รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมอบทิศทางยุทธศาสตร์ความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย (Strategic Directions of 2P Safety of Thailand) เน้นให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรทางสาธารณสุข ให้มีส่วนร่วมในการวางระบบเพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ โดยมีการกำหนดเป็นเป้าหมายความปลอดภัย สื่อสารในโรงพยาบาล ควบคู่กับการพัฒนาและรับรองคุณภาพ ภายใต้กรอบหรือแนวปฏิบัติที่เรียกโดยย่อว่า SIMPLE เพื่อเกิดการพัฒนาร่วมด้วยความร่วมมือร่วมใจและเข้าใจซึ่งกันและกัน อันนำมาซึ่งระบบบริการสุขภาพที่น่าไว้วางใจของผู้ให้และผู้รับบริการ
เมื่อวันที่ 17 ก.ย.60 ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรทางสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก (Global Day of Patient Safety)และวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย (Thailand Patient and Personnel Safety) จึงเป็นวันที่บุคลากรทางสาธารณสุข คนไข้ญาติ และประชาชนทั่วไป ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรทางสาธารณสุข เพราะทุกคนมีส่วนร่วม โดยวันนี้มีการประกาศยุทธศาสตร์ 2P Safety และ National Patient and Personnel Safety Goals รวมถึงการนำเสนอและเชิญชวนโรงพยาบาลเข้าร่วม National Reporting and Learning System ซึ่งจะเป็นระบบแห่งการเรียนรู้ และสร้างความเข้าใจกับคนไข้และประชาชนเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่ดีและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง และที่สำคัญบุคลากรสาธารณสุขมีความมั่นใจในการปฏิบัติงานด้วย
ด้านนายแพทย์ อนุวัฒน์ ศุภชุติกุลผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. กล่าวว่าการจัดการเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขนับเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของ สรพ. เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่ดีและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง และที่สำคัญบุคลากรสาธารณสุขมีความมั่นใจในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรทางสาธารณสุขขึ้น โดยสรพ.มีบทบาทในการดำเนินการร่วมกับ 15 องค์กรหลัก ที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบบริการสุขภาพ เพื่อจะขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวร่วมกัน รวมถึงมีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายโดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และมีการวางทิศทางและระยะเวลาในการขับเคลื่อน มีการยกร่างแผนยุทธศาสตร์ความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข (Patient and Personnel Safety: 2P Safety) ที่ให้ความสำคัญ มุ่งเน้นในการวางระบบเพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และมีการกำหนดเป็นเป้าหมายความปลอดภัย สื่อสารในโรงพยาบาล ควบคู่กับการพัฒนาและรับรองคุณภาพ ภายใต้แนวทางปฏิบัติที่เรียกโดยย่อว่า SIMPLE ด้วย
ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงสถานการณ์เรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยจากการเข้ารับบริการสุขภาพว่า เป็นปัญหาใหญ่ของทั้งโลก ในกรณีของไทยเป็นตัวอย่างประเทศที่สามารถกระจายการเข้าถึงทรัพยากรทางสุขภาพได้อย่างเหมาะสมจนได้รับคำชื่นชมจาก UNDP เช่น การรักษาโรคหัวใจด้วยขดลวดซึ่งมีราคาสูงมาก สามารถเข้าถึงได้ผ่านหลักประกันสุขภาพ ขณะที่เรื่องการผ่าตัด ในแต่ละปีมีการผ่าตัดโดยทีมแพทย์เกิดขึ้น 234 ล้านครั้ง แต่ละครั้งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเหตุไม่พึงประสงค์ขณะรักษา แต่กว่า 50% ของภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นนั้นสามารถป้องกันได้แทบทั้งสิ้น ทำให้งบประมาณราว 20-30% ของค่าใช้จ่ายในบริการสุขภาพหมดไปกับการแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัย เช่น ค่าฟ้องร้องชดเชย ค่าใช้จ่ายจากการนอนโรงพยาบาลนานขึ้น เป็นต้น ปัจุจบันแนวโน้มการกระทบกันระหว่างหมอกับคนไข้อยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น ต่างฝ่ายต่างใช้ข้อมูลมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน โดยเฉพาะการมีคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรขึ้นมาดูแล อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้บริโภคอยากชวนคิดต่อไปว่า ทำอย่างไรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางสุขภาพ ตัวอย่างเช่น การสะท้อนประสบการณ์ของผู้ป่วยเพื่อใช้เป็นบทเรียนในการแก้ไขปัญหา เป็นต้น
ด้านนางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนาเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์กล่าวแสดงความคิดเห็นว่าทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ พวกเราผู้ป่วยและญาติ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ขอให้เกิดกับครอบครัวเราเป็นรายสุดท้ายเถอะ” ที่ผ่านมานอกจากจะเรียกร้องให้มีระบบเยียวยาผู้เสียหายโดยไม่ฟ้องหมอแล้ว พวกเรายังเรียกร้องให้มีการนำโครงการ Patient For Patient Safety มาใช้ในประเทศไทยอีกด้วย ดังนั้นนาทีแรกที่ทราบว่า สรพ. และ WHO ร่วมมือกันจัด workshop Patient For Patient Safety ครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปลายปี 2557 ทำให้พวกเราดีใจเป็นอย่างมาก เพราะนั่นหมายถึงกรณีอย่างพวกเราจะลดลง ชีวิตของคนไข้ไทยจะปลอดภัยมากยิ่งขึ้น แต่ประเทศไทยของเราก้าวไกลไปมากกว่านั้น ด้วยความห่วงใยในสวัสดิภาพของบุคลากรทางการแพทย์ สรพ.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและ WHO ได้ขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคคลากรสาธารณสุข – 2P Safety ขึ้น ซึ่งเป็นนโยบายที่ดิฉันและเพื่อนผู้ป่วยเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อไหร่ที่บุคลากรสาธารณสุขรู้สึกปลอดภัย ย่อมส่งผลถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยไปโดยปริยาย ดังนั้นพวกเราจึงขอให้ความร่วมมือกับนโยบายที่เป็นประโยชน์นี้ทุกวิถีทางให้บรรลุผลสูงสุด ดังที่พวกเราพูดกันเสมอว่า “ความสูญเสียเรียกกลับคืนมาไม่ได้ แต่สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับสังคมได้”