ระบุต้องเป็นดุลพินิจคณะกรรมการสวล. ทั้งยังเป็นปัญหาละเอียดอ่อน อาจกระทบระบบเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวหากประกาศเป็นเขตคุมมลพิษ เผยที่ผ่านมาลดจุดความร้อนในภาคเหนือได้กว่าร้อยละ 50 ขณะฝุ่นควันหลักๆ มาจากประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อวันที่ 9 เม.ย.64 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีคำสั่งศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 พิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ใช้อำนาจตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ประกาศให้ท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ได้นั้น นายจตุพร กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้รับทราบคำสั่งของศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเคารพตามคำตัดสินของศาลดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ ทางกระทรวงฯ จำเป็นต้องดำเนินการอุทธรณ์ต่อคำพิพากษาดังกล่าว เนื่องจากการประกาศให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเขตควบคุมมลพิษ เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ อีกทั้งยังมีความละเอียดอ่อนทั้งในด้านของการพิจารณาถึงการแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในพื้นที่ การจัดทำแผนปฏิบัติการและการบริหารจัดการหลังการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ รวมไปจนถึงการคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของพื้นที่ที่จะประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษอีกด้วย” สำหรับการดำเนินการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่เพื่อให้กระทรวงฯ ได้มีโอกาสให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมถึงการประกาศเขตควบคุมมลพิษต่อศาลปกครองนั้น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษ เป็นผู้แทนในการยื่นอุทธรณ์ต่อคำพิพากษาดังกล่าว โดยมีกำหนดภายใน 30 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งจะครบกำหนดภายในวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 นี้ ทั้งนี้ นายจตุพร กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในปีนี้จากการที่กระทรวงฯ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และข้อสั่งการจากพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำชับให้แก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือโดยควบคุมค่าจุดความร้อน (Hot spot) ให้มีค่าเป้าหมายลดลงกว่าในปี พ.ศ. 2563 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 นั้น พบว่า จากการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2564 สามารถดำเนินการลดค่าจุดความร้อนได้เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่จากทุกฝ่ายทั้ง ผู้ว่าราชการจังหวัด ทหาร ตำรวจ รวมไปจนถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ที่ช่วยกันสนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ เฝ้าระวังและป้องกันเหตุไฟป่าในพื้นที่ในปีนี้ได้เป็นอย่างดี แต่สำหรับค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ที่มีค่าเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้น ต้องยอมรับว่ามีเหตุปัจจัยหลักมาจากประเทศเพื่อนบ้าน กระทรวงฯ จึงได้มอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษทำหนังสือเน้นย้ำไปถึงสำนักงานเลขาธิการอาเซียนเพื่อดำเนินการขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านให้ดำเนินการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่อย่างเข้มงวด เพื่อลดผลกระทบที่จะส่งมาถึงคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในประเทศไทย” (ข้อมูลจากเพจ กรม