กยท. ตั้งเป้าสวนยางยั่งยืนตามมาตรฐานมอก.14061 ภายใน 6 ปี พร้อมทำคู่ขนานกับมาตรฐานสากล FSC เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าน้ำยางในตลาดสากล
ปัจจุบันตลาดยางพาราโลกมีการเปลี่ยนแปลง ผู้ซื้อมีการนำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้เป็นมาตรฐานในการรับซื้อสินค้ามากขึ้น โดยประเทศผู้ซื้อจะอ้างอิงมาตรฐานการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน ทั้ง Forest Stewardship Council (FSC)และ Program for the Endorsement of Forest Certification (PEFC) เป็นเกณฑ์ การปลูกยางพาราจำเป็นต้องทำให้สอดคล้องและได้มาตรฐานตามเกณฑ์ ทั้ง FSC,PEF และ มอก.14061 ซึ่งเกี่ยวกับการปลูก ผลผลิตรวมถึงผลิตภัณฑ์จากยางพาราและไม้ยางพารา
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ตอนนี้จะยังไม่มีผลกระทบจากตลาดอียูและประเทศอื่นๆ ที่กำหนดมาตรฐาน FSC แต่ทาง กยท. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจยังเร่งผลักดัน ส่งเสริม ให้เกษตรกรปรับปรุง สวนยางพาราให้ได้ตามมาตรฐานของประเทศไทย โดยอ้างอิงจากมาตรฐานของ มอก.14061 เป็นเกณฑ์ ซึ่งตั้งเป้าว่า สวนยางในประเทศไทยทุกสวนจะต้องได้ตามมาตรฐานทุกแปลง ที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.ทั้ง 18 ล้านไร่
"ทุกวันที่มีการปลูกใหม่ และ การโค่น ปีละ 3 ล้านไร่ 4 ล้านไร่ กยท.จะมอบคู่มือไปการจัดการสวนยางมาตรฐานให้กับเกษตรกร เพื่อจัดการแปลงให้ตรงตามมาตรฐาน โดย 1 ปี จะต้องมีสวนยางที่ได้ มาตรฐาน เพิ่มปีละ 3 ล้านไร่ สวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับกยท. มี 18 ล้านไร่ เพราะฉะนั้นภายใน 6 ปี ต้องได้มาตรฐานครบทุกแปลง รวมถึงสวนยางที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีก 6 ไร่ ก็ต้องได้มาตรฐาน เพราะตลาดเป็นตัวบังคับให้ต้องเปลี่ยนแปลง สำหรับเกษตรกรที่รับเงินสงเคราะห์ จาก กยท. ปีละ 3 แสนไร่ ก็ต้องทำตามข้อกำหนดของ กยท. ซึ่งเราเอามาตรฐานของ มอก. มาใช้"นายณกรณ์ กล่าว
สำหรับมาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มอก.14061 นั้น ครอบคลุมการดูแลและจัดการเพื่อรักษาและส่งเสริมสภาพความสมบูรณ์ของสวนป่าไม้เศรษฐกิจในระยะยาว การปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระหว่างประเทศ โดยมาตรฐานนี้กำหนดให้มีการป้องกันสวนป่าจากการทำผิดกฎหมายต่างๆ เช่น การลักลอบตัดต้นไม้ การเผาป่า การใช้ที่ดินอย่างผิดกฎหมาย ควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและอำนวยประโยชน์แก่ชุมชนในพื้นที่
"แปลงสวนยางของเกษตรกรที่ผ่านมาตรฐาน มอก.14061 ก็ถือว่าผ่านมาตรฐานในระดับสากลอยู่แล้ว เนื่องจากมาตรฐาน มอก.ก็มีการปรับเกณฑ์รายละเอียดให้ตรงตามมาตรฐานสากล ส่วนมาตรฐาน FSC นั้นจะต้องดำเนินกิจกรรมให้สอดคล้อง เกื้อหนุนสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ เช่น จะต้องไม่ละเมิดกฎหมาย/การถือครองที่ดิน ต้องถูกกฎหมาย ไม่อยู่ในเขตป่าสงวน หรือที่ดินสาธารณะอื่นๆ และต้องรักษาสมดุลระบบนิเวศ ไม่กดขี่แรงงานเช่นเดียวกับมาตรฐานมอก.14061"นายณกรณ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม การรับรองมาตรฐานการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืนตามแบบ FSC,PEF และมอก.14061 จะช่วยเพิ่มมูลค่าน้ำยางและไม้ยาง การขยายตลาดการจำหน่ายไปยังต่างประเทศ เช่น อียู และสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรเอง