วันที่ 10 เม.ย.64 มีรายงานว่า ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) แจ้งว่า นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. ได้ลงนามในระเบียบสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยแนวปฏิบัติในการให้บริการผู้โดยสารสำหรับเส้นทางการบินภายในประเทศ ในระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ.2564 โดยขอให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศดำเนินการตามมาตรการ อาทิ
1. ให้ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายผู้โดยสาร โดยใช้เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดที่ไม่ต้องสัมผัสกับร่างกายของผู้ถูกตรวจวัดก่อนขึ้นเครื่อง หากวัดอุณหภูมิได้สูงกว่า 37.3 องศาเซลเซียส หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที หากการวินิจฉัยเห็นว่ามีความเสี่ยง ให้งดการออกบัตรขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) แก่ผู้โดยสาร
2.ให้มีมาตรการและวิธีปฏิบัติเพื่อรักษาระยะห่างของผู้โดยสารตลอดระยะเวลาเดินทาง
3.กำหนดให้ผู้โดยสารสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า (Mask) ตลอดเวลาที่อยู่ในอากาศยาน ทั้งนี้ในระหว่างขั้นตอนการออกบัตรขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) ให้ตรวจสอบด้วยว่าผู้โดยสารมีหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าหรือไม่ หากพบว่าไม่มี และไม่สามารถจัดหามาแสดงได้ ให้งดการออกบัตรขึ้นเครื่องแก่ผู้โดยสาร
4.งดการให้บริการอาหาร และเครื่องดื่มในระหว่างการปฏิบัติการบิน รวมทั้งห้ามผู้โดยสารรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่นำติดตัวมาด้วย
5.งดให้บริการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือแผ่นพับโฆษณาต่างๆ สำหรับผู้โดยสารในระหว่างปฏิบัติการบิน ยกเว้นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย
6.งดจำหน่ายสินค้าที่ระลึก และสินค้าปลอดภาษีอากรในระหว่างการปฏิบัติการบิน
7.จัดให้มีแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นไม่น้อยกว่า 70% ไว้บริการ
8.ให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในอากาศยานใช้อุปกรณ์ช่วยป้องกันส่วนบุคคล (PPE)
9.ทำความสะอาดชุดอุปกรณ์ในห้องโดยสารที่ส่งต่อหรืออาจมีการส่งต่อด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหลังจากการใช้งานของผู้โดยสาร หรือก่อนส่งต่อให้ลูกเรือผู้ที่จะปฏิบัติหน้าที่
10.ให้ลูกเรือติดต่อสื่อสารกับนักบินผ่านอุปกรณ์สื่อสารภายในอากาศยานเป็นหลัก
11.เที่ยวบินที่ปฏิบัติการบินโดยใช้ระยะเวลามากกว่า 90 นาที ให้สำรองที่นั่งสองแถวหลังสุดด้านใดด้านหนึ่งของอากาศยานไว้สำหรับแยกกักผู้ป่วย หรือสงสัยว่าจะป่วย เพื่อเฝ้าสังเกตอาการและป้องกันการแพร่กระจายของโรค
12.ในกรณีพบผู้โดยสารหรือลูกเรือมีอาการป่วย หรือสงสัยว่าจะป่วยเป็นโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ขณะอยู่ในอากาศยาน ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศดำเนินมาตรการ On-board Emergency Quarantine แยกกักผู้ที่มีอาการป่วย หรือสงสัยให้ห่างไกลจากผู้โดยสารคนอื่นมากที่สุด
และ 13. ให้รถลำเลียงผู้โดยสารไป-กลับระหว่างอาคารผู้โดยสารและอากาศยาน (Shuttle bus) สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ไม่เกิน 70% ของความจุมาตรฐานของยานพาหนะนั้นๆ เป็นต้น
ส่วนผู้ดำเนินการสนามบินให้ดำเนินมาตรการ อาทิ 1.ตรวจคัดกรองบุคคลที่เข้ามาใช้บริการในท่าอากาศยาน โดยต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า และตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย หากบุคคลนั้นไม่สวมหน้ากาก หรืออุปกรณ์ป้องกันใบหน้าบริเวณจมูกและปาก หรือวัดอุณหภูมิได้สูงกว่า 37.3 องศาเซลเซียส ให้ปฏิเสธการให้เข้าพื้นที่ท่าอากาศยาน 2.จัดให้มีการเว้นระยะนั่งหรือที่ยืนให้ห่างกันอย่างน้อยหนึ่ง 1 เมตร ในพื้นที่ต่างๆ ที่จัดไว้เพื่อดำเนินกิจกรรม เช่น พื้นที่ที่ผู้ดำเนินการเดินอากาศใช้เพื่อดำเนินการออกบัตรขึ้นเครื่อง (Check-in Counter) พื้นที่จุดตรวจค้น (Security Check) พื้นที่ที่ผู้โดยสารรอขึ้นเครื่อง (Boarding Gate) เป็นต้น 3.จำกัดจำนวนผู้เข้าสู่อาคารผู้โดยสาร เพื่อลดความแออัด และแถวคอย รวมถึงความเสี่ยงของการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้น
พิจารณาปิดการให้บริการชั่วคราว หรือเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังพื้นที่ให้บริการบางแห่ง เช่น ที่นั่งในร้านอาหารหรือที่นั่งอเนกประสงค์ พื้นที่สูบบุหรี่ พื้นที่เล่นสำหรับเด็ก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศแจ้งให้ผู้โดยสารทราบและปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เกี่ยวกับมาตรการทางสาธารณสุขก่อนการเดินทาง และให้ประกาศแจ้งผู้โดยสารทราบอีกครั้งในระหว่างการเดินทาง เพื่อให้ทราบว่าการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ควบคุมอากาศยาน หรือเจ้าหน้าที่ประจำอากาศยาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า และมาตรการทางสาธารณสุขอย่างอื่นบนอากาศยานเป็นความผิด และอาจได้รับโทษตามกฎหมายว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ
ทั้งนี้ให้มีผลบังคับใช้วันที่ 13 เม.ย.64 เป็นต้นไป