กันระหว่าง หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐอย่าง กรมการแพทย์ที่ดูแลเรื่องเตียง และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ดูเรื่องค่าใช้จ่าย (ค่าตรวจ-ค่ารักษา) กับโรงพยาบาลเอกชน เพราะเรื่องนี้ ยิ่งปล่อยไป ยิ่งส่งผลกระทบกับระบบ จนได้ข้อสรุปว่า โรงพยาบาลเอกชน จะสามารถ “ตรวจต่อ” ได้ ภายใต้เงื่อนไขว่าสามารถ “ส่งต่อ” ไปยังโรงพยาบาลเจ้าของสิทธิ์ โรงพยาบาลอื่นๆ หรือส่งไปยัง Hospitel โดยสามารถเบิกค่าใช้จ่ายกับ สปสช.ได้ทั้งหมด . ซึ่งก็ควรจะเป็นไปในแนวทางนี้ เพราะสุดท้าย เตียงของทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ไม่อาจที่จะรองรับผู้ติดเชื้อทั้งหมดได้แน่ๆ เพราะต้องไม่ลืมว่ายังมีโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่โรงพยาบาลต้องให้การรักษา เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นต้องกระจายผู้ป่วยไปทั้งโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล . แต่การกระจายผู้ป่วยที่ไม่มีอาการไปยัง Hospitel ทุกวันนี้ก็ยังทุลักทุเล แม้จะมีทรัพยากรเหลือเฟือจำนวนหนึ่งจากห้องพักว่างของโรงแรมที่ตอนนี้ก็ต้องการเข้าร่วม Hospitel แต่การไม่มีเจ้าภาพจัดการเป็นระบบ การจัดการที่ไม่รวมศูนย์ ไม่มี Single Command เพราะการนำที่ไม่มีประสิทธิภาพ ออกแนวต่างคนต่างทำ ก็ทำให้ตรงนี้ยังเป็นจุดอ่อนของระบบ . โดยเฉพาะสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 รอบนี้ ที่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่มีปัญหาว่าจะพาไปอยู่ที่ไหน จะกักตัวที่บ้าน ที่คอนโด ก็ไม่สามารถทำได้ ทั้งยังสร้างความตื่นตระหนักให้กับคนรอบตัว เพื่อนบ้าน เพื่อนข้างห้อง จะไปโรงพยาบาลตามสิทธิก็เตียงเต็ม ประสานไป รพ.สนาม ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร สายด่วนภาครัฐก็สายไหม้ไปแล้ว เรื่องจึงวกกลับมาที่อาศัยคอนเนคชั่นว่าจะทำอย่างไร บ้างก็โทรหานักข่าว บ้างก็โทรหาผู้หลักผู้ใหญ่ที่รู้จัก เพื่อหาที่กักตัวหรือ Hospitel ให้ แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีคอนเนคชั่นแบบนี้ ก็ต้องรอแบบไม่รู้อนาคตกันต่อไป . แต่เรื่องนี้แก้ได้ง่ายๆ ด้วยการหาเจ้าภาพจัดการและจัดระบบให้ดี แต่จนป่านนี้กระทั่งระบาดเข้ารอบที่ 3 แล้วยังไม่เห็นว่าจะทำได้ . แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ แม้จะแก้ปัญหานี้ได้ สุดท้ายก็จะกลับไปที่เรื่องเดิม คือความสามารถในการ “ตรวจเชื้อ” แต่ละวัน ปัจจุบัน รถตรวจเชื้อพระราชทาน ที่จอดให้บริการตามจุดต่างๆ ก็ยังไม่เพียงพอ มีคนต่อคิวยาวเหยียดเพื่อขอ “ตรวจฟรี” เนื่องจากค่าใช้จ่ายการตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนยังคงสูงเกินไป และในที่สุด ก็ยังคงมีความพยายาม “ตั้งแง่” เพื่อที่จะบอกว่าผู้ที่ขอตรวจไม่ได้เป็น “กลุ่มเสี่ยง” เพราะสุดท้ายถึงอย่างไร ก็ต้องผ่าน “เช็คลิสต์” จำนวนมาก อยู่ดี เพื่อที่จะ “ตรวจฟรี” ได้ . ขณะเดียวกัน ถึงจุดหนึ่ง โรงพยาบาลเอกชน ก็จะไม่สามารถตรวจได้มากมายขนาดนั้น เพราะไม่ได้ลงทุนสำหรับอุปกรณ์ น้ำยาตรวจแล็บ เครื่องแล็บ หรือเจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ สำหรับตรวจเชื้อจำนวนมหาศาลขนาดนั้น และหากจะให้แอดมิดไว้ก่อน หรือส่งต่อไปที่อื่นๆ ก็จะเป็นภาระให้กับโรงพยาบาลนั้นๆ ที่ต้องคอยทำเรื่องเบิก สปสช. ซึ่งสุดท้าย จะรวมไปถึงข้ออ้างสุดคลาสสิกก็คืออัตราที่รัฐกำหนดไว้นั้น “ต่ำเกินไป” . นอกจากนี้ ชุดตรวจที่รัฐกระจายไป ก็ยังไม่มากพอ สภาวะรอบๆ รถตรวจเชื้อพระราชทาน จึงยังคงแออัดยัดเยียด และน่าจะเป็นไปในลักษณะนี้อีกระยะเวลาหนึ่ง เพราะสถานการณ์ล่าสุดคือเรากำลังเข้าสู่จุดที่ไม่สามารถ “ตรวจ” ได้มากกว่านี้ได้แล้ว เพราะระบบที่สร้างไว้ ไม่สามารถรองรับทั้งการตรวจระดับนี้ และรองรับคนไข้ในระดับนี้.. ด้วยความเชื่อแต่แรกว่าประเทศไทย ไม่ได้มีการระบาดหนัก . เพราะฉะนั้น ปัญหาใหญ่ที่ยังคงค้าง ก็คือต้องคอยตามแก้เรื่องที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้า ยังต้องจัดการเรื่องชุดตรวจให้เพียงพอ จัดการเตียงให้พร้อมสำหรับสเกลคนไข้ที่มากกว่านี้ ซึ่งเป็นไปได้สูงว่าต้องพร้อมสำหรับผู้ป่วยวันละนับพันหรือหลายพันคน . ด้วยเหตุนี้ เรื่องเตียงโรงพยาบาลเอกชนเต็ม จึงสะท้อนปัญหาของ “ระบบ” ได้สารพัดเรื่องในเวลาพร้อมๆ กัน