น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งอยู่ในระหว่างกักตัว 14 วันจากที่มีผู้เข้าร่วมแสดงความยินดีตำแหน่งใหม่ได้ติดเชื้อโควิด ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กโดยระบุ จากกรณีที่มีข่าวนักเรียนชั้น ม.3 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ถูกตัดสิทธิ์เรียนต่อชั้น ม.4 ด้วยเหตุผล ‘ไม่จงรักภักดีต่อชาติและสถาบันกษัตริย์’ นั้น ในฐานะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ขอยืนยันว่า ได้รับทราบและติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ดี ก็ต้องขออนุญาตใช้พื้นที่เพจส่วนตัวในการสื่อสารถึงสิ่งที่เป็น 'ข้อเท็จจริง' และมุมมองต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ในฐานะแม่ของลูกที่กำลังอยู่ในวัยเรียนเช่นเดียวกับน้องนักเรียนคนดังกล่าว คงจะปล่อยนิ่งนอนใจไปไม่ได้ ทั้งนี้ เพราะภารกิจหลักของกระทรวงศึกษาธิการ คือ 'การทำให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม'
โดยรายงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพังงา ภูเก็ต ระนอง ซึ่งได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวแล้ว พบว่า เรื่องนี้เป็นบันทึกข้อความของกลุ่มบริหารกิจการนักเรียนของทางโรงเรียน ที่เสนอรายชื่อนักเรียนที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาการรับนักเรียนประเภทโควตา (นักเรียนโรงเรียนเดิม) ห้องเรียนทั่วไปตามลำดับขั้นตอน
'โรงเรียนไม่มีการตัดสิทธิ์โอกาสนักเรียนในการเข้าศึกษาต่อในระดับชั้น ม.4 แต่อย่างใด'
และน้องนักเรียนคนดังกล่าวยังคงมีสิทธิ์ในการสมัครเข้าเรียนในรอบทั่วไป โดยโรงเรียนได้อนุมัติการจบหลักสูตรของนักเรียนชั้น ม.3 และนักเรียนที่จบหลักสูตรได้ มารับเอกสารการจบหลักสูตร (ปพ.1) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับนักเรียนคนดังกล่าว ทางโรงเรียนได้ดำเนินการติดตามการสอบแก้ตัวตามกระบวนการขั้นตอนงานวัดผลและประเมินผลของโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้จบหลักสูตรตามปฏิทินการอนุมัติจบหลักสูตรของโรงเรียนต่อไป ทั้งนี้ การรับสมัครนักเรียนในรอบทั่วไปจะรับสมัครในวันที่ 24-28 เมษายน 2564 โดยเกณฑ์การเข้าศึกษาต่อจะเป็นไปตามประกาศของโรงเรียน ซึ่งทางสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ก็ได้แนะนำวิธีการแก้ปัญหาและกำชับกับทางโรงเรียนให้ดำเนินการรับสมัครนักเรียนตามประกาศของ สพฐ. อย่างเคร่งครัด
ดิฉันเชื่อว่า ทุกสถานศึกษาต่างมีหลักเกณฑ์และวิธีการในการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อ จึงต้องยอมรับและเคารพ หากได้มีการดำเนินการอย่างโปร่งใสและเป็นมาตรฐาน โดยสิ่งเหล่านี้สามารถไปด้วยกันได้พร้อม ๆ กับการใช้เสรีภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่น้อง ๆ และพวกเรามีอยู่ในตัวทุกคน อย่างตระหนักรู้ถึงความเหมาะสมและขอบเขตที่มีอยู่ตามกฎหมาย
ต่อกรณีที่เกิดขึ้น ดิฉันจึงเห็นว่า ควรมีการชั่งน้ำหนักให้เกิด 'ความได้สัดส่วน' ระหว่างการดำเนินการของสถานศึกษา กับการใช้เสรีภาพของน้องนักเรียนตามที่เป็นข่าว โดยคำนึงถึงเป้าหมายของการพัฒนาเป็นสำคัญ
ดิฉันยินดีที่จะเป็นตัวกลางในการพูดคุยระหว่างสถานศึกษากับน้องนักเรียน เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานกับกรณีอื่น ๆ ในการหาทางออกร่วมกัน เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา หากเราดำเนินการบนพื้นฐานของความเข้าใจจากทุกฝ่าย สถานศึกษาจะสามารถดำเนินภารกิจต่อไปได้ ก็ด้วยการให้เด็ก ๆ ของเราได้มีโอกาสทางการศึกษา จนเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรู้ มีคุณธรรม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคม
ขอให้คำมั่นสัญญาว่าจะดูแลเรื่องนี้อย่างดีที่สุดค่ะ”